“การส่งออก” ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยโดยในแต่ละปี ได้มีส่วนในการสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางรัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญของการส่งออกเป็นอย่างดีมีการสนับสนุนมาโดยตลอด และหนึ่งในนั้นคือ การมอบรางวัลยกย่อง เชิดชูเกียรติผู้ประกอบธุรกิจส่งออกที่มีผลงานโดดเด่น
รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น (Prime Minister’s Export Award หรือ PM’s Export Award) ถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จสูงสุดสำหรับผู้ประกอบการทั้งสินค้าและบริการประเภทต่างๆ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2535 ในสมัยนายกรัฐมนตรี นายอานันท์ ปันยารชุน โดยมีเป้าหมายที่จะสนับสนุนและให้ความสำคัญแก่ผู้ส่งออกสินค้าและบริการที่มีผลงานดีเด่น มีการริเริ่มและพยายามบุกเบิกตลาดต่างประเทศภายใต้ชื่อทางการค้าของตนเอง และมีการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองจนเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมทั้งสนับสนุนการสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดีให้แก่ผู้ประกอบการที่มีส่วนผลักดันการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เป็นผู้ดำเนินการพิจารณารางวัลมาอย่างสม่ำเสมอ
สำหรับพิธีมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่นประจำปี 2566 หรือ “Prime Minister’s Export Award 2023” ครั้งที่ 31 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติและสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าและบริการดีเด่นภายใต้ชื่อทางการค้าของตนเอง มีการออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเอง นำนวัตกรรมมาประยุกต์ในการดำเนินธุรกิจ และดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิด BCG Economy Model สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ(UN) และเป็นเครื่องมือรับรองด้านการดำเนินธุรกิจ การสร้างมาตรฐานสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ
“ผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้สามารถแข่งขันได้ภายใต้บริบทโลกยุคใหม่ ที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา รัฐบาลเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออก เน้นการสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยใช้ “การทูตเชิงรุก”
สร้างเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศ เพื่อสร้างตลาดใหม่ และรักษาตลาดเดิม โดยการพัฒนาสินค้าด้วยการเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ สร้างอัตลักษณ์ความเป็นไทย และสินค้าในภาค จากนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้”สร้างการเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มโดยใช้นวัตกรรม รวมทั้งสร้างผู้ประกอบการยุคใหม่ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน มีอัตลักษณ์ที่ชัดเจนในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน” นายเศรษฐา กล่าว
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีนโยบายส่งเสริม “Soft Power”เพื่อเฟ้นหาและยกระดับคนไทยให้มีแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงและเปิดตลาดใหม่ใน 11 ภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งสานต่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality ใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการส่งเสริมให้ผู้ประการธุรกิจส่งออกมีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อพัฒนาสินค้า และบริการให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของโลก
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ ได้จัดมอบรางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกดีเด่น PM’s Export Award ขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี 2535 มีผู้ได้รับรางวัลรวมทั้งสิ้น จำนวน 798 รางวัล จาก 257 บริษัท และในทศวรรษใหม่กับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 31 ภายใต้แนวคิด “Better Vision Brighter Future : เปิดมุมมองใหม่ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยมุ่งสู่เศรษฐกิจแห่งอนาคต อย่างเต็มภาคภูมิ”
กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม เทคโนโลยี และความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (Environmental, Social and Governance: ESG)
โดยในปีนี้ มีผู้สมัครเข้ารับรางวัลทั้งหมด 162 รายมีผู้ประกอบการผ่านการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินให้เข้ารับรางวัลรวมจำนวน 40 รางวัล 37 บริษัท แบ่งรางวัลออกเป็น 7 ประเภทรางวัล ดังนี้ 1.รางวัลผู้ประกอบธุรกิจส่งออกยอดเยี่ยม(Best Exporter) 6 รางวัล 2.รางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) 10 รางวัล 3.รางวัลธุรกิจ BCG ส่งออกยอดเยี่ยม (Best BCG Exporter) 7 รางวัล 4.รางวัลออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design) 7 รางวัล 5.รางวัลธุรกิจบริการยอดเยี่ยม (Best Service Enterprise) ประกอบด้วย สาขาโรงพยาบาล/ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง/คลินิกเฉพาะทาง(Health & Wellness) สาขาดิจิทัลคอนเทนท์และซอฟต์แวร์ (Digital Content & Software) และสาขาธุรกิจสิ่งพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (Printing and Packaging) รวม 4 รางวัล 6.รางวัลสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ยอดเยี่ยม (Best OTOP) 1 รางวัล และ OTOP New Face Exporter 1 รางวัล รวม 2 รางวัล 7.รางวัลสินค้าฮาลาลยอดเยี่ยม (Best Halal) 4 รางวัล
นางสาวปิยจิต รักอริยะพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับรางวัลแบรนด์ไทยยอดเยี่ยม (Best Thai Brand) กล่าวว่า รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับในครั้งนี้สินค้าของเซ็ปเป้ ส่งออก 98 ประเทศทั่วโลก ในด้านที่อยากให้ภาครัฐช่วยสนับสนุนในการหาตลาดใหม่ๆ หลักๆ น่าจะเป็นทางอเมริกา ทางยุโรป ซึ่งเป็นตลาดใหญ่จะเป็นประโยชน์ต่อภาคส่งออกเป็นอย่างมาก
ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการปรับตัวค่อนข้างเยอะจากการล็อกดาวน์ หรือการขนส่งทางเรือ ได้มีการปรับตัว และปรับเกณฑ์ ในการขนส่งสินค้าให้ถึงผู้บริโภคในประเทศนั้นๆ ให้ได้มากที่สุด และเริ่มเจาะทำการตลาดสร้างแบรนด์ของไทยที่สามารถเจาะไปหลายๆ ตลาด ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี ยุโรป (ฝรั่งเศส) ดังนั้น บริษัทได้มีการสื่อสารแบรนด์ผ่านศิลปิน K POP ซึ่งเป็น Soft Power ของเกาหลี ที่เป็นเทรนด์ให้กับผู้บริโภคในเอเชียด้วย ส่วนตัวเลขการส่งออกคาดว่า ปี 2566 จะเติบโตขึ้น จากปีก่อน 40% (ปี 2565 จำนวน3,600 ล้าน) เนื่องจากเศรษฐกิจหลายๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัว
นางสาวปิยจิต ยังฝากถึงผู้ประกอบการธุรกิจส่งออก การที่เข้ามาประกวด PM’s Export Award อย่างแรกต้องบริหารจัดการบริษัทฯ ให้ดีในด้านของ บุคคล สิ่งแวดล้อม สังคม ผู้บริโภค ต้องให้ความใส่ใจ สนใจทำอย่างไรให้ บริษัทสามารถที่จะเติบโตได้อย่างยั่งยืน และเรื่องของคุณภาพของสินค้าโดยเฉพาะสินค้าส่งออก จะต้องเป็นสินค้า World Class Standard
นายจิรยุทธ์ เตียวสมบูรณ์กิจ กรรมการบริษัทนิพพาน อินเตอร์คร็อพ จำกัด วัสดุรองนอนสัตว์เลี้ยง จากซังข้าวโพด ที่ได้รับรางวัลธุรกิจ BCG ส่งออกยอดเยี่ยม (Best BCG Exporter)ตั้งแต่ครั้งแรกที่สมัคร เปิดเผยว่า รู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การคัดสรร ตรวจสถานประกอบการ จนเข้ารับรางวัล เรียกว่าการเข้าร่วมครั้งนี้เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเราเองด้วย ทำให้รู้ว่าตรงไหนที่กรรมการมีคำถามที่กรรมการต้องการ คำเสนอแนะต่างๆ เราก็นำมาเสริมศักยภาพของบุคลากร และพัฒนาองค์กร
ข้อดีของการรับรางวัลนี้ เป็นโอกาสดี เสมือนเป็น Passport ให้กับธุรกิจ 1.สร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า 2.สามารถเพิ่มออร์เดอร์กับลูกค้าได้ โดยใช้รางวัลนี้เป็นเครื่องหมายการันตี เวลาเราส่งออกคู่แข่งเราจะเป็นต่างชาติ เราจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือ โดยใช้รางวัลที่ได้รับจากนายกรัฐมนตรี เป็นเครื่องหมายยืนยันได้ เราสามารถบอกได้เลยว่าสินค้าเรามีรัฐบาลสนับสนุน ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้ในการที่จะมาเป็นคู่ค้ากับบริษัทฯ หลักๆ ส่งออก ญี่ปุ่น 50% และเกาหลี สวีเดน โปแลนด์ คาดว่าปีนี้ จากสถานการณ์ต่างๆ ที่ดีขึ้น และมีรางวัลการันตีแบบนี้ด้วยแล้ว ตัวเลขการส่งออกของบริษัทสัดส่วนจะเพิ่มขึ้น 20%
ข้อมูลการส่งออกของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในปีนี้ พบว่ามีส่วนในการสร้างรายได้เข้าประเทศในปี 2565 คิดเป็นมูลค่า 14,567.65 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.79 จากปีก่อนหน้าและในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2566 (มกราคม - กันยายน) ได้สร้างรายได้ให้แก่ประเทศแล้วประมาณ 12,257.24 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการจ้างงานไม่น้อยกว่า 7,654 ราย
รางวัล Prime Minister’s Export Award ถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้ร่วมแรงร่วมใจสนับสนุนธุรกิจส่งออกของไทยให้เติบโต และเข้มแข็งบนเวทีการค้าโลก
นอกจากนี้ ยังจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล รวมไปถึงผู้ที่ยังไม่ได้รับรางวัล ได้มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าและบริการให้มีคุณภาพ ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงทำให้ผู้นำเข้าและผู้ซื้อจากต่างประเทศเพิ่มความเชื่อมั่นต่อผู้ส่งออกของไทยอีกด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี