“รัฐสภา (Parliament)” เป็นสถานที่กำเนิดของ “กฎหมาย” โดยกระบวนการพิจารณาในที่ประชุม หากเสียงส่วนใหญ่มีมติเห็นชอบจึงได้ออกมาประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ดังนั้นรัฐสภาจึงถูกคาดหวังในฐานะองค์กรที่ต้องเป็นแบบอย่างโดยเฉพาะเรื่อง “ความโปร่งใสและเป็นธรรม” ทั้งแก่องค์กรอื่นๆ รวมถึงประชาชน “แต่จะเป็นอย่างไรหากแม้แต่ในรัฐสภายังมีปัญหาเสียเอง” ดังตัวอย่างเรื่องราวที่ วัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำมาบอกเล่าในรายการ“แนวหน้าTalk” เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
เรื่องแรกที่ วัชระ หรือ “เดอะแจ็ค” หยิบยกมาพูดถึงคือ “การคุกคามทางเพศ” กรณีข้าราชการหญิงท่านหนึ่งสังกัดกองคลัง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรถูกเลขาธิการฯ ท่านหนึ่ง ส่งข้อความคุกคามทางเพศอยู่หลายปี เพราะอยากได้ข้าราชการหญิงท่านนี้เป็นอนุภรรยา รวมถึงระบุเจาะจงให้ไปงานสัมมนาต่างจังหวัดทั้งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ไม่มีความจำเป็นต้องร่วมเดินทางไปด้วยแต่อย่างใด
ซึ่งจากข้อความจำนวนมากที่เห็น ตนมองว่าข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่ควรทำเช่นนี้ เมื่อทราบเรื่องจึงได้ร้องเรียนไปยัง ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ในขณะนั้น มีการตั้งกรรมการสอบสวนและพบว่ากระทำผิดจริง แต่ไม่มีการลงโทษเนื่องจากเวลานั้นเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรท่านดังกล่าวเกษียณอายุราชการไปแล้ว ขณะที่ชะตากรรมของข้าราชการหญิงท่านนี้ ท้ายที่สุดถูกกลั่นแกล้งจนอยู่ไม่ได้ต้องลาออกไป ถามว่าแบบนี้ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน
“ในขณะที่สุภาพสตรีท่านนี้ร้องเรียนเรื่องการคุกคามทางเพศ มีข้าราชการที่ตอนนี้ต้องเรียกว่าระดับที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเป็นภรรยาของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในสภาด้วย ก็ไปรับข้าราชการคนนี้ไปเจรจาที่ร้านกาแฟหลังกระทรวงการคลัง ขอให้ถอนการร้องเรียนเลขาธิการคนนี้เรื่องคุกคามทางเพศ ถ้าถอน เรื่องข้าราชการผู้หญิงที่ถูกร้องเรียนที่มีการแต่งตั้งและปั้นเรื่องร้องเรียนก็จะยกเลิก แต่สุภาพสตรีท่านนี้มีศักดิ์ศรี ไม่ยอม” วัชระ กล่าว
วัชระกล่าวต่อไปว่า จริงๆ หากข้าราชการหญิงท่านนี้ยอมตั้งแต่ไปสัมมนาต่างจังหวัด ได้ทั้งหมดทั้งขั้นและอะไรต่ออะไร คือมีการให้ขั้นเพื่อจูงใจด้วย แต่เพราะไม่ยอมทำตามเงื่อนไขของที่ปรึกษาสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุดข้าราชการหญิงท่านนี้ก็ต้องออกจากราชการ ซึ่งปัจจุบันยังต่อสู้คดีอยู่ในศาลปกครอง รวมถึงไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยตนเป็นที่ปรึกษากฎหมายให้ และไปให้การกับ ป.ป.ช. ในฐานะพยานด้วย
โดยขณะนี้ผ่านมาราว 2 ปีแล้ว เรื่องก็ยังไม่จบ ซึ่งตนคิดว่าข้าราชการหญิงท่านนี้ต้องได้รับความเป็นธรรมเรื่องถึงจะจบ “ลองคิดดู..หัวหน้าส่วนราชการอยากได้ผู้หญิงคนนี้เป็นอนุภรรยา พอเขาไม่ยอมก็กลั่นแกล้งสารพัด พอไปร้องเรียนว่าถูกคุกคามทางเพศก็ยิ่งถูกกลั่นแกล้งหนักถึงขั้นออกจากราชการ” แถมข้าราชการยังช่วยผู้มีอำนาจ แต่คนในสภาเขามองว่าเป็นเรื่องหมาป่ากับลูกแกะ คนมีอำนาจรังแกเด็กชั้นผู้น้อย เขาก็เห็นใจเพราะเป็นการละเมิดสิทธิสตรี ซึ่งตนก็นำเรื่องนี้ไปร้องเรียนกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ด้วยอีกหน่วยงานหนึ่ง
เรื่องต่อมาคือ “การก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่”ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่สมัยที่ ชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภาฯ ที่มีการผลัดผ่อนอ้างปัญหาต่างๆ ทำให้การก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ ตนจำตัวเลขวันที่แน่นอนไม่ได้ แต่นับจนถึงปัจจุบัน เดือน พ.ย.2566 แล้วก็ประมาณ 10 ปี ก็ยังไม่เสร็จ อีกทั้งในวัสดุไม่ตรงตามสเปก เช่น หินทราเวอร์ทีน (Travertine) คือหินสีไข่ไก่ ใช้สำหรับทำฉากแนวตั้ง ในสัญญากำหนดว่าหากเป็นภายในอาคารความหนาของหินต้องไม่ต่ำกว่า 20 มม.หากเป็นภายนอกอาคารจะอยู่ที่ 25 มม.
“ผมก็ไปวัด ไม้บรรทัดอันละ 5 บาท ปรากฏว่าในอาคารได้แค่ 17 มม. มีคนกินหินแผ่นละ 3 มม. ข้างนอกตรงหรือไม่ต้องไปตรวจสอบอีกครั้ง แต่ที่แน่ๆ คือปัญหาการใช้วัสดุไม่ตรงสเปกไม่ใช่มีเฉพาะหินทราเวอร์ทีนหินวิทิตา คือหินที่เป็นสีๆ ที่ปูรอบๆ ก็ไม่ตรงตามขนาดไม้ตะเคียนทอง ซึ่งต้องใช้จำนวนมาก ก็ปรากฏว่ามีไม้กระยาเลยถึง 700 แผ่น ตะเคียนทองต้องแผ่นยาว 3 เมตรไปวัดดูเถอะครับว่ามีไม้ยาว 3 เมตร กี่ท่อน และเมื่อปูแล้วความห่างระหว่างแผ่นต้องไม่เกิน 2 มม.ต่อแผ่นไปดูเถอะครับ ขนาดปากกาเสียบลงไปยังวางแนวตั้งได้เลย รองเท้าส้นสูงของสุภาพสตรี ตกลงไปก็จะหกล้มทันที” วัชระ ระบุ
สำหรับอาคารรัฐสภาแห่งนี้มีมูลค่า 12,280 ล้านบาท เฉพาะตัวอาคารไม่นับระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ซึ่งเดิมคือ 3 พันล้านบาท ต่อมาในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัวเลขเป็น 8 พันกว่าล้านบาท เช่น ไมโครโฟนตัวละ 1.2 แสนบาท ซึ่งตนก็ไปยื่นคัดค้านจนสำเร็จ ซึ่งแม้ขณะนั้นนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นหัวหน้า คสช. ด้วย แต่ตนก็กล้าคัดค้าน โดยการตรวจสอบโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นี้ ตนทำร่วมกับ วิลาศ จันทร์พิทักษ์ ซึ่งก็เป็นอดีต สส. พรรคประชาธิปัตย์ เช่นกัน
ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. รวมถึงสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) รวมถึงมีคดีอยู่ในศาลซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างฟ้องตน 2 คดี แต่สุดท้ายศาลก็ยกฟ้องทั้ง 2 คดี เช่นเดียวกับที่ วิลาศ ถูกฟ้องถึง 4 คดี ก็ยกฟ้องทั้งหมด แน่นอนว่าผู้ที่คิดว่าตนเองเสียหายก็มีสิทธิ์ฟ้องได้ แต่การที่ตนเป็นนักกฎหมาย ตนไม่ก้มหัวให้กับความอยุติธรรม จะฟ้องคดีไหนตนก็ไม่เคยกลัวและพร้อมต่อสู้ และตนเชื่อว่าศาลทุกศาลจะให้ความเป็นธรรม
ในงบประมาณก่อสร้างราว 1.2 หมื่นล้านบาท วัชระระบุว่า มีการจ้างเหมาช่วงประมาณ 3 พันล้านบาท และมีคณะกรรมการตรวจการจ้างซึ่งเป็นข้าราชการทั้งชุด ตนมีคำถามว่า “คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างว่าเป็นไปตามสเปกหรือไม่?” โดยหากตนชนะคดี บริษัทต่างๆ ที่เข้ามารับงานก่อสร้างก็ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามที่กำหนดในสัญญา ส่วนการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องจะเป็นอำนาจของ ป.ป.ช.
โดยตนได้ยื่นเรื่องไปถึง วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯคนปัจจุบัน และยื่นไปกี่เรื่องท่านก็ตั้งกรรมการตรวจสอบทุกเรื่องไม่มีเก็บไว้ คู่ขนานไปกับการตรวจสอบของ ป.ป.ช. และหากสุดท้าย ป.ป.ช. ชี้มูล เจ้าหน้าที่ก็ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย เช่น ในสัญญาระบุให้ใช้ไม้ตะเคียนทองและเป็นไม้สัก แต่หากไม่ได้ตามนั้น มีการนำไม้กระยาเลยแทรกเข้ามาถึง 7,500 แผ่น คนอนุมัติงวดงานก็ต้องรับผิดชอบ
หรือห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) มี 113 ห้อง ฝั่ง สส. กั้นเพียงชั้นเดียว ขณะที่ฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.)จะกั้น 2 ชั้น ซึ่งเป็นการไม่ทำตามสเปก แต่ผู้มีอำนาจภายในสภาฯ กลับอนุมัติงาน แต่เรื่องนี้ไม่ถึงขั้นประธานสภาฯ เพราะผู้รับผิดชอบสัญญาคือสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะผู้ว่าจ้าง โดยมีบริษัทเอกชนเป็นผู้ว่าจ้าง แต่ต่อมาพบการรับเหมาช่วง มีบริษัทที่ปรึกษา บริษัทควบคุมงาน ก็ต้องถามว่าบริษัทที่ปรึกษาและบริษัทควบคุมงาน ได้ตรวจควบคุมการก่อสร้างให้ตรงตามแบบหรือไม่
“ผมเห็นว่าเมื่อเราสร้างอาคารรัฐสภา มันเป็นหน้าตาของประเทศ มันก็ต้องมีมาตรฐาน ไม่ใช่ฝนตกทีไรรั่วทุกที แม้แต่ฤดูฝนที่ผ่านมา ถ้าไปที่ชั้น 8 จะเป็นปล่องสี่เหลี่ยมแนวตั้ง 2 ปล่องอยู่ด้านขวา และด้านซ้ายอีก 2 ปล่อง ปล่องสี่เหลี่ยมทั้ง 4 เวลาฝนตกทีไรน้ำจะรั่วลงมาเหมือนน้ำตกทุกครั้ง แล้วจะเป็นภาระกับแม่บ้านที่จะต้องเอาไม้ไปดันน้ำ-ซับน้ำ และมีน้ำตกประจำที่ชั้น 4 ตรงระเบียงที่นั่งพักของข้าราชการ ระหว่างสำนักกรรมาธิการ 1-3 เปิดไปดูจะมีถัง 20 บาทสีดำรองรับน้ำอยู่ตลอดเวลา
อาคารหมื่นล้านแต่ใช้ถัง 20 บาทรองน้ำ ก็ถือว่าประหยัดคุ้มค่า แต่ปัญหาน้ำรั่วมันไม่ได้หมดไป ถามว่าทำไมท่านไม่สามารถแก้ปัญหาน้ำรั่วได้เชียวหรือ? เมื่อสร้างอาคารเป็นหมื่นล้านทำไมบกพร่องถึงขนาดนี้ แล้วคณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจสอบแล้วหรือยัง? และ ณ วันนี้ (เดือน พ.ย. 2566) ปีที่ 10 ของการก่อสร้างอาคารรัฐสภา ผมยืนยันว่าการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่นั้นยังไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์ตามสัญญาจ้างทุกประการ” วัชระ กล่าว
จากรัฐสภา “เดอะแจ็ค-วัชระ” พาออกไปมองเรื่องใหญ่ๆ ภายนอกกันบ้าง เช่น กรณี “นักโทษที่ชั้น 14” เมื่อ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศเดินทางกลับประเทศไทยมารับโทษในคดีทุจริตที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว โดยเบื้องต้น อดีตนายกฯ ทักษิณ จะต้องถูกจำคุกรวม 8 ปี แต่ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ ลดเหลือจำคุก 1 ปี แต่เมื่อกลับมาในช่วงเช้าของวันที่ 22 ส.ค. 2566 เอาเข้าจริงก็แทบไม่ได้อยู่ในเรือนจำ เพราะถูกส่งตัวไปอยู่ห้องพักชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ตั้งแต่คืนแรก
วัชระ ให้ความเห็นกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “เป็นภาพสะท้อนของประเทศไทย” หมายถึงประเทศไทยมีลักษณะแบบนี้ “คนทั่วโลกที่ยึดหลักนิติรัฐ-นิติธรรม จะมองเห็นว่าประเทศไทยมีข้อยกเว้นได้” ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยมีนักธุรกิจจากแดนมังกรประเภท “จีนเทา” รายหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “ถ้ามีเงินจะซื้ออะไรก็ได้ในประเทศนี้” ขณะที่ตนก็มีโอกาสได้พูดคุยกับประชาชนในหลายจังหวัด ส่วนใหญ่เท่าที่ฟังดูประชาชนก็ยังไม่เชื่อว่า อดีตนายกฯ ทักษิณ พักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 รพ.ตำรวจ และด้วยข้อสงสัยนี้ ตนจึงไปยื่นเรื่องต่อ กมธ.ตำรวจ เพื่อให้ตรวจสอบว่าอยู่จริงที่นั่นหรือไม่
และเรื่องนี้จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ ป.ป.ช. ควรไต่สวนในอนาคต เพราะข้าราชการที่ทำตามผู้มีอำนาจโดยไม่สนใจกฎระเบียบก็ต้องได้รับผลกรรม รวมถึง วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาชี้แจง เพราะมีข่าวว่าวันแรกที่ทักษิณ กลับมาประเทศไทย ได้เดินทางไปที่เรือนจำด้วย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่เรือนจำได้ชี้แจงว่า มีการถ่ายภาพและทำประวัติของทักษิณไว้แล้ว ซึ่งก็เป็นกรณีประวัติศาสตร์เพราะเป็นบุคคลหนึ่งที่คนทั้งโลกจับจ้อง เพียงแต่ใครจะรู้จักในแง่มุมไหนเท่านั้น
นอกจากอดีตนายกฯ ทักษิณ แล้ว ยังมีกรณี “กำนันนก”ก่อเหตุร่วมกันยิงตำรวจเสียชีวิตในงานเลี้ยง ปัจจุบันถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี รวมถึง “เสี่ยแป้ง นาโหนด” นักโทษที่หลบหนีระหว่างถูกส่งตัวจากเรือนจำไปรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่ง วัชระ มองว่า “เรื่องราวทำนองนี้เป็นการสะท้อนอัตลักษณ์ของข้าราชการไทย” หมายถึง “ข้าราชการนอกจากจะได้รับเงินเดือนจากรัฐ ยังมีรายได้ทางอื่นจากส่วยและผู้มีอิทธิพล” และตนบอกได้ว่ามีแทบทุกกระทรวง ทบวง กรม โดยจะมีผู้ที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายมาจ่ายให้ หรือใช้เงินช่วยซื้อตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่ด้วย
ในตอนท้าย วัชระกล่าวถึงบทบาทของตนในฐานะนักการเมือง ว่า ใจของตนอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว และแม้พรรคจะมีปัญหาก็เป็นเรื่องของภาวะการณ์ของสังคมช่วงนั้นๆ แต่เมื่อตนยึดมั่นในแนวทางของพรรคประชาธิปัตย์และเดินไปในแนวทางนี้ ก็คงจะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ไม่มากก็น้อย แม้ไม่ได้เป็น สส. ก็ยังเป็นผู้แทนนอกสภา การไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร ตนยอมรับมติของประชาชน แต่ตราบที่ยังมีชีวิตอยู่ก็จะทำหน้าที่ที่พึงกระทำ คือไม่ได้ทำในสิ่งที่ผิดกฎหมาย และทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน เป็นปากเป็นเสียงให้ประชาชน
“ถ้าท่านเกิดปัญหาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ท่านควรติดต่อถึงผู้แทนราษฎรของท่านก่อน ยกตัวอย่างผมไปจังหวัดหนึ่งใกล้ๆ กรุงเทพฯ เขาบอกอยากให้ผมมาช่วยเรื่องนี้ ผมก็ยกมือไหว้ท่วมหัวแล้วบอกว่า พี่!..บอก สส.ในเขตของเขาก่อน ถ้า สส. ในเขตของเขาไม่ทำแล้วค่อยมาบอกผม คือเมื่อท่านมี สส. ที่อาสาตัวไปรับใช้และกินเงินเดือนภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ นั่งเครื่องบินฟรีทั่วประเทศ กาแฟฟรีทุกมื้อ ข้าวก็ฟรีทุกวัน ฉะนั้นใช้ผู้แทนของท่านก่อน ถ้าท่านใช้ผู้แทนของท่านไม่ได้แล้วค่อยมาบอกผม” วัชระกล่าวทิ้งท้าย
หมายเหตุ : สามารถติดตามรายการ “แนวหน้า Talk” ดำเนินรายการโดย บุญยอด สุขถิ่นไทย ได้ผ่านทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ช่วงหัวค่ำโดยประมาณ!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี