วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
รายงานพิเศษ : เร่งผลักดันร่างกฎหมาย  คุ้มครองแรงงานนอกระบบ

รายงานพิเศษ : เร่งผลักดันร่างกฎหมาย คุ้มครองแรงงานนอกระบบ

วันอาทิตย์ ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567, 06.00 น.
Tag : รายงานพิเศษ
  •  

สภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) และ โครงการพัฒนาความรู้และความเข้มแข็งกลุ่มแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดวงเสวนา “สถานการณ์ความคืบหน้าและปัญหาอุปสรรคในการพัฒนาสิทธิและสวัสดิการแรงงานนอกระบบของประเทศไทย” เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรร่วมเสวนา 5 ท่าน

นภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวถึง “(ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ.....” ซึ่งสาระสำคัญคือ “คุ้มครองแรงงานนอกระบบ” ที่มีอยู่ราว 20-21 ล้านคนจากคนทำงานทั้งหมด 37-38 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น หาบเร่แผงลอย แท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง กับ 2.ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระรับงานผ่านผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มดิจิทัล อาทิ ไรเดอร์ส่งอาหาร ว่า ล่าสุดกำลังอยู่ระหว่างสรุปความคิดเห็นจากที่เปิดรับฟัง ก่อนที่จะส่งเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)


จากนั้นจึงจะเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร 3 วาระ และที่ประชุมวุฒิสภา ตามลำดับ โดยคาดว่าน่าจะผ่านออกมามีผลบังคับใช้ได้ประมาณเดือน มิ.ย. 2568 ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ยังแก้ไขข้อจำกัดที่เกิดจากกฎหมายฉบับก่อนๆ ที่แยกกันดูแลแรงงานในแต่ละเรื่อง เช่น ประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน การคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน การพัฒนาฝีมือแรงงาน ฯลฯ โดยนำมิติการคุ้มครองแรงงานจากกฎหมายแต่ละฉบับที่มีอยู่เดิมมารวมกัน

อีกทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง คล้ายกับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังมีการตั้งกองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ ซึ่งในส่วนของแรงงานกึ่งอิสระ จะเป็นมาตรการภาคบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจแพลตฟอร์มจ้างงานและผู้รับงานผ่านแพลตฟอร์มต้องส่งเงินสมทบด้วย คล้ายกับกองทุนประกันสังคมที่กำหนดให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างต้องส่งเงินสมทบ ขณะที่แรงงานอิสระเป็นการจ่ายเงินสมทบแบบภาคสมัครใจ

อนึ่ง ต่อข้อซักถามของสื่อมวลชนที่ว่าสืบเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปหลายคนไม่ได้ทำงานเดียวแต่มีอาชีพที่ 2 เสริมเข้ามาด้วย ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19ที่ผ่านมา หลายคนถูกปฏิเสธการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ จนต้องพยายามอุทธรณ์เพื่อให้ได้รับสิทธิ์ เช่น ทหาร-ตำรวจชั้นผู้น้อยที่ใช้เวลากลางคืนไปทำงานรักษาความปลอดภัยสถานบันเทิง แม้สถานบันเทิงถูกสั่งปิดแต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับสิทธิ์เพราะเป็นข้าราชการ

หรือพนักงานบริษัท-โรงงานที่ใช้เวลาหลังเลิกงานไปขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือค้าขาย แล้วไม่ได้รับสิทธิ์เพราะอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 หรือคนขับรถแท็กซี่ที่มีไร่นาอยู่ต่างจังหวัด ก็ไม่ได้รับสิทธิ์เพราะเข้าข่ายเป็นเกษตรกร ทั้งที่ได้รับผลกระทบขาดรายได้ นภสร ระบุว่า กฎหมายแรงงานอิสระนี้พยายามอุดช่องว่างดังกล่าวด้วย เช่น ข้าราชการใช้เวลาหลังเลิกงานไปเป็นไรเดอร์ หากประสบอุบัติเหตุจากงานดังกล่าว ก็จะเข้ากฎหมายฉบับนี้ แต่หากประสบอุบัติเหตุในเวลาราชการ ก็จะเป็นเรื่องของสวัสดิการข้าราชการพลเรือน เป็นต้น

“พนักงานบริษัทก็เช่นกัน ในเวลากลางวันคุณอยู่ในมาตรา 33 แต่เวลาตกเย็นคุณไปประกอบอาชีพนี้ คุณก็ต้องได้รับความคุ้มครองในช่วงเวลาที่คุณประกอบอาชีพที่ 2 นี้เช่นกัน เราไม่ได้คำนึงว่าคุณอยู่ตรงนั้นแล้ว เพียงแต่ว่าเมื่อคุณอยู่ในมาตรา 33 คุณอาจได้เรื่องเข้าโรงพยาบาลตามสิทธิ์ แต่สิทธิประโยชน์อื่นนอกเหนือจาก 7 กรณีของมาตรา 33 ก็มีตรงนี้เข้ามาเป็นตัวประกอบในเรื่องของช่วงเวลา” นภสร ระบุ

กชพร กลักทองคำ ประธานสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ในส่วนของการพัฒนาทักษะอาชีพ เสนอให้ปรับแผนของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยเฉพาะประเด็น “ความทันสมัยของอาชีพ” นอกจากนั้นในส่วนของผู้ที่ฝึกอาชีพ ควรต้องแยกให้ชัดระหว่างคนที่เป็นอยู่แล้ว อาจให้ทำเพียงการทดสอบฝีมือแล้วอาจออกเป็นเอกสารรับรอง การันตีให้นำไปติดในสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แต่อีกกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นก็อาจต้องให้ฝึกทักษะกันไป

“สำคัญที่สุดคือองค์กรหน่วยงานรัฐ เวลาสนับสนุนไม่ติดตาม ไม่ประเมินผล ให้แล้วก็ไม่ติดตาม ถือว่าทำสำเร็จแล้ว ไม่ติดตามประเมินผล เพราะฉะนั้นการฝึกอาชีพหรือการพัฒนาทักษะต่อยอดต่างๆ ถ้ามันไม่มีการประเมิน แล้วก็แนะแนวให้ความรู้เรื่องการจัดการต่างๆ ฝึกไปก็ไม่สามารถเพิ่มรายได้ได้ อันนี้ที่เป็นปัญหา แล้วตอนนี้หลักเกณฑ์สำคัญก็คือจำนวนคนคุณไม่ต้องบอกว่าจำนวนเท่าไร อย่าไปเอาปริมาณ ต้องเอาคุณภาพ” กชพร กล่าว

วิชญ์พิพล ติวะตันสกุล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ปัญหาของแรงงานนอกระบบคือการขาดหลักประกันคุ้มครอง เม่ือมีปัญหาใดๆ เข้ามา เช่น สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 หรือช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว (Slowdown) ก็จะได้รับผลกระทบสูง อีกทั้งโดยทั่วไปจะมีรายได้ไม่พอใช้หลังพ้นจากวัยทำงาน

“จากข้อมูล Gross Pension Replacement Rates ปี 2563 ความพอเพียงของบำนาญหลังเกษียณอายุ บอกว่า คนเกษียณอายุควรจะมีรายได้ขั้นต่ำ ของ OECD ที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ประมาณ 52% แต่ของคนไทยจะประมาณ 37.5% ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ จริงๆ เราเคยคำนวณตัวเลขไว้คร่าวๆ แรงงานหลักเกษียณอายุควรจะมีเงิน 40-50% ของเงินเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ เพื่อที่จะเลี้ยงอายุให้เพียงพอในวัยชราภาพ” วิชญ์พิพล ระบุ

บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิชาการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แรงงานนอกระบบครึ่งหนึ่งเป็นเกษตรกร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีงบประมาณสำหรับดูแลคนกลุ่มนี้อยู่ แต่ยังมีแรงงานนอกระบบในภาคการค้าและบริการ รวมถึงกลุ่มผู้ทำการผลิต ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย จึงต้องให้ความสำคัญ นอกจากนี้ เมื่อคนมีอายุมากขึ้น ก็มีแนวโน้มต้องออกมาเป็นแรงงานนอกระบบมากขึ้น

“เมื่อเวลาที่อายุสัก 29 ปีเป็นต้นไป คนแรงงานในระบบจะค่อนข้างออกมา กราฟจะตกลง แล้วจะตกลงอย่างมาก โอกาสที่จะกลับไปเป็นแรงงานเมื่อเราออกจากงานในระบบแล้ว ด้วยทักษะที่มันไม่สามารถจะตอบสนองตลาดแรงงานได้ การกลับเข้าไปในระบบอีกมันไม่ใช่เรื่องง่าย” บวร กล่าว

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธุ์ ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า ภาพรวมของประเทศไทยดูเจริญขึ้นมากหากมองไปที่ตึกอาคารต่างๆ แต่ก็ต้องกลับมามองที่คน ทั้งนี้ ร้อยละ 40 ของเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาคนอกระบบ เช่น ในกรุงเทพฯ มีผู้ค้าหาบเร่แผงลอย 2 แสนคน สมมุติขายได้วันละ 1,000 บาท
ปีหนึ่งก็อยู่ที่เกือบ 1 แสนล้านบาท หรือแม้แต่ลูกจ้างทำงานบ้าน มูลค่าต่อปีก็หลักพันล้านบาท

“ถ้าเราพลิกนิดเดียวในการพัฒนาประเทศ แล้วเราไม่ได้มองแรงงานนอกระบบเป็นภาระ เรามองแรงงานนอกระบบเป็นส่วนหนึ่ง เป็นกลไกในการพัฒนาประเทศ เศรษฐกิจของเรา แล้วเราพัฒนาคน ประเทศไทยไปไกลมาก เพราะเรามีภาครัฐที่ซัพพอร์ตอยู่” พูลทรัพย์ กล่าว


SCOOP@NAEWNA.COM
 

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • รายงานพิเศษ : ประเทศไทยยังมีหวัง...พลังเงียบจะกลับมา รายงานพิเศษ : ประเทศไทยยังมีหวัง...พลังเงียบจะกลับมา
  • รายงานพิเศษ : ‘รพ.บางปะหัน’วางแนวทาง จัดแพ็คเกจบริการครอบคลุม รายงานพิเศษ : ‘รพ.บางปะหัน’วางแนวทาง จัดแพ็คเกจบริการครอบคลุม
  • รายงานพิเศษ : ถึงเวลาทบทวนยุทธศาสตร์การควบคุมการบริโภคยาสูบ รายงานพิเศษ : ถึงเวลาทบทวนยุทธศาสตร์การควบคุมการบริโภคยาสูบ
  • รายงานพิเศษ : ​ทบทวน ‘แผนวิจัย’ ของประเทศ ตอบสนองสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง รายงานพิเศษ : ​ทบทวน ‘แผนวิจัย’ ของประเทศ ตอบสนองสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลง
  • รายงานพิเศษ : ‘AHSAN Trustmark’ ศรัทธาสู่มาตรฐานสินค้า รายงานพิเศษ : ‘AHSAN Trustmark’ ศรัทธาสู่มาตรฐานสินค้า
  • รายงานพิเศษ : กางแผนยุทธศาสตร์รับมือแผ่นดินไหว เจาะลึกเทคโนโลยีและนวัตกรรม ววน. รายงานพิเศษ : กางแผนยุทธศาสตร์รับมือแผ่นดินไหว เจาะลึกเทคโนโลยีและนวัตกรรม ววน.
  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved