สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ 101 PUB เปิดวงเสวนา “ถอดรหัสอนาคตแรงงานไทย” เมื่อเร็วๆ นี้ ฉายภาพอนาคตการทำงานและการจ้างงานที่เปลี่ยนไปและคนไทยต้องปรับตัว โดยมีวิทยากร อาทิ วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สคูลดิโอ จำกัด (Skooldio) กล่าวถึงอนาคตแรงงานไทยในมุมของนักเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีคำที่พูดกันมากคือ “เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)” เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลกลายเป็นทางรอดไม่ใช่แค่ทางเลือก ไม่ว่าจะอยู่ในภาคส่วนใดก็ตาม
แต่คำว่าเศรษฐกิจดิจิทัลก็เป็นได้ทั้ง “ความเสี่ยง” เช่น แพลตฟอร์มออนไลน์หรือแอปพลิเคชั่นที่คนไทยนิยมใช้กันเกือบทั้งหมดเป็นของต่างชาติ นั่นหมายถึงการที่เม็ดเงินมหาศาลไหลออกนอกประเทศ และ “โอกาส” เทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การเป็นบริษัทระดับโลก (Global Company) ไม่จำเป็นต้องสะสมทุนและสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ไว้มากพอเสียก่อนอย่างการทำธุรกิจในอดีต เช่น สตาร์ทอัพ (Startup) หลายเจ้าก็เกิดจากวัยรุ่นนั่งเขียนโปรแกรมจากที่บ้านแล้วปล่อยออกไป แล้วโปรแกรมนั้นเกิดโดนใจคนทั่วโลก
“ถ้าถามว่าคนไทยเก่งอะไรที่ชาติอื่นสู้ยาก ผมว่า Creativity เรามีความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นเลิศมากๆ เรื่อง Deep Tech (เทคโนโลยีชั้นสูง-ซับซ้อนสูง) ถ้าเรามาได้ก็คงดี
แต่ระหว่างที่เรายังมาไม่ได้ เรายังอยู่ในหมวดผู้ใช้เทคโนโลยี ผมว่าเราสามารถเอา Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ใส่บวกเทคโนโลยีเข้าไป แล้วก็สามารถทำของในแบบของเรา เราเป็นนวัตกรรมในแบบของเราที่ผมเชื่อว่าสามารถไปแข่งกับนานาชาติได้” วิโรจน์ กล่าว
วิโรจน์ กล่าวต่อไปถึงคำถาม “AI จะมาทำงานแทนคนได้แค่ไหน?” สำหรับตนขอให้มุมมองว่า “การจะบอกว่า AI แทนงาน (Job) งานหนึ่งทั้งหมดดูจะยากเกินไป เพราะในหนึ่งงานเราทำหลายอย่าง” แต่หากบอกว่า “AI มาแทนหน้าที่ (Task) บางส่วนในงานนั้นเป็นไปได้” เช่น AI เข้ามาแทนงานที่เป็นระบบอัตโนมัติ (Automation) หรือเข้ามาช่วยมนุษย์ให้ไม่ต้องเริ่มต้นทำงานจากศูนย์ (Augmentation) แต่การติดต่อประสานงาน ซึ่งก็เป็นหน้าที่หนึ่งในการทำงาน จะเป็นสิ่งที่ AI ยังแทนไม่ได้คล่องเพราะทักษะการพูดคุยของปัญญาประดิษฐ์ยังไม่เก่งเท่ามนุษย์ เป็นต้น
โดยสรุปแล้ว “ทักษะของคนทำงานที่ควรมีในยุคดิจิทัล” นอกจากความรู้เกี่ยวกับอาชีพนั้นโดยตรง (เช่น เป็นนักบัญชีต้องรู้เรื่องบัญชี หรือเป็นทนายความต้องรู้เรื่องกฎหมาย) จะมีทักษะ 3 ประเภทที่มนุษย์ทุกคนควรมี คือ 1.ทักษะของมนุษย์ที่อยู่ได้แบบยั่งยืน (Enduring Human Skills) หมายถึงความสามารถในการอยู่รอดโดยไม่ถูกแทนที่ได้ง่ายๆ เช่น ทักษะการคิด (Cognitive Skill) หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ (Critical Thinking) ทักษะการรับรู้ความสามารถของตนเองและเรียนรู้เพิ่มเติมได้ตลอดชีวิต (Life-long Learning) ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
2.ความรู้พื้นฐานใหม่ (New Literacy) อย่างในอดีตโลกไม่มีเครื่องคิดเลข ไม่มีโปรแกรมเอกสาร Excel แต่ปัจจุบันมนุษย์แทบทุกคนบนโลกใช้สิ่งเหล่านี้เป็น ขณะที่แนวโน้มในอนาคตมนุษย์จะถูกคาดหวังให้ต้องมีทักษะเรื่องข้อมูล (Data) เช่น บริษัทเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้มาก พนักงานก็จะถูกมอบหมายให้นำข้อมูลนั้นไปวิเคราะห์ หรือการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และ 3.ทักษะเทคนิคขั้นสูง (Advance Technical Skill) เป็นเรื่องเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น เช่น AI, ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity),ระบบคลาวด์ (Cloud)
ขณะที่ ธนา เธียรอัจฉริยะ ประธานกรรมการบริษัทบลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสถานการณ์ในประเทศไทยหลายเรื่อง เช่น “จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลง” ส่งผลต่อจำนวนนักเรียน-นักศึกษาในสถาบันการศึกษาที่ลดลง และขนาดของเศรษฐกิจประเทศที่จะลดลงตามจำนวนประชากร “การควบรวมหรือปรับโครงสร้างองค์กรกับแรงงานที่ต้องตกงาน” แม้กระทั่งแรงงานระดับผู้บริหารมีทักษะสูงมาก เมื่อตกงานตอนอายุ 50 ปี ก็ไม่รู้จะไปไหนต่อ
“รายได้และกำลังซื้อของคนมีน้อย” เท่าที่สอบถามเด็กจบใหม่ แม้กระทั่งระดับ ป.โท เงินเดือนเฉลี่ย 25,000 บาท ยังอยู่ในประเทศไทยค่อนข้างลำบาก ยิ่งแรงงานระดับล่างลงไป ก็มีกรณีโรงงานที่เปลี่ยนไปใช้ระบบอัตโนมัติ (Automation) ส่งผลให้แรงงานคนลดลง และเชื่อมโยงเป็นลูกโซ่ไปยังส่วนที่ใกล้เคียง เช่น พ่อค้า-แม่ค้าที่ขายสินค้าให้กับคนงานในโรงงาน โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 มีการปรับตัวใช้เทคโนโลยีแทนมนุษย์กันเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการแทบไม่ต้องจ้างแรงงานอีกแม้สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลงแล้วก็ตาม
“อิทธิพลแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างชาติเหนือผู้ประกอบการไทย” เมื่อใช้กันจนเคยชิน เจ้าของแพลตฟอร์มจะขึ้นค่าธรรมเนียมใช้บริการเท่าไรก็ตามผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือเลิกใช้ ผลคือผู้ประกอบการไม่เหลือทุนมากพอจะปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น “การปรับเปลี่ยนมีต้นทุนทำให้เป็นไปได้ยาก” เช่น ที่ผ่านมาเกษตรกรปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการเผาจนเกิดปัญหาฝุ่น PM2.5 แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกไม่ใช่ทำได้ทันที อาทิ ต้องไปช่วยเกษตรกรทำตลาดพืชชนิดใหม่ที่ต้องการให้ปลูกทดแทนด้วย เป็นต้น
“ผมฟังผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง แกก็อายุมากกว่าผม แกพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แกบอกว่า Wealth (ความมั่งคั่ง) ของประเทศ 90% อยู่ที่เบบี้บูมเมอร์และ
เจนเอ็กซ์ เพราะช่วงนั้นเศรษฐกิจโตและเริ่มมีธุรกิจผูกขาด หนี้ที่เยอะที่สุดอยู่ที่เจนวาย หนี้ครัวเรือนอะไรนี่เจนวายทั้งนั้น ไม่มีทั้งหนี้ไม่มีทั้งเงินคือเจนเด็กๆ ไม่มีอะไรเลย กู้ก็ไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่ผมเล่ามาทั้งหมดมันเป็นเรื่อง Wealth ถ้าถามผมแรงงานมันก็คือหนึ่งในปัจจัย คือการเคลื่อนย้ายของทุนและทุนต่างๆ มันเป็นสงครามที่มีผลกระทบต่อแรงงานอย่างมาก
คือทุนในโลกมันเล่นเกมแบบโหดมากขึ้นเรื่อยๆ คือประเทศที่อยู่ในแผนที่โลกก็จะได้เงินมหาศาลเพื่อไปซื้อหรือเพื่อไปทำอะไรใหม่ๆ ทุนมัน Dictate (กำหนด) ทุกอย่าง ผมคุยกับ Fund Manager (ผู้จัดการกองทุน) คนหนึ่งที่เป็นกองทุนใหญ่มากของโลก เขาบอกว่า Sustainability Tech (เทคโนโลยีที่ยั่งยืน) ไม่เกิด เพราะเงินเขาไม่สามารถรอได้เกิน 3 ปี ดังนั้นเขาต้องไปลงอะไรเร็วๆ AI ได้ผลกลับมาเร็วๆ แต่พวกที่ต้องไปทดลอง มีความเสี่ยง ทำแล้วจะลดคาร์บอน เงินไปถึงน้อยมากเพราะมันรอนาน” ธนา กล่าว
ธนา กล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจไทยที่ในอดีตเคยเติบโตแต่ปัจจุบันแบนราบซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้ของคนรุ่นใหม่ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับการลดต้นทุนแรงงานคนด้วยเทคโนโลยี และการมาของแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่เปรียบเหมือนนักกีฬาระดับโอลิมปิก ทำให้ผู้ประกอบการไทยที่เคยเอาตัวรอดได้ในเวทีการแข่งขันระดับซีเกมส์ต้องตกที่นั่งลำบาก จึงเกิดสภาวะ“K-Shape” ที่เปรียบการเติบโตเหมือนตัวอักษร K ในภาษาอังกฤษ “ฝั่งหนึ่งเชิดหัวขึ้นแต่อีกฝั่งทิ้งดิ่งลง” หรือก็คือ “ความเหลื่อมล้ำ” คนรวยก็ยิ่งรวยขึ้นสวนทางกับคนจนที่ยิ่งจนลง
แม้กระทั่งการรับพนักงานใหม่ ในอดีตอาจนิยมรับ “ช้างเผือก” หมายถึงคนที่ฐานะทางบ้านอาจไม่ดีนักแต่เป็นคนหัวดีและมีความอดทนในการทำงาน แต่ปัจจุบันหันไปรับ “เด็กอินเตอร์” เพราะเห็นว่าสมบูรณ์แบบกว่าทั้งหัวดี มีความอดทนในการทำงาน ได้ภาษาต่างประเทศ หน้าตาก็ดี ฐานะก็ดี มีเครือข่ายสายสัมพันธ์อีก เท่ากับว่าคนต้องพยายามมากขึ้นในการปีนหนีจากเส้นทางลาดลงเหวเพื่อเกาะไต่ไปกับเส้นทางที่ขึ้นสูงให้ได้ และนั่นทำให้หลายคนเลือกที่จะไม่มีลูก เพราะไม่อาจแบกรับค่าใช้จ่ายส่งลูกให้ไปเรียนในสถาบันระดับอินเตอร์ได้
อีกด้านหนึ่ง ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการสถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ชี้ถึง “วิธีคิดแบบอุปถัมภ์นิยม” ที่ทำให้การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเป็นไปได้ยาก เพราะมองว่าความเหลื่อมล้ำไม่ใช่ปัญหา และไม่เชื่อว่าคนเท่าเทียมกัน ซึ่งเอื้อต่อ “วิธีคิดแบบอำนาจนิยม” ที่คนส่วนใหญ่มอบอำนาจการตัดสินใจให้ผู้มีสถานะสูงกว่า เช่น การรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อเจรจาต่อรอง ประเทศไทยกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 อนุญาตให้เฉพาะคนที่เป็นลูกจ้างภาคเอกชนเท่านั้นที่สามารถรวมตัวกันได้
แต่แรงงานกลุ่มนี้มีประมาณ 11 ล้านคน เมื่อเทียบกับคนทำงานทั้งหมดเกือบ 40 ล้านคน และจาก 11 ล้านคน มีเพียงร้อยละ 3.27 หรือ 3.8 แสนคน เท่านั้นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ขณะที่การรวมตัวนั้นเกิดการเจรจาต่อรองจนกลายเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเพียง 400 ฉบับต่อปี จากสถานประกอบการกว่า 5 แสนแห่ง นั่นเท่ากับที่เหลือนายจ้างเป็นผู้กำหนดทั้งหมด ดังนั้นค่าจ้างแรงงานไทยจึงอิงกับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งก็มีนิยามประหลาดอีก เพราะอิงความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ไม่ใช่ความจำเป็นของคนทำงาน
“เงื่อนไขสำคัญก็คือการที่อำนาจมันไม่เท่ากันโดยธรรมชาติของระบบทุนนิยม จะต้องเสริม ทำอย่างไรจะทำให้คนที่เป็นนายจ้างกับลูกจ้างเปลี่ยนทรรศนะจากนายจ้าง-ลูกจ้างแบบเดิมในระบบศักดินา นายกับบ่าว เป็น Social Partnership (หุ้นส่วนทางสังคม) แล้วมันถึงจะอยู่ด้วยกันได้” ศักดินา กล่าว
(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์ที่ 14 เม.ย. 2567)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี