วันเสาร์ ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : (จบ)หลากมุมวงเสวนา‘TDRI’  คุม‘น้ำเมา’อย่างไรให้สมดุล

สกู๊ปแนวหน้า : (จบ)หลากมุมวงเสวนา‘TDRI’ คุม‘น้ำเมา’อย่างไรให้สมดุล

วันเสาร์ ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2567, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

ยังคงอยู่กับวงเสวนา “ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างไรให้พอดี” จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งในตอนที่แล้ว (หน้า 17 ฉบับวันจันทร์ที่ 22 เม.ย. 2567) เราได้สรุปมุมมองจากวิทยากรจำนวน 6 ท่าน ประกอบด้วย รศ.ดร.วิทย์ วิชัยดิษฐ นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา, ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดีประธานเครือข่ายงดเหล้า, พ.ต.อ.เอกกมนต์ พรชูเกียรติรองผู้บังคับการแผนงานอาชญากรรม สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ, พ.ต.อ.จักรกริศน์ โฉสูงเนิน กองแผนงานความมั่นคง,

เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และ เขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ไปแล้ว ส่วนฉบับนี้ยังเหลือวิทยากรอีก 3 ท่าน โดย รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกประเทศมีการควบคุมการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมุมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชน เช่น ถูกจำกัดเวลาที่สามารถโฆษณาได้หากเป็นในสื่อโทรทัศน์ ห้ามใช้อินฟลูเอนเซอร์ ห้ามโฆษณาผ่านแอนิเมชั่น


ทั้งนี้ ในงานวิจัยบอกชัดเจนว่าการโฆษณาและทำการตลาด (Marketing) ส่งเสริมการเข้ามาของนักดื่มหน้าใหม่อย่างชัดเจน รวมถึงมีผลต่อพฤติกรรมการดื่มอย่างต่อเนื่อง แต่ในมุมมองของตน ควรส่งเสริมการดื่มอย่างรับผิดชอบแทนที่จะห้ามไม่ให้ดื่มอย่างเด็ดขาดจะดีกว่าหรือไม่? อนึ่ง เมื่อดูตัวอย่างจากต่างประเทศ พบว่า เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อังกฤษ สหรัฐอเมริกา มาตรการควบคุมจะเน้นไปที่การโฆษณาที่อาจส่งผลต่อเด็กและเยาวชนในขณะที่ ญี่ปุ่น จะเห็นโฆษณาในโทรทัศน์ตลอดทั้งวัน แต่ที่น่าสนใจคือญี่ปุ่นไม่ค่อยเจอปัญหาดื่มแล้วขับ

ส่วนประเทศไทย อุบัติเหตุจากการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์เป็นปัญหามาก ซึ่งในมุมหนึ่งอาจเป็นเพราะประเทศไทยไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่ดี โดยมีเพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น อย่างตนเคยไปที่ จ.ภูเก็ต ที่นั่นขับรถกันเร็วมากแม้จะไม่ได้ดื่มเลยก็ตาม แล้วหากดื่มจะเป็นอย่างไร? ดังนั้นการเก็บภาษีประเภทระบุวัตถุประสงค์การใช้ (Earmarked Tax) ควรกำหนดให้ใช้เพื่อสนับสนุนระบบขนส่งมวลชน หรือสตาร์ทอัพประเภทบริการรับ-ส่งผู้โดยสาร ซึ่งน่าจะได้ผลดีกว่าการไปรณรงค์ให้คนไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สำหรับประเทศไทย ในประเด็นการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของเด็กและเยาวชน พบว่า หากเป็นพื้นที่ต่างจังหวัด ผู้ที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด สามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ง่ายกว่าพื้นที่กรุงเทพฯ เพราะการซื้อ-ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านสะดวกซื้อหรือห้างสรรพสินค้าจะมีระบบบันทึกข้อมูลผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ต่างจากร้านโชห่วยหรือร้านขายของชำไม่มีระบบนี้ ซึ่งนี่คือข้อมูลเมื่อ 10 ปีก่อน แต่ปัจจุบันก็น่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่เมื่อมีคดีต่างๆ เกิดขึ้น ทุกอย่างก็จะเข้ามาหาตำรวจให้ต้องรับผิดชอบทั้งหมด

“รู้สึกว่าถ้ามันมีการผ่อนผันอะไรบางอย่าง อย่างเรื่องของโฆษณา แน่นอนว่ากฎหมายต่างประเทศอินฟลูเอนเซอร์ก็โฆษณาไม่ได้ เพราะฉะนั้นอาจจะโฆษณาได้แต่ให้มี Layer (ระดับ) ของมันนิดหนึ่งได้ไหม? ผู้ผลิตรายย่อยพอจะมีพื้นที่ได้ไหม? รายใหญ่นี่เข้มงวดได้เลย เพราะจริงๆ เม็ดเงินเขามหาศาล คือดู Detail (รายละเอียด) พอกฎหมายมันเหมารวม ประเด็นคือเดี๋ยวมันจะสุดโต่งไปใหญ่

เปิดร้านเหล้าจนถึงตี 5 คนทำร้านก็ไม่อยากเปิดตี 5 คือจริงๆ เปิดถึงตี 5 ได้ แต่ต้องหยุดขายแอลกอฮอล์ตั้งแต่ตีไหนแล้ว? คือเปิดได้แบบให้นั่งชิลเพื่อ Calm Down (สร่างเมา) คือสมมุติปิดตี 2 แล้วทุกอย่างต้องปิดหมด บางทีคนจะกลับบ้านแล้วมันกลับไม่ได้ เพราะฉะนั้นเวลาปิดร้านกับเวลาขายแอลกอฮอล์น่าจะมีความเหลื่อมล้ำกัน ให้เขาได้ชิลอะไรนิดหนึ่ง” รศ.พิจิตรา กล่าว

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เรากำลังพูดเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศที่มีธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮฮล์เป็นทุนผูกขาดไม่กี่เจ้า มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านบาท และแม้รัฐบาลจะพยายามชูเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในฐานะหนึ่งในเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็เชื่อว่าเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นคงไปอยู่กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งเมื่อรวมกับการอยู่ในประเทศที่ปัญหาการจ่ายส่วยและประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมาย การออกแบบกฎหมายจึงเป็นเรื่องยากลำบาก

ทั้งนี้ ข้อเสนอที่เห็นด้วยคือเรื่องการจำกัดการโฆษณาและการเข้าถึง รวมถึงเพิ่มโทษหากเป็นการโฆษณาที่พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน แต่การลงโทษปรับรายใหญ่เท่ากับรายย่อยก็ไม่เป็นธรรม ส่วนเรื่องโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แม้จะไม่เห็นด้วย แต่สำหรับเกษตรกร ควรอนุญาตให้พูดถึงวัตถุดิบของตนเองได้ โดยสรุปหากเขียนคู่มือปฏิบัติให้ชัดเจน ลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ให้เหลือน้อยที่สุด ก็น่าจะแก้ปัญหาได้ เพื่อให้กิจการระดับท้องถิ่นสามารถพูดถึงได้โดยไม่ใช่การจูงใจที่ผิด

“โฆษณาเสมือนเป็นปัญหาใหญ่มาก ถึงแม้เราจะมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาเกือบ 20 ปีแล้ว โฆษณาเสมือนเป็นช่องทางที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่เอาเปรียบผู้ประกอบการรายเล็กได้ตลอดเวลา แล้วก็ใช้ตรงนี้แน่นอนว่ากฎหมายแอลกอฮอล์ หลายเรื่องมันเป็นเรื่องที่ล้าหลังมาก อย่างเรื่องที่บอกว่าห้ามขายตอนบ่าย จริงๆ จากข้อมูลมันก็มาจากการที่ จอมพลถนอม กิตติขจร เอามาใช้เพราะไม่ต้องการให้ข้าราชการไปดื่มสุราในช่วงเวลาทำงาน แต่ถามว่าตอนนี้มีข้าราชการดื่มในเวลาทำงานไหม? มันก็ยังมี แต่ว่ามันก็ดูล้าหลังมาก

อันนี้สามารถแก้ได้ แต่ไม่ใช่การปล่อยผีให้ขายได้ถึง ตี 4 ตี 5 แล้วก็ไม่มีเวลาหน่วง อันนี้ก็ค่อนข้างกังวลอยู่ อีกเรื่องคือเรื่องของการเข้าถึง ถ้าเราดู หลายคนบอกว่า สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) ทำงานไม่เห็นได้ผลเลย จะพบว่าโฆษณามันไม่ได้เยอะขึ้น แต่การเข้าถึงมันหลากหลายมากขึ้น ซึ่งตรงนี้ต่างหากที่จะเป็นตัวที่ทำให้เกิดผลกระทบด้านอุบัติเหตุหรือสุขภาพคนที่ดื่มมากขึ้น และผลกระทบในเชิงสังคมด้วย” กรรณิการ์ กล่าว

ปิดท้ายด้วย นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ปัญหาของสังคมไทยคือทำผิดแล้วไม่ถูกลงโทษ คนตัวเล็กทำผิดถูกไล่บี้เอาเป็นเอาตาย แต่พอเป็นคนมีเงิน-มีอำนาจทำผิดกลับยังลอยนวลอยู่ได้ สังคมจึงไปกันใหญ่เพราะไม่รู้จะอย่างไรกันแน่ โดยสรุปแล้วจึงเป็นเรื่องของสังคมไทยที่มีโครงสร้างแบบนี้ ดังนั้นจะมาจับเรื่องอย่างนี้จึงยากมาก เพราะหากถูกไม่เป็นถูก-ผิดไม่เป็นผิด จะไปต่อให้ถูกก็คงยาก

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเลยคือพฤติกรรมการขับรถ หากใครที่เคยไปขับรถในต่างประเทศ เชื่อว่าพฤติกรรมการขับรถที่นั่นจะแตกต่างจากการขับรถในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง เช่น ระหว่างเมืองห้ามขับเกิน 90 หรือ 110 กม./ชม. แต่ในไทยไม่มีใครขับด้วยความเร็วเท่านี้อย่างแน่นอน แต่พอไปญี่ปุ่นหรือนิวซีแลนด์ กฎหมายให้ขับเร็วเท่าไหนก็เท่านั้น คำถามคือ ในเมื่อเป็นคนคนเดียวกันแต่ขับรถคนละประเทศ อะไรทำให้พฤติกรรมแตกต่างกันได้ขนาดนี้?

“สังคมผมเชื่อว่าเขาดูเรื่องความยุติธรรม พอมันไม่ยุติธรรมเราจะมาทำในเรื่องยากๆ อย่างนี้ แล้วต้องการอะไรที่มันเป๊ะ บ้านเรามันไม่มีอะไรเป๊ะ เมืองไทยไม่มีอะไรเป๊ะ อยู่ที่...ไม่อยากจะพูด เราโทษใครไม่ได้เลยนะ เราต้องโทษทุกคนที่อยู่ในสังคม ทุกคนมีส่วนร่วมที่ทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ถ้าคนที่ทำผิดไม่ผิด แล้วคนที่ทำถูกบางครั้งเผลอนิดเดียวอาจจะผิดนะ แต่มันไม่ใช่เรื่องใหญ่โต เอาเป็นเรื่องใหญ่โตสังคมมันจะงงๆ” นพ.แท้จริง กล่าว

เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้บทสรุปของวงเสวนาครั้งนี้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมแบบหยวนๆ ประนีประนอม สามารถคุยกันได้ แต่คำถามคือเมื่อจะทำอะไรกันจริงๆ จังๆ สามารถทำได้เช่นนั้นหรือไม่? ซึ่งสำหรับตนไม่เชื่อว่าจะทำได้ ตราบใดที่การตรวจวัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ยังมีช่องให้ใช้ดุลพินิจแม้จะไปเกิดอุบัติเหตุชนคนอื่นเสียชีวิตก็ตาม หรือปล่อยให้ผู้ก่อเหตุออกไปก่อน เช้าวันรุ่งขึ้นค่อยมาเป่า เรื่องทำนองนี้สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึงยังมองว่าการเมาแล้วขับรถชนคนตาย ไม่แตกต่างจากการขับรถชนคนตายด้วยสาเหตุอื่นๆ

ซึ่งที่ผ่านมา ตนพยายามเรียกร้อง 3 ข้อ 1.เมาแล้วขับหากทำบุคคลอื่นบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ต้องกำหนดในกฎหมายให้ตรวจแอลกอฮอล์ทุกกรณี หากไม่ตรวจถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ แต่เรื่องนี้ไม่ผ่านการพิจารณาจากสภาฯ 2.ร้านค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องร่วมรับผิดชอบที่ปล่อยคนดื่มแล้วขับไปชนคนอื่นตาย ลองเทียบกับอุตสาหกรรมที่ปล่อยมลพิษสู่สภาพแวดล้อมสาธารณะ ซึ่งผู้รับสารพิษยังไม่ตายทันทียังมีกฎหมายเอาผิดอย่างจริงจัง แต่ร้านค้าที่ปล่อยลูกค้าดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปขับรถชนคนอื่นตายทันทีกลับไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

และ 3.เมาแล้วขับชนคนตายต้องไม่ใช่เรื่องประมาท และต้องติดคุกเท่านั้นไม่มีการรอลงอาญา เพราะหากยังเป็นแบบที่เป็นอยู่ คนดื่มแล้วขับก็ยังรู้ว่าทำไปก็ไม่โดนอะไร จึงกล้าที่จะทำผิด ในขณะที่สังคมประเทศอื่นไม่มีการประนีประนอมกับการเมาแล้วขับ อย่างตนรณรงค์มา 30 ปี
เคยถามคนถูกจับดื่มแล้วขับที่ถูกส่งมาคุมประพฤติให้ทำงานกับมูลนิธิเมาไม่ขับ ทุกคนบอกว่ารู้ว่าไม่ควรดื่มแล้วขับแต่ก็ทำเพราะเชื่อว่ารอด กระทั่งคราวซวยมาถึงจึงถูกจับ และหลังจากนี้ก็อาจจะทำอีก แต่เชื่อว่าหากไปสิงคโปร์คงไม่กล้าทำ เพราะผลที่ตามมามันสูงจนรับไม่ได้!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  • สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน  อุตสาหกรรมการบินของไทย สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมการบินของไทย
  •  

Breaking News

เริ่มแล้ว!!! การแข่งขันเรือใบ Trat Regatta 2025 ระดับนานาชาติครั้งแรกในจังหวัดตราด

'โฆษก​ มท.'แจงแล้ว! ​ปมเรียก​สรรพนาม'คุณลูกค้า'แทน'คุณลุง​-​คุณป้า'

ด่วน!เปิดชื่อ 55 สว. เรียกรับทราบข้อหาปม'คดีฮั้ว' แบ่งเป็น 3 ลอต

ชั้น 14 ส่อวุ่นอีก!!! 'รพ.ราชทัณฑ์'เล็งฟ้องศาลเพิกถอนมติ'แพทยสภา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved