ยังคงอยู่กับวงเสวนา “โอกาสและชีวิตในเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม” ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ 101 PUB โดยเมื่อตอนที่แล้ว (หน้า 5 ฉบับวันเสาร์ที่ 4 พ.ค. 2567) วิทยากร 3 ท่าน ประกอบด้วย สันติธาร เสถียรไทย ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจแห่งอนาคต สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
อิสริยะ ไพรีพ่ายฤทธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายสาธารณะและรัฐกิจสัมพันธ์ Line Man Wongnai และ อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมกันฉายภาพว่าอะไรคือเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม ตลอดจนประโยชน์ที่ภาคธุรกิจได้รับแต่ก็มีผลกระทบกับภาคส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะแรงงาน ส่วนในตอนนี้ยังมีวิทยากรอีก 2 ท่าน ร่วมให้มุมมอง
ณรัณ โพธิ์พัฒนชัย นักกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า “การออกกฎหมายกำกับดูแลแพลตฟอร์มเป็นเรื่องยากมาก” ปัจจุบันมีเพียงสหภาพยุโรป (EU) เท่านั้นที่พยายามทำจนพอจะเห็นเป็นตัวอย่าง เหตุที่เป็นเรื่องยาก เช่น หากเป็นเว็บไซต์แบบเดิม จะเกี่ยวข้องเพียง 2 ด้าน คือผู้ให้บริการกับผู้ใช้บริการ แต่แพลตฟอร์มนั้นอยู่ตรงกลางระหว่างคนอย่างน้อย 2 ฝ่ายที่มาทำกิจกรรมอะไรสักอย่างหนึ่ง ซึ่งหากไปดูกฎหมายแพ่งไม่ว่าที่ใดในโลก ล้วนไม่มีการให้นิยามพลวัต(Dynamic) แบบนี้ไว้
อาทิ เมื่อพูดถึงการทำสัญญา ในความเข้าใจกันคือการทำข้อตกลงระหว่างคน 2 คน เช่น ในตลาด หรือแม้กระทั่งธนาคารที่ดูเหมือนเป็นตัวกลางระหว่างผู้นำเงินมาฝากกับผู้มาขอกู้เงิน แต่ธนาคารนั้นทำสัญญาแยกกันชัดเจนระหว่างผู้ฝากกับผู้กู้ แต่สำหรับแพลตฟอร์ม ทุกๆ กิจกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่สามารถแบ่งแยกสัญญาได้แบบเด็ดขาด นี่คือปัญหาจากช่องว่างของสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ในสังคม และยังไม่มีใครหาทางออกได้ว่าควรจะแก้อย่างไร หรือแม้แต่การจะตอบว่าเป็นการกำกับดูแลหรือไม่ก็ยังตอบได้ยาก
ทั้งนี้ “แพลตฟอร์มไม่ใช่สิ่งใหม่..แต่เทคโนโลยีทำให้ซับซ้อน” เพราะแพลตฟอร์มคือตัวกลางที่ทำให้คนมารวมกันและทำกิจกรรมบางอย่าง ดังนั้น ตลาดแบบดั้งเดิมก็ถือเป็นแพลตฟอร์มประเภทหนึ่ง แต่การมาของเทคโนโลยีทำให้อำนาจต่อรองและบทบาทของบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเปลี่ยนแปลงไป ทำให้การนำวิธีคิดในการกำกับดูแลตลาดแบบดั้งเดิมมาใช้กำกับดูแลแพลตฟอร์มไม่สามารถทำได้เต็มที่ แม้กระทั่งเรื่องของความเท่าเทียม-เป็นธรรม
เช่น ระหว่างแพลตฟอร์มจากต่างประเทศกับแพลตฟอร์มในประเทศ จะทำอย่างไรให้เท่าเทียมกัน? หรือการให้แพลตฟอร์มทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กอยู่ภายใต้มาตรการกำกับดูแลแบบเดียวกันจะมีความเป็นธรรมจริงหรือ? หรือคนที่ทำงานกับแพลตฟอร์ม อาทิ ขับรถรับ-ส่ง ก็มีทั้งคนที่ทำเป็นอาชีพเสริม (Gig Economy) ประเภทมารับงานจากแพลตฟอร์มในช่วงเย็นหลังเลิกจากงานประจำที่เป็นอาชีพหลัก กับคนที่ทำเป็นอาชีพหลักโดยตรงในลักษณะอาชีพอิสระ (Freelance) คนทำงาน 2 กลุ่มนี้ กฎหมายควรกำหนดอำนาจ-หน้าที่เหมือนกันหรือไม่?
“ความยากที่เราถกกัน แล้วถกกันมาเป็นสิบปี ผมแค่อยากจะเริ่มต้นด้วยการบอกว่ามันไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เพราะไม่ใช่ปัญหาที่ประเทศไทยเจอประเทศเดียว มันมี Dynamic หลายด้านมาก แม้กระทั่งในมุมมองกฎหมายเอง เราจะเริ่มต้นจากการมองว่าปัญหาแพลตฟอร์มมันคือ Enabling Issue (ปัญหาการเปิดใช้งาน) Regulation Issue (ปัญหาการกำกับดูแล) หรือมันคือเรื่องของ Digital vs Analog Issue (ปัญหาการปะทะกันระหว่างยุคดิจิทัลกับยุคอนาล็อก)
มันเป็น A little bit of everything (สิ่งละอันพันละน้อย) มันเลยทำให้การออกกฎหมายที่มีจุดประสงค์อย่างเดียวชัดเจนเหมือนเดิมทำได้ค่อนข้างยาก อยากให้เห็นภาพว่าเวลาจะร่างกฎหมายหรือตัดสินใจว่าสังคมจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแพลตฟอร์มนี่บอกได้เลย ชัดเจนว่าเป็นเรื่องใหญ่ของสังคมแน่นอน อยู่มา 10 ปีแล้วแปลว่ามันมี Merit (คุณสมบัติ) แล้วที่สังคมจะเข้าไปเกี่ยว แต่เข้าไปเกี่ยวอย่างไร? มันต้องได้รับความเห็น ได้รับFeedback (เสียงสะท้อน) จากคนในสังคมทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน” ณรัณ กล่าว
นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษา กสทช. เริ่มต้นด้วยคำถามแรก “รัฐมีประสิทธิภาพในการกำกับดูแลหรือไม่?” หากศักยภาพของรัฐไม่ถึงหรือความตั้งใจไม่มีก็ไม่สามารถไปถึงการกำกับดูแลได้ ซึ่ง “เศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็คือนวัตกรรมบวกกับตลาดรูปแบบใหม่” โดยการกำกับดูแลตลาดมีกฎหมายอยู่แล้วดังนั้นก็ต้องไปกำกับนวัตกรรม แต่นวัตกรรมคือเรื่องที่ยังไม่เกิดจึงไม่สามารถออกกฎหมายล่วงหน้าได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องจับตาคือนวัตกรรมที่ออกมามีผลกระทบอะไรที่ต้องออกกฎหมายหรือไม่ หากไม่มีก็ไม่ต้องออก
แต่ในมุมมองของตน “รัฐมีความเฉื่อยในการจับตาปัญหา” จนบางครั้งปัญหาลุกลามบานปลายจนแม้แต่กฎหมายก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากนั้น “รัฐยังทำงานกันแบบแยกส่วน (Silo)” แต่ละหน่วยงานมีกฎหมายของตนเอง แม้กฎหมายบางฉบับจะเขียนให้ทำงานคาบเกี่ยวกันแต่ก็จะไม่มาวิเคราะห์ร่วมกัน รวมถึง “หากเพิ่มงานแต่ไม่เพิ่มรายได้..เจ้าหน้าที่รัฐจะมองว่าเป็นการเพิ่มความรับผิดแต่ไม่เพิ่มความรับชอบ” เพราะลำพังงานเดิมของแต่ละหน่วยงานก็มากอยู่แล้วอีกทั้งงบประมาณก็มีจำกัด งานใหม่จึงถูกมองว่าทำพลาดก็แย่แต่ทำดีก็แค่เสมอตัว
ดังนั้น “วิธีคิดแบบรัฐไทยคือออกกฎหมายใหม่และตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมา..ซึ่งก็ตามด้วยคำถามว่าออกมาแล้วเกิดประโยชน์จริงหรือเปล่า?” หรืออย่างที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า “รัฐไทยเก่งแต่กับคนที่อยู่ในไทย..แต่ไปไม่เป็นเมื่อเจอต่างชาติ” แพลตฟอร์มไทยกำกับได้หมดแต่ทำอะไรแพลตฟอร์มต่างชาติไม่ได้เลย “การตีความกฎหมายก็มีคำถามเรื่องความเหมาะสม” ในการหาทางปรับใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่ หากเจ้าหน้าที่ไม่อยากทำก็จะตีความกฎหมายอย่างแคบตามตัวบทแล้วก็บอกว่าไม่ครอบคลุม แต่หากอยากทำก็จะตีความได้กว้างเกินตัวบทไปอีก
“อีกประเด็นของผม ประเทศไทยมีอันหนึ่งซึ่งเป็นเหมือนกับสิ่งต้องห้าม คือการสนับสนุนเอกชน โจทย์หนึ่งก็คือถ้าเราสนับสนุนเอกชนปุ๊บจะโดนข้อหาทางการเมืองคือเอื้อเอกชน อันที่สอง ปกติใช้เงินงบประมาณห้ามล้มเหลว ถ้าสนับสนุนแล้วล้มเหลวต้องมีผู้รับผิดชอบ ทั้งที่เรารู้อยู่แล้วว่าสตาร์ทอัพโอกาสสำเร็จมันไม่เกินครึ่งด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าไปดูกองทุนต่างๆ ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งจะสนับสนุนเฉพาะคนที่มักคุ้น หรือคนที่ได้รับใบสั่งมา
เพราะถ้าคนไม่มักคุ้น สนับสนุนไปล้มเหลวเราซวย กรรมการที่อนุมัติซวย กองทุนแต่ละกองทุนก็จะมีประสิทธิภาพจำกัดทั้งที่เราออกแบบมาให้สามารถสนับสนุนอะไรที่มันเกิดประโยชน์กับรัฐดังนั้นเราจะพบว่าพวกแนวคิดเหล่านี้มันมัดตราสังหน่วยงานรัฐไว้ระดับหนึ่ง” นพ.ประวิทย์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี