กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จัดกิจกรรม EXCLUSIVE TALK “เปิดเทอม เด็กหลุดจากระบบ วิกฤตที่ต้องจบ” ณ ลานกิจกรรม ชั้น 13 กสศ. อาคารเอส พีทาวเวอร์ เมื่อวันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งขับเคลื่อนเป้าหมายและแนวทางในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ ‘Thailand Zero Dropout’
โดยข้อมูลจากของศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา ยังคงเชื่อมโยงกับเรื่องค่าใช้จ่ายช่วงเปิดภาคเรียน รายได้ของผู้ปกครอง และอัตราเงินเฟ้อที่ยังเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งนี้ รวมค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองมีค่าใช้จ่ายปีที่แล้วอยู่ที่ 19,507 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,322 บาท เพิ่มขึ้น 29.81% ค่าใช้จ่ายที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเด็กในครอบครัวที่ยากจน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยจำนวนหนึ่ง อาจจะตัดสินใจที่จะไม่ส่งลูกหลานเข้าเรียนต่อในโรงเรียน
ทั้งนี้ ยังพบอีกว่า ตัวเลขนักเรียน ซึ่งเข้าเรียนการศึกษาขั้นพื้นฐาน ป.1- ม.3 จากทุกสังกัด ประมาณ 2.8 ล้านคน เมื่อเชื่อมโยงข้อมูลของ EDC - Education Data Center สำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และสำนักทะเบียนราษฎร์กระทรวงมหาดไทย พบเด็กและเยาวชนหลุดออกจากระบบการศึกษา ปี 2566 สะสมประมาณ 1.02 ล้านคน โดยเด็กในกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่ง มาจากเด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เด็กที่เข้าเรียนแต่หลุดจากระบบแล้ว เด็กที่เข้าเรียนล่าช้า เด็กกลุ่ม “ตกหล่น” ทั้งจากช่วงชั้นประถมและมัธยมต้น และกลุ่มเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนเลย
นอกจากนี้ จากผลการติดตามแนวโน้มการเรียนต่อของนักเรียนทุนเสมอภาค ช่วงชั้นรอยต่อปีการศึกษา 2/2566 - 1/2567 ซึ่งอยู่ในการดูแลของ กสศ. จำนวน 326,139 คน พบว่า มีเด็กทุนอย่างน้อย 241,332 คน หรือประมาณ 72.2% ที่มีแนวโน้มศึกษาต่อ และมีเพียงอย่างน้อย 5,838 คนหรือประมาณ1.7% มีแนวโน้มไม่ศึกษาต่อ โดยระบุเหตุผลที่ไม่เลือกเรียนต่อเพราะ 3 สาเหตุแรก คือ เป็นความต้องการส่วนตัวหรือครอบครัว 1,546 คน เป็นเหตุผลด้านการเรียน 1,140 คน เหตุผลด้านการทำงาน 1,063 คน และยังมีเหตุผลด้านอื่นๆ เช่น ด้านทุนทรัพย์ สุขภาพ ศาสนา และที่อยู่อาศัย
“หากเห็นตัวเลขจำนวนเด็กตกหล่น ปี 2566 สะสมประมาณ 1.02 ล้านคน อาจจะดูน่าตกใจ เหมือนเป็นปริมาณที่น่ากลัว แต่เมื่อพิจารณาตัวเลขเด็กนอกระบบในแต่ละจังหวัด เทียบกับจำนวนประชากรวัยเรียนในพื้นที่แล้วจะ พบว่า เกือบทุกจังหวัดมีอัตราส่วนเด็กนอกระบบเป็นตัวเลขหลักเดียว มีเพียงพื้นที่เดียว คือ กรุงเทพมหานคร ที่มีเด็กนอกระบบสูงถึง 13.43% หรือประมาณ 137,704 คน”
ข้อสังเกตจากจังหวัดที่มีตัวเลขเด็กกลุ่มนี้สูง พบว่า สอดคล้องกับปัจจัยต่างๆ เช่น ขนาดของจังหวัด เป็นจังหวัดที่มีการจ้างงานสูง มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างโต
เป็นพื้นที่ที่มีโอกาสหางานทำได้มาก เป็นจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของแต่ละภูมิภาค ซึ่งผู้ปกครองเด็กมักจะเดินทาง ไปหางานทำในจังหวัดเหล่านี้ เช่นเดียวกับเหตุผลที่ทำให้ตัวเลขในพื้นที่กรุงเทพมหานครสูง เพราะเป็นพื้นที่ที่ต้องรองรับความต้องการด้านการศึกษาของจังหวัดที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้กรุงเทพมหานคร เหมือนมีหลายจังหวัดทับซ้อนอยู่
อย่างไรก็ตาม เชื่อมั่นว่า กรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัด มีศักยภาพ ในการช่วยเหลือและดูแลเด็กกลุ่มนี้ โดยเสนอให้มองปัญหานี้เป็นปัญหาระดับประเทศที่สามารถแก้ไขร่วมกันได้ สามารถจัดการได้ ในระดับจังหวัด และดำเนินการได้ในระดับชุมชน ผ่านการติดตามปัญหาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง มีการออกแบบกลไกรายจังหวัด สนับสนุนให้แต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนซึ่งรู้จักทุกคนในชุมชน รู้จักครอบครัวเด็กทุกบ้าน ออกไปเคาะประตูบ้านของนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา เพื่อทราบปัญหาซึ่งอาจจะมีความซับซ้อนด้านต่างๆ อย่างเช่น มีเงื่อนไขชีวิตที่ลำบากมากขึ้น ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อย ครอบครัวขาดแคลน หรือมีภาวะไม่พร้อมอยู่ร่วมในชั้นเรียน นำมาออกแบบแนวทางในการแก้ไขที่ตรงจุด ผ่านความร่วมมือจากสหวิชาชีพของแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสในการพาพวกเขากลับมาเรียน และหามาตรการไม่ให้หลุดจากการศึกษาซ้ำอีก
การแก้ไขปัญหาเด็กเสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา สามารถออกเป็นคำสั่งเพื่อกำชับถึงความจำเป็นเร่งด่วนของปัญหาให้แต่ละพื้นที่จัดการได้ เพราะโรงเรียนมีศักยภาพพร้อมที่จะแก้ไขเรื่องนี้อยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะยังขาดการยืนยันมาตรการต่างๆ จากกระทรวง เช่น ประกาศการผ่อนปรนด้านเครื่องแบบนักเรียนที่ กระทรวงศึกษาธิการ เพิ่งประกาศไป รวมถึงแนวคิด 1 โรงเรียน 3 รูปแบบ ที่เอื้อให้โรงเรียนออกแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น ให้นักเรียนมีโอกาสจบการศึกษา แม้ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ โรงเรียนต้องยืดหยุ่นมากพอที่จะโอบอุ้มเยาวชนทุกรูปแบบ ได้ที่ให้พื้นที่ปลอดภัย ว่าไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย มีช่องว่างในการหายใจ และยังสามารถช่วยให้ลูกหลานอยู่ในระบบการศึกษาต่อไปได้
ดร.ไกรยส กล่าวว่า โลกยุคใหม่เปลี่ยนแปลงเร็ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดการศึกษาได้ตามโจทย์ปัญหาของชุมชนและตัวผู้เรียน ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นกัน มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งคาดว่าในเร็วๆ นี้ จะเป็นกุญแจดอกแรกในการพิจารณามาตรการต่างๆ ที่เหมาะสม และมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานคณะกรรมการติดตามเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยจะส่งผลให้ในทุกต้นเทอม ทุกโรงเรียน ทุกจังหวัด จะมีระบบการติดตามผู้เรียน และฟื้นฟูเด็กเตรียมความพร้อมการเข้าเรียนใหม่อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
“การช่วยเหลือเด็กนอกระบบถือเป็นหลักกิโลเมตรสุดท้ายของการศึกษาไทย จึงถือเป็นงานที่ยากที่สุด แต่หน่วยงานต่างๆ กำลังพยายามนำเขากลับมาสู่ระบบการศึกษาให้ได้ โครงการ Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงเด็กทุกคนจะกลับเข้าระบบการศึกษา แต่หมายถึงว่า เด็กทุกคน ซึ่งแม้จะยังไม่พร้อมกลับเข้าระบบ พวกเขาก็จะยังอยู่ในเรดาร์ ที่จะถูกค้นพบได้ หน่วยงานของรัฐรู้ว่าจะหาเด็กกลุ่มนี้ ได้จากที่ไหนและช่วยให้เด็กทุกคนมีแผนมีเส้นทางกลับเข้ามาสู่ระบบการศึกษาได้ พวกเขาอาจจะอยู่ในขั้นตอนรอฟื้นฟูเพื่อเริ่มเข้าเรียนใหม่ นั่นคือปลายทางของ Zero Dropout ที่ทุกฝ่ายตั้งใจให้เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะลดจำนวนทั้งหมดลงได้ในคราวเดียว”
ผู้จัดการ กสศ. กล่าวทิ้งท้ายว่า กระบวนการนี้ อาจจะทำให้ได้บทเรียนมากมาย ที่จะทำให้เราเข้าใจปัญหานี้ในแง่มุมสำคัญๆ มากขึ้น โดยมีเป้าหมายลดจำนวนเด็กนอกระบบให้เหลือน้อยลงสัก 2-3 แสนคน เป็นวิสัยที่สามารถทำได้ทันภายในสมัยรัฐบาลชุดนี้ แต่ต้องทำทันที เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยจะไม่สามารถหลบเลี่ยงปัญหาเด็กที่กำลังเกิดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อจำนวนแรงงานและการแข่งขันของประเทศในอนาคตตามไปด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี