ประเทศไทยมีการขยายตัวของความเป็น“เมือง” มาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 (ปี 2503-2512) ขณะที่สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ระบุว่า ปี 2050 (2593) ไทยจะมีประชากรเพิ่มขึ้นอีก 11 ล้านคน และอนาคตของประชากรไทยร้อยละ 73 จะกลายเป็นคนเมือง แต่ในความเจริญก้าวหน้าของเมืองใหญ่ ก็ทำให้เกิดปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” ช่องว่างในสังคมของกลุ่มที่ถูกเรียกว่า “คนจนเมือง” ในการเข้าถึงสิทธิต่างๆ
ด้วยเหตุนี้ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงพยายามทำงานขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะชุมชนเมือง เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำโดยใช้หลัก SII ในการขับเคลื่อนงาน ทั้งการจัดการพื้นที่ (Systematization), การสร้างและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Creation)และทำให้เกิดการบูรณาการภายในชุมชนท้องถิ่นและหน่วยงานสนับสนุนภายนอก (Integration and Collaboration)
ดังที่ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด กล่าวถึง “เป้าหมายขับเคลื่อนสร้างสุขภาวะชุมชนเมืองที่ดี ให้ร้อยเอ็ดเป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน” โดยมียุทธศาสตร์ที่มุ่งสู่ “การมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคง” กล่าวคือ มีบ้าน มีสุขภาวะที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง อยู่ในสังคมอย่างมีความสุขมีความเท่าเทียมกันของโอกาสในการรับบริการด้วยจุดยืนที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
นุชากร มาศฉมาดล รองนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด ระบุว่า เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด พัฒนาสุขภาวะชุมชนเมืองให้เป็นรูปธรรม 8 ประเด็น ได้แก่ 1.ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พัฒนาพื้นที่ลานกีฬาเอ็กซ์ตรีม (Extreme) เพื่อเยาวชน ฝึกอบรมและแนะนำทักษะการเล่นกีฬา Extreme โดย เด็ก เยาวชนและประชาชนทุกกลุ่มได้มีโอกาสเล่นกีฬาและออกกำลังกาย เกิดสนามเด็กเล่นสร้างปัญญา เป็นการเพิ่มพื้นที่สาธารณะเพื่อการออกกำลังกายสำหรับคนทุกวัย
2.ป้องกันและควบคุมมลพิษจากสิ่งแวดล้อม เกิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอินทรีย์ชุมชน ทำให้ขยะอินทรีย์ในชุมชนลดลงร้อยละ 20 ต่อยอดสู่การอบรมมัคคุเทศก์ สำรวจเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษาร้อยเอ็ด เกิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ โดยคนในพื้นที่เป็นผู้ออกแบบแผนที่ท่องเที่ยวด้วยตัวเอง โดยบูรณาการการมีส่วนร่วมทั้งท้องถิ่น ท้องที่เอกชน ประชาชน ทั้ง สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดร้อยเอ็ดและบริษัทสแปน คอนซัลแตนท์ จำกัด ออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวปลอดภัยร่วมกันกับคนในชุมชน
3.ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอาหารปลอดภัย มีการส่งเสริมกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารประจำถิ่น ทำหมี่กรอบ เลี้ยงกบในกระชัง เกิดชุมชนต้นแบบปลูกผักปลอดสารพิษจำนวน 95 ครัวเรือนกระจายอยู่ใน 6 ชุมชนเมือง เกิดตลาดนัดชุมชนเมือง ในการจำหน่ายสินค้าจากโครงการปลูกผักปลอดสารพิษจำนวน 3 ชุมชน และมีการทำแผนดำเนินงาน ถอดบทเรียนและขยายผลไปยังชุมชนอื่น ครอบคลุม 20 ชุมชน
4.พัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัย เกิดระบบพัฒนาคุณภาพเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ทั้งการพัฒนาศักยภาพของ อสม. และผู้ปกครอง โดยจัดการฝึกอบรมทักษะความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการส่งเสริมพัฒนาการการเจริญเติบโตของเด็ก พร้อมทั้งจัดทำข้อมูลเด็กปฐมวัย 0-5 ปี ในชุมชนมั่นคงพัฒนา และจัดตั้งศูนย์พัฒนาระบบการดูแลเด็กปฐมวัยในชุมชนขึ้น นอกจากนั้น ยังเกิดสนามสามวัย ที่หมู่บ้านมั่นคงพัฒนา เป็นพื้นที่ให้คนในชุมชนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน
5.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน เกิดกิจการร้านเสริมสวย กิจการร้านร้อยพวงมาลัย ช่างยนต์ ขึ้นจากการฝึกประสบการณ์วิชาชีพให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา ในเขตเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ทำให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ 6.สร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุ เกิดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เรื่อง “สมุนไพรกับผู้สูงอายุ”เพื่อลดการอักเสบและการปวดข้อเข่า และมีการติดตั้งรอกออกกำลังกายที่บ้าน ให้แก่ผู้สูงอายุในพื้นที่ มีศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุในเขตเทศบาล
7.เฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ ทั้งการจัดทำแปลงปลูกพืชสมุนไพรป้องกันโรค ในชุมชน 4 ชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มสมุนไพรป้องกันโรค โดยมีผลิตภัณฑ์ เช่น สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง โลชั่นกันยุง โดยใช้วัตถุดิบที่ปลูกเองในชุมชน 8.ควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ทั้งการกำหนดพื้นที่ห้ามสูบ สำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของครัวเรือน ร้านค้า ร้านชำ และสถานที่สาธารณะ พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพแกนนำจิตอาสาพาเลิกบุหรี่ อสม.ช่วยเลิกบุหรี่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ติดป้ายห้ามสูบบุหรี่ในร้านค้า ร้านชำให้ปฏิบัติตามกฎหมายในทั้ง 20 ชุมชน
สมศักดิ์ เศรษโฐ นายกเทศมนตรีตำบลสุวรรณภูมิ อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ที่เข้าร่วมเครือข่ายขับเคลื่อนงานสร้างเสริมสุขภาพไปกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดและอีก 2 พื้นที่ กล่าวว่า เทศบาลตำบลสุวรรณภูมิทำเรื่องการสร้างสุขภาวะชุมชนทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ อสม. กรรมการชุมชน สภาเด็กและเยาวชน ฯลฯ มีทั้งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เรามีกองทุนส่งเสริมสุขภาพ เพื่อทำให้เกิดกิจกรรมที่หลากหลายในชุมชน
สุภาพร จันทร์ศรี รองนายกเทศบาลตำบลเมืองสรวง อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า เทศบาลตำบลเมืองสรวงทำ 4 เรื่องหลักควบคู่ไปกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด โดยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งการส่งเสริมสุขภาพทางกาย, อาหารปลอดภัย, การพัฒนาเด็กและการดูแลพัฒนาผู้สูงอายุ โดยทำงานร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ให้พี่น้องชาวบ้านมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น ในการออกแบบกิจกรรมที่เขาต้องการ จากนั้นเขาจะต่อยอดสิ่งเหล่านั้นให้ยั่งยืนเอง
ชุติมา แนบชิตร์ นักพัฒนาชุมชนชำนาญการ เทศบาลตำบลเสลภูมิ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กล่าวถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในการยกระดับบริการสาธารณสุข สู่ชุมชนสุขภาวะว่า จากการทำงานตลอดระยะเวลาที่ผ่าน พบว่า รั้วที่ดีไม่ใช่รั้วคอนกรีต รั้วที่ดีคือชุมชน หากเราสร้างเพื่อนบ้านที่ดี สร้างเครือข่ายที่ดีในการทำงานร่วมกัน สร้างสังคมที่เกื้อกูล มีน้ำใจซึ่งกันและกัน ประชาชนในเมืองจะมีความสุข ตามเป้าหมายในการสร้างร้อยเอ็ดที่น่าอยู่
ด้าน นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) สสส. เปิดเผยว่า สสส. ทำงานกับเทศบาลเมืองร้อยเอ็ดกว่า 3 ปี ซึ่ง จ.ร้อยเอ็ด เป็นพื้นที่นำร่อง 1 ใน 7 แห่งของการร่วมขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนเขตเมือง โดย สสส.พยายามขับเคลื่อนภายในยุทธศาสตร์หลักสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขาที่ใช้ทั้ง พลังวิชาการ พลังสังคม พลังนโยบาย ให้ร้อยเอ็ดเป็นพื้นที่นำร่อง ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพเสริมพลังภาคีเครือข่าย หนุนเสริมให้เทศบาลร้อยเอ็ด ก้าวจากเมืองน่าอยู่สู่เมืองสุขภาวะแห่งความยั่งยืนไปด้วยกัน
สมพร ใช้บางยาง ประธานเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ทิ้งทายการขับเคลื่อนสุขภาวะชุมชนเขตเมืองว่า นี่คือเป็นก้าวแรกของความท้าทายต่อไป ที่อยากชวนทุกคนจะร่วมไม้ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกัน ในการขับเคลื่อนให้เมืองร้อยเอ็ดเป็นเมืองสุขภาวะสำหรับทุกคน โดยน้อมนำเอาศาสตร์พระราชาเพื่อการพัฒนาเมืองน่าอยู่อย่างยั่งยืน มาปรับใช้ให้เมืองร้อยเอ็ดเติบโต และพัฒนาด้วยคนร้อยเอ็ดเองต่อไป!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี