“ผู้สูงอายุมีจำนวนมากขึ้นตั้งแต่หลักร้อย วันนี้ขึ้นมาเกือบ 2,000 คนแล้ว ตำบลห้วยงูมีผู้สูงอายุเกือบ 30% ใน 100 คน เดินมามีผู้สูงอายุ 27 คน การบริหารจัดการอย่างไรทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมัยก่อนการบริหารจัดการจะเป็นแบบแนวดิ่ง แต่ทุกคนในบ้านจะต้องมีผู้สูงอายุ เราจะทำอย่างไร? จะไปสั่งการแต่ละหน่วยงานให้ขึ้นมาดูแลผู้สูงอายุพร้อมกันอย่างไร? แต่ธงของแต่ละครอบครัวเขาต้องดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวอยู่แล้ว พ่อแม่ปู่ย่าตายาย ทำให้ตำบลห้วยงูเล็งเห็นว่าบริหารอย่างไรถึงจะมีการบริหารไปทิศทางเดียวกัน”
อรวรรณ เศรษฐพงษ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้วยงูบอกเล่าในงานประชุมวิชาการ Mini-Symposium)“สานพลังไทยรับมือสังคมสูงวัยไปด้วยกัน (Smart Aging Society : Together, We can)” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2567 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ถึงการเกิดขึ้นของ “บริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงู’ กลไกในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่
กลไกนี้อาศัยความร่วมมือกันของ 4 ฝ่าย คือ 1.ท้องถิ่น คือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2.ท้องที่ ฝ่ายปกครอง 3.ท้องทุ่ง คือภาคประชาชนในพื้นที่ เช่น ชมรมผู้สูงอายุ กองทุนสวัสดิการชุมชน และ 4.ท้องท่าน คือหน่วยงานราชการในพื้นที่ เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ทั้งนี้ หากเป็นบริษัทโดยทั่วไป ผลกำไรจะอยู่ที่เงินหรือทรัพย์สิน แต่บริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงูนั้นอยู่ที่คุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขของผู้สูงอายุ
อดิศักดิ์ วรวิชวลิตวัชระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ห้วยงู ยกตัวอย่างการทำงานอย่างครบวงจรของบริษัทสร้างสุขตำบลห้วยงู 1.อาคารสถานที่ โรงเรียนผู้สูงอายุซึ่งได้รับงบประมาณก่อสร้าง 10 ล้านบาทจากรัฐบาล เป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างโดยยึดหลักอารยสถาปัตย์ 2.การเดินทาง คนในชุมชนเป็นผู้ระบุจุดเสี่ยงและทำป้ายเตือน มีจิตอาสาขับรถตู้รับ-ส่งผู้สูงอายุทำกิจกรรมในพื้นที่ 3.ที่อยู่อาศัย ใช้งบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อปรับปรุงบ้านเรือนที่มีผู้สูงอายุ
4.การรวมกลุ่มทำกิจกรรมทางสังคม โดยทั่วไปเมื่อผู้นำหรือผู้บริหารในพื้นที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ มักจัดแบบแยกกัน เช่น วันเด็กไม่มีผู้สูงอายุ วันผู้สูงอายุก็ไม่มีเด็ก แต่หากผู้บริหารเห็นความสำคัญก็จะจัดกิจกรรมแบบรวมคนทุกช่วงวัย 5.การให้ความเคารพและยอมรับ เทศบาลตำบลห้วยงู ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุจากชมรมผู้สูงอายุเข้ามาร่วมในคณะกรรมการศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ (ศพ.อส.) และโรงเรียนสร้างสุขผู้สูงอายุ
6.การเข้าร่วมทางสังคม เช่น การส่งเสริมอาชีพ จัดตั้งตลาดชุมชน 7.การให้ข้อมูลและการสื่อสารสืบเนื่องจากผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในชุมชนมาก เช่น เวทีประชาคมหมู่บ้าน ที่ 1 ใน 3 ของผู้เข้าร่วมเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นการจัดทำป้ายหรือเอกสารประกอบจะต้องมีขนาดใหญ่ขึ้น และ 8.สาธารณสุข ปัจจุบันมองไปถึง “สถานชีวาภิบาล”ซึ่งเทศบาลตำบลห้วยงู ได้รับโอกาสจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ
“เป็นสถานชีวาภิบาลที่บริหารจากเทศบาล ไม่ได้เกิดจากกุฏิชีวาภิบาล เราไม่ได้เกิดจากการดูแลแบบบุญแบบทาน แต่เป็นการดูแลใช้งบประมาณภายใต้การบริหารจัดการของเทศบาล ดังนั้น เราเป็นสถานชีวาภิบาลต้นแบบของ สปสช. ที่อยู่ภายใต้การบริหารงบประมาณของรัฐบาล สิ่งที่เรากำลังเห็นก็คือวาระสุดท้ายของชีวิตของผู้สูงอายุมักเกิดกับทุกที่ บางที่บางบ้านไม่พร้อมจะต้อนรับ เราจะมีสถานชีวาภิบาลอยู่ที่ภายใต้ศูนย์การดูแล ที่จะบริหารจัดการประเด็นนี้” อดิศักดิ์ กล่าว
จาก จ.ชัยนาท ในภาคกลาง ลงใต้ไปถึง จ.สงขลา ซึ่งนพ.เดชา แซ่ลี้ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเทพา เล่าว่า แม้ในช่วงที่เริ่มดำเนินการ อ.เทพา จ.สงขลา จะยังไม่เข้าสู่สังคมสูงวัย แต่ก็ได้เตรียมการรับมือแล้ว ผ่านการทำงานที่มีแผนกลยุทธ์ที่ชัดเจน อาทิ “ความรู้เท่าทันสุขภาพ (Health Literacy)” ซึ่งทุกคนต้องดูแลตนเอง มีการสร้างผู้สูงอายุที่เป็นต้นแบบ ทำให้ผู้สูงอายุในพื้นที่กลับมาดูแลสุขภาพมากขึ้น
และแน่นอนว่า “เครือข่ายเป็นสิ่งสำคัญ” ในพื้นที่มีพลังอยู่แล้วแต่ต้องแสวงหาความร่วมมือ เช่น นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในการเป็นแกนนำ อาทิ อดีตครูหรือบุคลากรสาธารณสุขที่เกษียณอายุ วิทยาลัยชุมชนสำหรับจัดหลักสูตรอบรม
ผู้ดูแลผู้สูงอายุ (Caregiver) โดยร่วมกับกรมอนามัย เพราะลำพังจะให้บุคลากรสาธารณสุขดำเนินการฝั่งเดียวไม่เพียงพอ
แต่สิ่งที่เป็นตัวแปรสู่ความสำเร็จคือ “การปรับวิธีคิด (Mindset)” ของคนทำงาน กล่าวคือ “หากมีเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจก็จะทำให้เกิดความมุ่งมั่น” ซึ่งกระบวนการที่ทางทีมของเทพาใช้ มาจาก รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ ที่ให้ความสำคัญกับ “การเรียนรู้ด้วยการไปเห็นของจริง” โดยที่ อ.เทพา จัดกระบวนการเรียนรู้แบบสหวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ปลัดตำบล มาเรียนร่วมกัน
“มีตา-ยาย 2 คน มองไม่เห็น วันที่ไปเยี่ยมบ้าน ตา-ยายกำลังกินข้าวที่เป็นข้าวบูด แล้วการที่มองไม่เห็นก็เสี่ยงกับอุปกรณ์ต่างๆ ไฟช็อตไฟรั่ว คุณตาก็เดินไม่ได้เพราะตกจากบันไดที่ผุพังแล้วขาหัก ตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นว่าถ้าเราไม่ขยับ แม้เราจะบอกว่าสังคมที่เราอยู่เป็นสังคม
พหุวัฒนธรรม สังคมมุสลิมน่าจะเป็นครอบครัวใหญ่ แต่จริงๆ อาจจะไม่ใช่อย่างนั้น ยังมีปู่ย่าตายายที่อยู่ในพื้นที่และเจอความลำบาก
ครอบครัวที่ไปดูนี้เขาเคยเอ่ยกับทีม อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน) ของเราว่า ช่วยขุดหลุมให้พอดีตัวเขา แล้วเดี๋ยวเขาจะนอนลงไป แล้วช่วยเอาดินกลบด้วย เขาไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว ทั้งๆ ที่เป็นสังคมมุสลิม แต่สิ่งที่ได้มาหลังจากที่เราเข้าไปพูดคุย เขามีลูกหลานนะ 6-7 คน บอกว่าช่วยแบ่งสมบัติให้หน่อย แต่ยา-ยายยังไม่ได้แบ่งเพราะคิดว่ายังไม่ถึงเวลา หลังจากนั้นลูกหลานก็ไม่มาเลย” นพ.เดชา เล่าถึงเรื่องราวที่พบและทำให้ตัดสินใจเอาจริงเอาจังกับการขับเคลื่อนงานด้านผู้สูงอายุ
หนึ่งในการดำเนินการและประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม คือ “การตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคตาในกลุ่มผู้สูงอายุ”พร้อมประสานจักษุแพทย์เข้าไปผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืน จากนั้นกลับไปพักรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งนับตั้งแต่ 2559 เป็นต้นมาที่เริ่มโครงการ มีผู้สูงอายุได้รับการผ่าตัดดวงตาไปแล้วราว 1,400 ราย ทำให้ผู้สูงอายุที่ตาฝ้าฟางกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น “ผู้สูงอายุบางคนผ่าครบ 2 ข้าง จากเดิมต้องให้ลูกหลานมาดูแลก็กลายเป็นไปช่วยเหลือลูกหลานได้” นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชั่นขึ้นเองในพื้นที่เพื่อทำระบบดูแลสุขภาพ
มีความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ (มอ.หาดใหญ่) วิทยาลัยชุมชนและ กศน. อบรมทักษะการดูแลผู้สูงอายุ จนเกิดเป็นเครือข่าย Caregiver เต็มพื้นที่ มีการตรวจคัดกรองผู้สูงอายุที่ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และติดตามผลการดูแลตนเองของผู้สูงอายุที่ป่วย เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิต รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงพลัดตกหกล้ม โดยทำงานร่วมกับชมรมผู้สูงอายุ
“คนที่เข้าชมรมผู้สูงอายุในอำเภอเทพา ไม่มีภาวะพลัดตกหกล้ม Stroke (โรคหลอดเลือดสมอง) STEMI (โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ชนิดหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน) ไม่เกิด เพราะเราปรับวิธีคิดทีมวิชาชีพ เภสัชกร นักโภชนาการ นักกายภาพ จะต้องไปแนะนำอย่างไรจนทำให้เราสามารถนำเสนอได้ว่าเราไปทำแล้วเกิดผลลัพธ์อย่างไร” นพ.เดชา กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี