“โจรสลัด พวกที่ใช้ชีวิตอยู่ในทะเลพวกที่ดักจี้ปล้นเรือที่ออกไปจากฝั่ง โจรสลัดเป็นฮีโร่ของเด็กๆ เราจะเห็นว่าหนังหลายเรื่องโจรสลัดเป็นพระเอก แล้วก็เป็นพระเอกในแง่มุมที่ว่าเขาใช้ชีวิตอยู่บนความยากลำบาก คนที่ออกไปในทะเลในสมัยก่อนเหมือนกับเข้าสู่แดนประหาร เพราะว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะเสียชีวิตได้มากพอๆ กับนักโทษประหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เกิดความเจ็บป่วยในเรือ มันก็จะแพร่ระบาด”
น.อ.เกียรติยุทธ เทียนสุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกรมยุทธการทหารเรือ กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง “หลักกฎหมายว่าด้วยอาณาเขตทางทะเล” ที่กรมยุทธศึกษาทหารเรือ ย่านศาลายา จ.นครปฐม เมื่อช่วงต้นเดือนธ.ค. 2567 ที่ผ่านมา บอกเล่าเรื่องราวของคนที่ตัดสินใจ “ออกทะเล” นับตั้งแต่สมัยโบราณ โดยยกตัวอย่าง “โจรสลัด”ในฐานะปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “ทหารเรือ”ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกลุ่มคนเหล่านี้
ทั้งนี้ “ด้วยความที่มนุษย์ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ..หากไม่มีแรงกดดันมากพอก็จะไม่ตัดสินใจออกทะเล” เช่น ดินแดนที่ปัจจุบันเป็นประเทศไทยนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ แม้จะมีพื้นที่ติดทะแลถึง 2 ด้านแต่ผู้คนก็ไม่ค่อยจะออกไปลึกมากนัก ในขณะที่ดินแดนที่ปัจจุบันคือประเทศอย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่นนั้นทรัพยากรบนแผ่นดินนั้นมีจำกัด ผู้คนจึงจำเป็นต้องออกไปแสวงหาทรัพยากรในทะเลแม้จะรู้ว่าเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตก็ตาม
กล่าวคือ หากเป็นการเดินทางบนบก อย่างน้อยก็ยังมองเห็นเส้นทาง แต่ในทะเลนั้นบางครั้งผืนน้ำก็ราบเรียบ แต่บางครั้งคลื่นลมก็แรงขนาดที่แม้แต่เรือลำใหญ่ๆ ก็ยังถูกซัดให้จมลงได้ “การออกทะเลของมนุษย์จึงต้องประกอบด้วย 2 สิ่ง คือ 1.ความกล้าของคน กับ 2.ความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมการเดินเรือ” ดังนั้นคนในประเทศที่ทรัพยากรบนบกอุดมสมบูรณ์อยู่แล้ว บวกกับไม่มีขีดความสามารถในการต่อเรือสำหรับแล่นในห้วงน้ำลึกก็จะไม่มีแรงขับเคลื่อนมากพอที่จะหาทางใช้ทรัพยากรจากทะเล อย่างมากก็เพียงก็ออกไปไม่ห่างจากชายฝั่ง
น.อ.เกียรติยุทธ เล่าต่อไปว่า กองทัพเรือยุคแรกๆ ของมนุษยชาติ ยุทธวิธีการรบจะเน้นการใช้หัวเรือที่ออกแบบให้แหลมพุ่งชนเรืออีกฝ่ายให้จม “การปฏิวัติครั้งสำคัญด้านการรบทางน้ำ คือการที่มนุษย์สามารถออกแบบเรือที่ติดตั้งปืนใหญ่ได้” โดยเริ่มจากบรรดารัฐชาติต่างๆ ในทวีปยุโรปเมื่อราว 400-500 ปีก่อน และนี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวยุโรปออกไปล่าอาณานิคมได้ทั่วโลกโดยที่อาณาจักรในทวีปอื่นๆไม่อาจต่อต้าน
อนึ่ง เมื่อมนุษย์เข้าสู่ยุคที่ปืนใหญ่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายไม่ว่าบนบกหรือในทะเล ก็ทำให้เกิด “กฎระยะยิงของปืนใหญ่ (Cannon Shot Rule)” ขึ้น กล่าวคือ “รัฐ (อาณาจักรหรือประเทศ) จะถืออาณาเขตทางทะเลในระยะยิงไกลสุดของปืนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนฝั่ง” ซึ่งโดยทั่วไปคือ 3 ไมล์ทะเล แต่สำหรับรัฐที่มีกองทัพเรือที่มีเทคโนโลยีสูงกว่าก็อาจใช้กำลังไปบีบบังคับรัฐอื่นๆ ที่มีขีดความสามารถด้อยกว่าได้ โดยเรียกว่า“การทูตแบบเรือปืน (Gunboat Diplomacy)” เช่น กดดันให้เปิดประเทศหรือเจรจาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
“เมื่อก่อนเราเชื่อว่าทะเล ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรหรืออะไรก็ตามเหลือเกิน ไม่ว่าชาติไหนๆ ก็ไม่สามารถทำลายทะเลได้ จะมีแต่ออกไปแล้วโดนทะเลทำลายเท่านั้นเอง ทีนี้ก่อนมีกฎหมายทะเล ปรากฏว่าการที่ประเทศต่างๆ ยึดถือเสรีภาพของการใช้ทะเลกลับนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง เกิดข้อพิพาท ยกตัวอย่างสงครามปลาคอด (Cod Wars) ระหว่างไอซ์แลนด์กับอังกฤษ
เพราะไอซ์แลนด์จากที่เขาใช้กฎ Cannon Shot Rule 3 ไมล์ ก็ประกาศเป็น 4 ไมล์ และ 12 ไมล์ ตรงนี้ส่งผลกระทบต่อการทำประมงของอังกฤษอย่างมาก สูญเสียผลประโยชน์มหาศาล อังกฤษจึงต้องส่งกองทัพเรือไปแล้วก็เกิดการประจัญบานกัน เป็นเวลาหลายปี 3 วาระ และในที่สุดก็จะต้องถูกตัดสินว่าประเทศไหนควรจะได้รับสิทธิ์นั้น ซึ่งไอซ์แลนด์ก็เป็นประเทศที่รับสิทธิ์นั้นไป” น.อ.เกียรติยุทธ กล่าว
น.อ.เกียรติยุทธ ยังกล่าวอีกว่าเมื่อมาถึงยุคที่มีกฎหมายทะเลเกิดขึ้นของกองทัพเรือจึงถูกคาดหวังให้มีบทบาทในการเป็นผู้รักษากฎหมายด้วย หมายถึงเมื่อรัฐหรือประเทศประกาศอะไรออกไปก็ต้องดำเนินการตามนั้นด้วย เช่น “UNCLOS 1982” หรืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982 ที่มีการประกาศเขตต่างๆ ในทะเล กองทัพเรือก็จะมีอำนาจในการดูแลทรัพยากรในเขตเหล่านั้น
น.อ. (หญิง) มธุศร เลิศพานิชรองผู้อำนวยการกองกฤษฎีกา สำนักงานพระธรรมนูญทหารเรือ อธิบายการเกิดขึ้นของกฎหมายทางทะเล โดยเริ่มจากหลักคิด 2 แบบ คือ “ทะเลเปิด” หมายถึงรัฐทุกรัฐหรือคนทุกคนมีเสรีภาพที่จะใช้ประโยชน์จากทะเลทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นแนวคิดกระแสหลักในสมัยโบราณ กับ “ทะเลปิด” หมายถึงรัฐหรือประเทศสามารถครอบครองพื้นที่ทะเลในบริเวณที่อยู่ติดกับชายฝั่งได้ ซึ่งแนวคิดนี้เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในศตวรรษที่ 18 (ปี 2243-2342) และเชื่อมโยงกับกฎระยะยิงของปืนใหญ่ หรือ Cannon Shot Rule
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่แต่ละรัฐมีหลักยึดไม่เหมือนกัน จึงเริ่มมีการรวบรวมจารีตประเพณีของแต่ละที่มาวางแนวทางเพื่อยกร่างเป็นกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเล ซึ่งพยายามกันมาก่อนการเกิดขึ้นขององค์การสหประชาชาติ (UN) แต่กว่าจะมาสำเร็จต้องรอจนถึงปี 2501 ที่เรียกว่า UNCLOS 1958 ประกอบด้วยอนุสัญญา 4 เรื่อง คือ 1.ทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง 2.ไหล่ทวีป 3.การทำประมงและการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวิตในทะเล และ 4.อนุสัญญาว่าด้วยทะเลหลวงซึ่งบางครั้งก็เรียกทั้ง 4 ฉบับรวมกันว่าอนุสัญญาเจนีวา ค.ศ.1958
“สิ่งหนึ่งที่อนุสัญญาเจนีวา 1958 ไม่สามารถให้คำตอบกับการปฏิบัติของทุกประเทศได้ ก็คือระยะของทะเลอาณาเขตซึ่งในอดีตเขายึดถือเรื่องระยะยิงของปืนใหญ่ เมื่อระยะยิงของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ประเทศที่รวยสามารถยิงได้ 6 ไมล์ก็เอา 6 ไมล์ ประเทศฐานะซื้อปืนได้ขนาดเล็กหน่อยยิงได้ 3 ไมล์ก็เอา 3 ไมล์ ตรงนี้ระยะการอ้างสิทธิ์เหนือทะเลอาณาเขตของตัวเองมันไม่เท่ากันก็เลยเกิดการปฏิบัติที่ไม่เท่ากัน”น.อ. (หญิง) มธุศร ระบุ
น.อ. (หญิง) มธุศร กล่าวต่อไปว่า หลัง UNCLOS 1958 มีผลบังคับใช้ไปได้เพียง 2 ปี ก็มีการประชุมขึ้นในปี 2503 และปี 2516 เรื่องระยะของการกำหนดทะเลอาณาเขต แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีเทคโนโลยีค้นหาทรัพยากรมีค่าที่อยู่ใต้ท้องทะเล ทำให้บรรดาประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาเริ่มตื่นตัวมากขึ้นเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม นอกจากนั้นประเด็นการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติก็เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นจากปัญหาน้ำมันรั่วในทะเล แต่ยังไม่มีกฎหมายมารองรับ
จนท้ายที่สุด ในปี 2525 จึงได้เกิดกฎหมาย UNCLOS 1982 ขึ้น โดยอธิบายวิธีการกำหนดพื้นที่ต่างๆ ในทะเลเรียงลำดับตั้งแต่ 1.เส้นฐาน เป็นเส้นที่สมมุติขึ้นเพื่อใช้กำหนดอาณาเขตทางทะเล มี 3 รูปแบบ คือเส้นฐานปกติเส้นฐานตรงและเส้นฐานหมู่เกาะ 2.น่านน้ำภายใน นับจากเส้นฐานเข้ามาในแผ่นดินของรัฐชายฝั่ง 3.ทะเลอาณาเขต วัดจากเส้นฐานออกไปเป็นระยะทาง 12 ไมล์ทะเล พื้นที่นี้รัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ 100% แต่เรือจากประเทศอื่นๆยังสามารถใช้ผ่านไป-มาโดยสุจริตได้ หมายถึงผ่านอย่างรวดเร็วและไม่ได้ทำอะไรที่เป็นภัยคุกคาม
4.เขตต่อเนื่อง มีระยะต่อไปอีก 12 ไมล์ทะเลนับจากทะเลอาณาเขต โดยรัฐชายฝั่งจะมีอำนาจดำเนินการใน 4 เรื่องคือ ศุลกากร การเข้าเมือง รัษฎากรและสุขาภิบาล 5.เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเลนับจากเส้นฐาน ซึ่งรัฐชายฝั่งจะมี “สิทธิอธิปไตย” โดยคำนี้แตกต่างจากอำนาจอธิปไตย กล่าวคือ น่านน้ำภายในกับทะเลอาณาเขตรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยเต็มที่ บังคับใช้กฎหมายได้ทุกเรื่อง แต่เขตเศรษฐกิจจำเพาะจะอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ไว้เพียงเรื่องการสำรวจ แสวงประโยชน์ อนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติทั้งที่มีและไม่มีชีวิต
6.เขตไหล่ทวีป คือพื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเลที่ต่อเชื่อมตามธรรมชาติกับดินแดนบนบกของรัฐชายฝั่ง สามารถกำหนดได้ไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล แต่หากจำเป็นก็ขยายเพิ่มได้แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 350 ไมล์ทะเล รัฐชายฝั่งมีสิทธิ์ในการสำรวจ ใช้ประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต หรือที่มีชีวิตแต่ต้องมีลักษณะทางกายภาพที่ติดกับผิวดิน รวมถึงปลูกสิ่งก่อสร้าง ในขณะที่เรือและเครื่องบินโดยทั่วไปยังมีเสรีภาพในการเดินทางผ่านได้ และ 7.ทะเลหลวง ซึ่งอยู่นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะออกไป ทุกรัฐสามารถใช้ประโยชน์ได้
อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมาย UNCLOS 1982 ทำให้ทุกรัฐจากเดิมที่มีอาณาเขตทางทะเล 3 หรือ 6 ไมล์ทะเล เพิ่มมาเป็น 12 ไมล์ทะเล และให้อำนาจรัฐชายฝั่งประกาศเขตต่างๆ ผลคือเกิด “พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน” เป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐหนึ่งกับอีกรัฐหนึ่งถึงกระนั้น กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ได้ตัดสินข้อพิพาทไว้โดยตรง แต่ให้เป็นเรื่องของรัฐคู่พิพาทจะไปหาทางออกอย่างสันติ จะเจรจาไกล่เกลี่ยประนีประนอมกันเอง หรือจะใช้กลไกคนกลางในการตัดสิน เช่น อนุญาโตตุลาการ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ศาลกฎหมายทะเล
น.อ.รชต โอศิริ ผู้อำนวยการโรงเรียนอุทกศาสตร์ กรมอุทกศาสตร์ อธิบายวิธีการกำหนดเขตทางทะเล โดยจะใช้ “เส้นมัธยะ” เช่น หากรัฐ A กับรัฐ B มีทะเลระหว่างกันกว้าง 100 ไมล์ทะเลพอดี ทั้ง 2 ฝ่ายก็แบ่งกันคนละครึ่ง แต่ในความเป็นจริงขอบฝั่งมีทั้งเกาะ แก่งหิน ที่ตื้นต่างๆ เมื่อลากเส้นแล้วก็ยังอาจมีบางส่วนเป็นพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนได้ แต่เมื่อข้อพิพาทไปอยู่ในการพิจารณาของศาล จะมี “หลักเที่ยงธรรม” ซึ่งจะดูเป็นรายกรณีไปไม่มีบรรทัดฐานกำหนด การคาดเดาผลการตัดสินจึงทำได้ยาก
ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างไทยกับมาเลเซีย 7,250 ตารางกิโลเมตรในบริเวณอ่าวไทย โดยเส้นมัธยะของไทยยึดเกาะโลซินเป็นหลักในขณะที่มาเลเซียเห็นว่าเป็นเกาะขนาดเล็กและอยู่ไกลฝั่งจึงไม่ให้ผลใดๆ มีการเผชิญหน้ากันของทั้ง2 ประเทศ จนเริ่มเจรจากันในปี 2515 ซึ่งต้องเริ่มจากการกำหนดทะเลอาณาเขต เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถทับซ้อนกันได้และแต่ละชาติมีอำนาจอธิปไตย 100% ตามด้วยเขตไหล่ทวีป ไปจนจุดที่มีปัญหาคือบริเวณเกาะโลซิน
กระทั่งในปี 2522 ไทยกับมาเลเซียจึงตกลงจะใช้ประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน เกิดเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) ซึ่งจะเห็นว่า “การตกลงอาณาเขตทางทะเลใช้เวลาไม่นานหากทั้ง 2 ฝ่ายจริงใจที่จะพูดคุยกัน” แต่กว่าจะเริ่มการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในพื้นที่ดังกล่าวขึ้นมาใช้ได้ก็ต้องรอจนถึงปี 2548 นอกจากนั้นยังมี พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนระหว่างไทยกับเวียดนาม 6,100 ตารางกิโลเมตร ทั้ง 2 ประเทศเริ่มเจรจาในปี 2515 แต่หยุดไป 20 ปี เนื่องจากแนวคิดการเมืองที่แตกต่างกัน ก่อนกลับมาเจรจาจนได้ข้อยุติในปี 2540
“วิธีการกำหนดเขตทางทะเลระหว่างไทยกับเวียดนาม เป็นหนึ่งในหลักสากลซึ่งหลายประเทศทั่วโลกชื่นชมการเจรจาระหว่างไทยกับเวียดนามมาก เนื่องจากมีการใช้ทั้งหลักเทคนิคการใช้กฎหมายทะเลอย่างเข้มข้น คือเริ่มตั้งแต่ใช้เส้นมัธยะก่อน จากนั้นใช้สัดส่วนของเกาะกับของฝั่งของไทย สุดท้ายมาลงตัวที่การให้สัดส่วนร้อยละในพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนกัน ก็เป็นกรณีที่มีความชื่นชมจากหลายประเทศว่าใช้หลักการทุกอย่างและพูดคุยกันอย่างสันติวิธี” น.อ.รชต กล่าว
น.อ.ผศ.สมาน ได้รายรัมย์ อาจารย์ฝ่ายศึกษา โรงเรียนนายเรือ อธิบายเพิ่มเติมถึงคำว่าหลักเที่ยงธรรมในการกำหนดอาณาเขตทางทะเล ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องแบ่งสัดส่วน 50-50หรือ 70-30 หรืออื่นๆ แต่อยู่บนคำว่าพอใจทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งเกิดขึ้นได้ยากมาก ส่วนการเจรจากันนั้นจะมี 2 รูปแบบหลักๆ คือ 1.หากยังไม่มีฝ่ายใดประกาศเขตทางทะเล รัฐที่ขัดแย้งกันก็มาเจรจากันให้ได้ข้อสรุปแล้วนำผลการเจรจาไปประกาศ กับ 2.หากต่างฝ่ายต่างประกาศแล้วเกิดพื้นที่ทับซ้อน หากเจรจาได้ก็เจรจาแต่หากเจรจาไม่ได้ก็อาจใช้บุคคลที่ 3 เป็นผู้ตัดสิน
“มีคำคลาสสิกของทั้งศาลโลกและศาลทะเล เขาบอกว่าไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัว ไม่มีกฎเกณฑ์ทั่วไปในการกำหนดแบ่งเขตทางทะเลระหว่างรัฐ เป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุแนวทางเพื่อความเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นนามธรรมค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงไม่สามารถนำผลการพิจารณากรณีต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีต มาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเขตทางทะเลอื่นๆ ได้ เนื่องจากองค์ประกอบของสภาวะแวดล้อมและปัจจัยในแต่ละกรณี ทั้งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมแตกต่างกันไป นี่คือความยากในการกำหนดเขตทางทะเลของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง” น.อ.ผศ.สมาน กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี