“แจ้งเหตุเรือสปีดโบ้ทของเจ๊พรทัวร์ เกิดอุบัติเหตุชนโขดหิน เกิดเพลิงไหม้ มีรอยรั่ว จุดเกิดเหตุอยู่บริเวณเกาะปลี ห่างจากฝั่งประมาณ 2 ไมล์ ผู้ประสบภัยจำนวน 7 ราย”
“ศรภ.ทราบ! เดี๋ยวจะส่งชุดช่วยเหลือเข้าไปช่วยเหลือ”
“เรือยาง - เจ็ทสกี ทำการเข้าช่วยเหลือเรือสปีดโบ้ท ชื่อเรือเจ๊พรทัวร์ ประสบอุบัติเหตุชนโขดหินไฟไหม้บริเวณเกาะปลี ห่างจากฝั่งประมาณ 2 ไมล์ ผู้ประสบเหตุประมาณ 7 คน แจ้งให้เรือยาง – เจ็ทสกี ออกช่วยเหลือ”
“เรือยางทราบ! , เจ็ทสกีทราบ!”
เสียงสื่อสารผ่านวิทยุ รับแจ้งเหตุผู้ประสบภัยทางทะเล ก่อนแจ้งให้แจ้งหน้าที่นำเรือยางและเจ็ทสกีออกช่วยเหลือข้างต้นนี้ เป็นเหตุการณ์จำลองในการฝึกซ้อมและสาธิตของ ทัพเรือภาคที่ 1 โดย ศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ (ศรภ.ทร.) เกาะช้าง ณ ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1 ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด ซึ่งคณะสื่อมวลชนมีโอกาสได้ติดตามคณะของ กรมกิจการพลเรือนทหารเรือ กองทัพเรือ ไปเยี่ยมชม เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 22 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา
ในการฝึกซ้อมและสาธิตครั้งนี้ ผู้บรรยายคือ น.ท.ภาคภูมิ บูรณะเหตุ หัวหน้า ศรภ.ทร. เกาะช้าง อธิบายว่า ในการออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย เจ็ทสกีจะล่วงหน้าไปก่อนเรือยางเนื่องจากเคลื่อนที่ได้เร็วกว่า โดยเข้าไปตรวจที่เกิดเหตุว่าใครเป็นอะไรอย่างไรบ้าง และรับผู้บาดเจ็บกลุ่มสีเขียว หมายถึงบาดเจ็บเล็กน้อยและยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้กลับเข้าฝั่งก่อน ขณะที่เรือยางจะช่วยผู้บาดเจ็บกลุ่มสีเหลือง คืออาการสาหัสแต่ยังมีสติ ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ และกลุ่มสีแดง คือบาดเจ็บสาหัส หมดสติ มีเลือดออกมาก ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้
โดยตามขั้นตอน เมื่อพบผู้บาดเจ็บกลุ่มสีแดง ทีม ศรภ.ทร. เกาะช้าง ได้ประสานขอการสนับสนุนเรือความเร็วสูงจาก ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) รวมถึงแจ้งสายด่วน 1669 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ส่งรถพยาบาลมาเตรียมรับผู้บาดเจ็บจากเรือเพื่อส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ซึ่งทุกการปฏิบัติจะมีการรายงานความคืบหน้าตลอดเวลาเพื่อให้ติดตามสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว และเจ้าหน้าที่ทุกจุดจะรับทราบสถานการณ์ตรงกัน
“ในที่นี้เราสมมติสถานการณ์ทุกคนจะเห็นภาพสถานการณ์หมด แต่ในความเป็นจริงเหตุการณ์อาจเกิดในทะเลไกลออกไป เราจะไม่เห็นภาพสถานการณ์แบบนี้ และระยะเวลาในการช่วยเหลือที่เราเห็นนี้คือมันจะเร็วมาก ทุกคนถึงหมด แต่ในภาพความเป็นจริงมันจะประกอบด้วยปัจจัยคลื่นลมทะเล เวลากลางวัน – กลางคืน พื้นที่ที่มีหินใต้น้ำ มีโขดหิน ฉะนั้นการปฏิบัติงานทุกครั้งจะไม่เรียบง่ายเหมือนตอนนี้” น.ท.ภาคภูมิ บรรยายให้เห็นภาพความแตกต่างระหว่างสถานการณ์จำลองกับเหตุการณ์จริง
ก่อนเริ่มการสาธิตข้างต้น น.ท.ภาคภูมิ เล่าที่มาที่ไปของ ศรภ.ทร. เกาะช้าง ว่า ในวันที่ 1 ก.ค. 2553 ทัพเรือภาคที่ 1 ได้จัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุและประสานการช่วยเหลือทางทะเล โดยมีสถานะเป็นหน่วยเฉพาะกิจอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของทัพเรือภาคที่ 1 จากนั้นในวันที่ 1 ต.ค. 2554 จึงได้ยกระดับขึ้นเป็น ศรภ.ทร. เกาะช้าง โดยมีภารกิจ 1.ช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเลในพื้นที่เกาะช้าง กับ 2.เฝ้าตรวจลาดตระเวนทางบกในที่ดินของกองทัพเรือ ตามที่ได้รับมอบหมาย
ทั้งนี้ การคัดเลือกกำลังพลจะรับสมัครจากบุคลากรภายในสังกัดต่างๆ ของกองทัพเรือ โดยมีกองการฝึก กองเรือยุทธการ จะเป็นหน่วยรับผิดชอบในการจัดกำลังพลและการฝึกอบรม ส่วนการปฏิบัติงานจะประสานกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกองทัพเรือที่อยู่ใน จ.ตราด เช่น ศรชล. ตราด , สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตราด หน่วยงานปกครองท้องถิ่นใน อ.เกาะช้าง , สภ.เกาะช้าง , อุทยานแห่งชาติเกาะช้าง และหน่วยงานกู้ภัยอื่นๆ
นอกจากช่วยเหลือประชาชนและนักท่องเที่ยวผู้ประสบภัยทางทะเลแล้ว ทัพเรือภาคที่ 1 ยังมีบทบาทด้านดูแลสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย โดย น.ท.สุทธินันท์ หงดิษฐาราม หัวหน้าแผนกองยุทธการ กองบัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 กล่าวว่า ทัพเรือภาคที่ 1 ได้รับมอบหมายภารกิจในการขจัดมลพิษทางน้ำที่เกิดจากน้ำมันนอกเขตท่าเรือ ทั้งในทะเลอาณาเขตและเขตเศรษฐกิจจำเพาะ และสนับสนุนการขจัดมลพิษจากน้ำมันที่เกิดกับดินในบริเวณชายฝั่งและเขตท่าเรือ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
“จากสถิติที่ผ่านมาในช่วงปี ก็มีเกิดเหตุในพื้นที่รับผิดชอบอยู่ 2 ครั้ง แต่เป็น 2 ครั้งที่ไม่ได้มีผลกระทบในวงกว้างมากเกินไป สามารถควบคุมให้อยู่ในส่วนที่รองรับได้ทั้ง 2 กรณี” น.ท.สุทธินันท์ ระบุ
เนื่องจากพื้นที่รับผิดชอบของกองทัพเรือเกี่ยวข้องในหลายมิติ ภารกิจจึงไม่ได้มีเพียงการรักษาอธิปไตยทางทะเลซึ่งเป็นบทบาทดั้งเดิมของทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรักษา “ความมั่นคงและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ” ทั้งด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีความสำคัญกับประเทศไทยด้วย!!!
ภาพชุดการฝึกซ้อมและสาธิตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล โดยศูนย์รักษาความปลอดภัยทางทะเล กองทัพเรือ (ศรภ.ทร.) เกาะช้าง 22 พ.ค. 2568 ณ ฐานส่งกำลังบำรุงทหารเรือตราด ทัพเรือภาคที่ 1 ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี