“เวลาเราขับรถมันจะรู้สึกเลยว่าฝุ่นมันเข้าตาเราเต็มๆ คือฝุ่นเยอะมาก เยอะจนรู้สึกว่าเราเคืองตา เวลาขับรถจะต้องปิดชิลด์หน้าตลอด แล้วก็จะหายใจลำบาก เพราะเวลาหายใจเข้าไปนี่ทั้งฝุ่นทั้งควัน ยิ่งเวลาขับรถตามรถเมล์ จะสังเกตได้ควันดำมาก ณ ตอนนั้นหนีได้จะรีบหนี อันนี้เป็นอุปสรรคสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของไรเดอร์ ทุกคนจะกลัวมาก ขับรถตามรถเมล์”
ลัดดา ยันชมภู ไรเดอร์ย่านสุขุมวิท 93 บอกเล่าในรายการ “Rider Talk EP.14!” หัวข้อ “ฝุ่น PM2.5 : เพื่อน (ไม่อยาก) สนิทของไรเดอร์ กับสิทธิการรักษาสุขภาพ” ทางเพจเฟซบุ๊ก “Healthy Rider” ซึ่งได้รับการสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ถึงสภาพการทำงานบนท้องถนนที่ต้องเจอกับ “มลพิษทางอากาศ” ฝุ่นควันต่างๆ
และแม้จะใส่หน้ากากปิดปาก-จมูก ระหว่างการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนท้องถนน แต่หน้ากากที่ใช้นั้นกันได้เพียงละอองฝอย (น้ำมูก-น้ำลาย) ที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเดินหายใจ (เช่น โควิด-19) เท่านั้น ไม่สามารถกันฝุ่นได้ “แต่ละวันต้องวิ่งงานเฉลี่ย 12 ชั่วโมง” กระทั่งรู้สึกว่าตนเองหายใจได้ไม่เต็มที่และเหนื่อยง่าย เมื่อกลับบ้านก็ต้องล้างตาทุกวันเพราะมีอาการระคายเคือง “หากใช้หน้ากากแบบ N95 ซึ่งกันฝุ่นได้ ก็ต้องแลกกับราคาที่สูงขึ้น” ในขณะที่ค่ารอบของไรเดอร์ในปัจจุบันก็น้อยมาก
เช่นเดียวกัน..ถึงจะรู้ว่ามีสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 แต่สภาพการทำงานในแต่ละวันก็ยังคงเหมือนเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยนมีเพียงการพยายามป้องกันให้มากขึ้น เช่น จากใส่หน้ากาก 1 ชั้น ก็ต้องเพิ่มเป็น 2 ชั้น และเปลี่ยนหน้ากากบ่อยขึ้น “ชีวิตยังเหมือนเดิม..เพิ่มเติมคือต้องดูแลตนเองมากขึ้น” ต้องป้องกันและรักษาความสะอาดมากขึ้น แม้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นก็ตาม เช่น น้ำยาล้างตาที่ต้องเพิ่มจากเดือนละ 1 เป็น 2 ขวด หน้ากากเพิ่มจาก 1 เป็น 2 ห่อ เพราะต้องใช้บ่อยขึ้นในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง
ด้าน สุรัช ตรีนวรัตน์ ไรเดอร์ย่านอ่อนนุช กล่าวว่า สำหรับตนนั้นใช้ “ผ้าบัฟ (Buff)” แม้จะรู้ว่ากันฝุ่นได้ไม่มากนัก เพราะซื้อมาครั้งเดียวแล้วใช้ไปได้ยาวนาน สามารถซักแล้วใช้ซ้ำได้หลายครั้ง ขณะที่การรับรู้เกี่ยวกับฝุ่น PM2.5 ก่อนหน้านี้ก็มองว่าเป็นเพียงฝุ่นเล็กๆ ไม่น่าจะเป็นอะไร กระทั่งวันหนึ่งรู้สึกหายใจไม่สะดวก ต้องพกยาดมตลอดเวลา และเมื่อเลิกวิ่งงานก็รู้สึกได้ทันทีว่าอึดอัดมาก หลายครั้งต้องไปล้างหน้า มีอาการเจ็บคอ แสบตา คันตามผิวหนัง ต้องหาซื้อยามาทาเพราะหากเกาก็จะกลายเป็นแผล
“เวลาออกไปรองาน ส่วนมากผมจะเน้นเข้าไปอยู่ในห้างหรืออาคารเพื่อหลีกเลี่ยงโดยตรง นั่นคืออย่างแรก แต่ยังใช้ผ้าบัฟอยู่ ยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนอะไรเท่าไร ผมหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้วเพราะมันเป็นอาชีพ เช้ามาก็ต้องออกไปแล้ว มันต้องผชิญอยู่แล้ว เจออยู่แล้วกับฝุ่น PM2.5 ก็ต้องสู้” สุรัช กล่าว
ชนาธิป ทองจันทร์ ผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า ในขณะที่มีการขอความร่วมมือให้ทำงานอยู่ที่บ้าน (Work from Home) แต่ไรเดอร์เป็นอาชีพหนึ่งที่ยังคงต้องออกมาทำงานกลางแจ้งแม้จะทราบข่าวประกาศเตือนภัยฝุ่น PM2.5 ในระดับเกินค่ามาตรฐานอย่างรุนแรง โดยฝุ่น PM2.5 หมายถึงฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ คือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ หากได้รับสะสมอย่างยาวนานก็จะทำให้เจ็บป่วย เช่น โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองเสื่อม สมาธิสั้น
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 มีทั้ง “นอกอาคาร” เช่น ไอเสียของรถยนต์ โดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซลของรถยนต์ที่ใช้งานมานาน ควันจากโรงงานอุตสาหกรรม การเผาในที่โล่ง บวกกับสภาพอากาศที่นิ่งไม่มีลม ยิ่งทำให้ปริมาณฝุ่นสะสมหนาแน่น กับ “ในอาคาร” เช่น การสูบบุหรี่ การจุดธูป ซึ่งทั้ง 2 อย่างมีการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดฝุ่นได้ และที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกี่ยวข้องด้วยคือ “เครื่องถ่ายเอกสาร” ซึ่งมีฝุ่นและก๊าซอันตรายอย่างโอโซนได้ ทั้งนี้ ผลสำรวจในโครงการ Healthy Rider พบว่าไรเดอร์ทำงานบนท้องถนนเฉลี่ย 8-10 ชั่วโมง หรือบางครั้งอาจถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน
สำหรับ “วิธีสังเกตอาการที่เป็นผลกระทบจากฝุ่น PM2.5” ไล่ตั้งแต่ “ระดับเล็กน้อย” เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ “ระดับปานกลาง” ตาแดง มองภาพไม่ชัด เลือดกำเดาไหล เสียงแหบ ไอมีเสมหะ หัวใจเต้นเร็ว และ “ระดับรุนแรง” แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ส่วน “การดูแลตนเอง” เช่น สวมหน้ากากแบบ N95 (หากสามารถหาซื้อมาใช้ได้) หมั่นตรวจสอบค่าฝุ่น (ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานทำแอปพลิเคชั่นให้ใช้)ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
“อย่างสุดท้ายๆ จริงๆ มันก็คือลดการสร้างฝุ่นจากรถจักรยานยนต์ เราห้ามไรเดอร์ขับรถไม่ได้เพราะมันเป็นวิถีชีวิตของเรา แต่สิ่งที่สำคัญสำหรับเรื่องนี้ก็คือนอกจากดูแลสุขภาพคนแล้ว จริงๆ ต้องดูแลสุขภาพรถด้วย เพราะว่ารถที่มีอายุการใช้งานที่นานก็มีโอกาสปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปสู่ชั้นบรรยากาศได้มากขึ้น ก็ทำให้สิ่งแวดล้อมเป็นไปอีก แต่ทีนี้ถ้าดูแลมากขึ้น รถเราก็จะยืดอายุการใช้งานได้มากขึ้น บรรยากาศในสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้นไปด้วย” ชนาธิป กล่าว
ประภาพร ผลอินทร์ ผู้ประสานงานกลุ่มไรเดอร์ฝั่งธนซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการร่วม กล่าวว่า ไรเดอร์ใช้ชีวิตบนท้องถนนยาวนานกว่าการอยู่ในที่พัก จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้กับฝุ่นควัน ซึ่งนอกจากยานพาหนะและการเผาแล้ว การก่อสร้างอาคารก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดฝุ่น ขณะที่การเลือกใช้หน้ากากปิดปาก-จมูก หากเป็นหน้ากากที่มีประสิทธิภาพสูงราคาก็สูงตามไปด้วย อีกทั้งยังต้องเปลี่ยนหน้ากากเฉลี่ย 2 ครั้งต่อวัน “ทุกคนอยากดูแลตัวเอง..แต่วิ่งแล้วได้ค่ารอบน้อย” ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
แม้กระทั่ง “ป่วยแล้วก็ยังไม่ค่อยอยากจะไปหาหมอ..เพราะหยุดงานก็เสียรายได้” ขนาดวิ่งทั้งวันยังได้เพียง 400-500 บาทไม่ค่อยจะพอกับค่าใช้จ่าย “แต่บางครั้งอาการปวดเล็กๆ น้อยๆ อาจนำมาซึ่งโรคที่คาดไม่ถึงได้” เช่น ตนเองเคยปวดศีรษะรุนแรง ปวดข้างเดียวเข้าใจว่าเป็นไมเกรน ไปซื้อยากินเองกินเท่าไรก็ไม่หายจึงตัดสินใจไปให้แพทย์ตรวจแล้วพบว่าเป็นไซนัสอักเสบ
“ขอย้ำถึงพี่ๆ ไรเดอร์ ถ้าเป็นอะไรแบบคิดว่ามันจะเสี่ยงกับตัวเองมาก..หาหมอดีกว่า” ประภาพร กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี