วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ‘พาดพิง-ตัดต่อ-แต่งเติม’  ใช้โซเชียลพึงระวังกฎหมาย

สกู๊ปแนวหน้า : ‘พาดพิง-ตัดต่อ-แต่งเติม’ ใช้โซเชียลพึงระวังกฎหมาย

วันเสาร์ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568, 08.30 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

เป็นเรื่องขึ้นมาทันทีเมื่อมีรายงานในวันที่ 20 ก.พ. 2568 ว่ากองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ยกกำลังบุกค้นบ้านของ ผู้ประกาศข่าวหญิงรายหนึ่ง ที่บ้านพักย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ซึ่งสืบเนื่องจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ทนายความไปแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาทและ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีสำนักข่าวที่ผู้ประกาศข่าวรายนี้เผยแพร่คลิปข่าวในลักษณะทำให้นายทักษิณได้รับความเสียหาย

ซึ่งในวันดังกล่าว มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ผันตัวไปเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการ “แนวหน้าข่าวค่ำ” ระบุว่า พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ประกาศใช้ในปี 2550 ต่อมาได้แยกฐานความผิดในฉบับแก้ไข ปี 2560 กล่าวคือ ในกฎหมายเดิม ความผิดฐานหมิ่นประมาท ถูกรวมไว้ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่หลังจากแก้ไขในปี 2560 บทบัญญัตินี้จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติหรือสาธารณประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่นายทักษิณทำได้คือการแจ้งความฐานหมิ่นประมาท หรือหากอ้างเรื่องความมั่นคง สามารถอ้างได้กรณีกำลังดำรงตำแหน่งนายกฯ เท่านั้น นายทักษิณที่เป็นอดีตนายกฯ จึงไม่ใช่บุคคลที่ใครไปกระทบแล้วจะเกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ


อนึ่ง เมื่อดูข้อหาที่ทางตำรวจระบุ จะพบใน 2 ส่วนคือ 1.หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ 2.นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลง ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชังหรือได้รับความอับอาย

โดยเมื่อดูตามข้อกฎหมาย อย่างแรกจะอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 ระบุว่า “ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

และมาตรา 328 ที่ระบุว่า “ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสีภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพหรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

ขณะที่อย่างหลังจะอยู่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 ระบุว่า “ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ,

ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อภาพของผู้ตาย และการกระทำนั้นน่าจะทำให้บิดามารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้ตายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง, ถ้าการกระทำตามวรรคหนึ่งและวรรคสองเป็นการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยสุจริต ผู้กระทำไม่มีความผิด,ความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้,ถ้าผู้เสียหายในความผิดตามวรรคหนึ่งตายเสียก่อนร้องทุกข์ ให้บิดา มารดา คู่สมรส หรือบุตรของผู้เสียหายร้องทุกข์ได้ และให้ถือว่าเป็นผู้เสียหาย”

มาตรา 329 “ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต (1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม (2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ (3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ (4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรมเรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท”

มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน”

ส่วนมาตรา 14 (1) เรื่องหมิ่นประมาท ที่ถูกตั้งคำถามนั้น ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 ใช้ถ้อยคำว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”

ในขณะที่ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแก้ไขในปี 2560 ระบุในมาตรา 14 ว่า “ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา”

นอกจากนั้น ยังมีบทบัญญัติเพิ่มเติมด้วยว่า “ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง (1) มิได้กระทำต่อประชาชน แต่เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ผู้กระทำ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้เป็นความผิดอันยอมความได้”

บทความ “หมิ่นประมาทออนไลน์ : รู้เท่าทัน ป้องกันผิดกฎหมาย” เรียบเรียงโดย วนิดา อินทรอำนวย วิทยากรเชี่ยวชาญ กลุ่มงานพัฒนากฎหมาย สำนักกฎหมาย แบ่งลักษณะการ “หมิ่นประมาท” ไว้ 2 ประเภทดังนี้ 1.การหมิ่นประมาท เป็นการหมิ่นประมาทโดยใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม มีลักษณะเป็นการใส่ความแบบตัวต่อตัว หรือเพียงกลุ่มคนเท่านั้น ไม่ใช่การป่าวประกาศ ในกรณีของช่องทางออนไลน์ เช่น นาย A ใส่ความว่าร้าย นาย B ลงในกลุ่มเพื่อน Line ซึ่งมีเพื่อน 5 คน

กับ 2.การหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา เป็นการหมิ่นประมาทโดยป่าวประกาศหรือประจานออกไป อาทิ การเผยแพร่ข้อความบนสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) หรือการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เนต การเผยแพร่ข้อความลงหนังสือพิมพ์ หรือการเผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น เช่น นาย A ใส่ความว่าร้าย นาย B ลงใน Facebook เปิดค่าการมองเห็นแบบสาธารณะ

ส่วนที่มาที่ไปของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับแรกที่ออกมาในปี 2550 ในส่วนของมาตรา 14 (1) โดย เจตนารมณ์เพื่อจัดระเบียบและดำเนินการต่อผู้กระทำความผิด
ให้ทันต่อยุคสมัย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเน้นป้องกันและลงโทษผู้กระทำความผิดในลักษณะอาชญากรทางไซเบอร์ แต่เมื่อบังคับใช้แล้วกลับพบว่า แม้คู่กรณีที่มีคดีฟ้องร้องในลักษณะหมิ่นประมาทจะเจรจากันได้ แต่ก็ไม่สามารถถอนฟ้องได้ เพราะความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 เป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ โดยมีคดีแบบนี้เข้าไปอยู่ในศาลจำนวนมาก

จึงนำไปสู่การแก้ไขในปี 2560 โดยระบุให้ชัดเจนว่า “ซึ่งไม่ใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” และหลังจากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน การหมิ่นประมาทในอินเตอร์เนตต่อบุคคล ที่มิได้มีความเกี่ยวข้องต่อความมั่นคงหรือกระทบต่อความสงบสุขของประชาชน ย่อมไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (1)

บทความดังกล่าวยังเตือนชาวเนตด้วยว่า “การด่าลอยๆ แม้ไม่เอ่ยชื่อก็อาจเข้าข่ายความผิดฐานหมิ่นประมาทได้” โดยพิจารณาจาก “การที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ทันทีว่าหมายถึงใคร” อย่างไรก็ตาม หากบุคคลทั่วไปรับรู้ข้อความนั้นแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าหมายถึงใครในทันที แต่ไปสืบหาข้อมูลต่อด้วยตนเองจนทราบในภายหลังก็จะยังไม่ถือว่าเข้าข่ายหมิ่นประมาท แม้เจ้าตัวจะทราบเป็นอย่างดีว่าข้อความนั้นพาดพิงตนเองก็ตาม เพราะตามกฎหมายแล้วจะพิจารณาตามความเข้าใจของบุคคลทั่วไปเป็นหลัก ไม่ใช่ตามความเข้าใจของบุคคลที่ถูกพาดพิง

นอกจากนั้น “บางเรื่องแม้เป็นความจริงก็ยังเป็นความผิด” เช่น การประจานในเรื่องส่วนตัวที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป หรือกรณีที่สามารถเลือกใช้วิธีดำเนินการ
ตามกฎหมายได้ก่อนหลายวิธี เช่น แทนที่จะฟ้องร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือฟ้องร้องลูกหนี้ที่ไม่ชำระหนี้ แต่กลับเลือกใช้วิธีโพสต์รูปประจานหรือโพสต์เฟซบุ๊กประจานก่อนเป็นลำดับแรก!!!

 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  • สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน  อุตสาหกรรมการบินของไทย สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมการบินของไทย
  •  

Breaking News

'ทักษิณ'หมดทางแล้ว! 'เสรีพิสุทธ์' ชี้ยัดคุกได้เลย

'สว.จิระศักดิ์-สว.วุฒิชาติ'ปิดบ้านเงียบ! กกต.-ดีเอสไอ แปะหมายเรียกหน้าบ้าน

หวดไทยพร้อมลุย! สู้ศึกชิงแชมป์โลกที่คาซัคฯ

'จุลพันธ์'พร้อมคุย'อนุทิน'ทำประชามติ กม.คอมเพล็กซ์ ไม่ใช่เป็นการเสนอขึ้นมาลอยๆ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved