วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ทางแก้‘ยากจน-เหลื่อมล้ำ’ กลับหลังหัน‘วิธีคิดพัฒนา’

สกู๊ปแนวหน้า : ทางแก้‘ยากจน-เหลื่อมล้ำ’ กลับหลังหัน‘วิธีคิดพัฒนา’

วันเสาร์ ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2568, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“อดีตหาบแร่แผงลอย ทุกชาติบ้านเมืองเข้ามาเรียนรู้มากมาย เพราะว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เกี่ยวกับด้านอาหาร สามารถหากินได้ แต่ตอนนี้มันเป็นแค่ความฝัน ในมหานครแห่งนี้มันเป็นแค่มหานครของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่มหานครของพวกเรา เราอยากให้ผู้ว่าฯ หันกลับมาคิดใหม่ทำอย่างไรที่จะให้ทุกคนใช้ระเบียบร่วมกันได้ ใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันได้อย่างมีความสุข เป็นมหานครของทุกคนไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

น้ำเสียงที่บ่งบอกถึงอาการ “ตัดพ้อ” ของ ปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย กรุงเทพมหานคร ซึ่งกล่าวในงาน “สมัชชาแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2568” เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงนโยบาย “จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย” ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทหารคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ชาวแผงลอยมองว่า “ไม่เป็นธรรม” โดยเมื่อปี 2559 ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในขณะนั้น ได้ดำเนินนโยบายที่ในตอนแรกผู้ค้าเข้าใจว่าจะทำให้พื้นที่เป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นทำให้อาชีพหายไป


ซึ่งการหายไปของหาบเร่แผงลอย เป็นไปเพื่อให้มีพื้นที่สำหรับให้คนมาถ่ายรูปเล่นอวดกันในสื่อสังคมออนไลน์ ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม. เหลือจุดผ่อนผันสำหรับทำการค้าประมาณ 170 จุด และมีแนวโน้มว่าจะถูกทำให้หายไปอีก อนึ่ง ตนนั้นยังค้าขายอยู่ในย่านบางขุนเทียนซึ่งเป็นพื้นที่ชานเมือง แต่ในขณะที่ย่านในเมืองซึ่งหลายคนก็ต้องการทำมาหากิน หลายคนยึดอาชีพหาบเร่แผงลอยเป็นอาชีพสุดท้ายในการหล่อเลี้ยงชีวิตตนเองและครอบครัว แต่กฎระเบียบ 16 ข้อ ที่ผู้ว่าฯ กทม. คนก่อนออกไว้ก่อนพ้นวาระ เป็นอุปสรรคอย่างมากในการกลับมาของผู้ค้า

งานสมัชชาแรงงานนอกระบบ ประจำปี 2568 ร่วมจัดโดยสมาพันธ์แรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนอกจากเป็นเวทีให้ตัวแทนแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ ร่วมสะท้อนปัญหาและข้อเสนอแนะแล้ว ยังมีตัวแทนภาครัฐรวมถึงนักวิชาการร่วมให้มุมมอง

บวร ทรัพย์สิงห์ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดพื้นที่ทำการค้าและการขายหรือจำหน่ายสินค้าบนถนนหรือสถานสาธารณะ ในประเด็น “คุณสมบัติของผู้ค้า” ที่ระบุว่า “ต้องเป็นผู้มีรายได้น้อย” เช่น ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือมีรายได้ไม่เกิน 3 แสนบาทต่อปี โดยต้องยื่นแบบภาษีเงินได้ทุกปี อีกทั้งยังอนุญาตให้ทำการค้าได้ครั้งละ 1-2 ปี

“จริงๆ แล้วขาย 1-2 ปี มีผลกระทบแน่นอน ปัญหาเรื่องการรวมกลุ่มของผู้ค้า เนื่องจากตอนนี้ถึงรวมกลุ่มก็ไม่มีใครกล้าบอกว่ากลุ่มของตัวเองมีความเข้มแข็งหรือมีความยั่งยืน เพราะว่าจะถูกเพ่งเล็งและถูกจัดการกับพื้นที่แน่นอน การที่รวมกลุ่มแล้วไม่สามารถทำแบบนี้ได้ จะทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ถูกยกขึ้นมาคุยกันบนโต๊ะจริงๆ เป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากผู้ค้ามีความเสี่ยงมากในฐานะที่เป็นแกนนำ” บวร ระบุ

บวร กล่าวต่อไปว่า หากพื้นที่ใดเข้มแข็ง มีแกนนำพากลุ่มผู้ค้าออกมายื่นหนังสือหรือออกมาพูดในฐานะตัวแทน จะกลายเป็นความท้าทายต่องานและครอบครัวของผู้ค้า ซึ่งเป็นเรื่องของ “อำนาจที่ไม่เท่ากัน” ทำให้เป็นความลำบากในการที่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยจะออกมาสื่อสาร และ “อยากให้มองไปไกลกว่านั้น” กล่าวคือ “ในเมื่อหาบเร่แผงลอยถูกไล่ได้ในวันนี้..ใครจะรู้ว่าวันหน้าอาจเป็นคิวของอาชีพอื่นๆ อีก” เช่น มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รถตุ๊กตุ๊ก หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เห็นว่าเกะกะขวางทาง รกหูรกตาคนที่ชอบเมืองแบบโล่งๆ

แต่อีกด้านหนึ่ง บวร ได้แนะนำในเบื้องต้นว่าผู้ประกอบอาชีพบนพื้นที่สาธารณะ อาทิ หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ควรลุกขึ้นมาบริหารจัดการตนเองด้วย เช่น พยายามเหลือพื้นที่ให้พอเป็นทางเดิน บริหารจัดการด้านความสะอาด แม้จะไม่ต้องเท่ากับเกณฑ์ 16 ข้อที่ กทม. ตั้ง (ซึ่งหากพิจารณากันจริงๆ ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทำได้อย่างครบถ้วน) รวมถึงเสนอแผนไปถึง กทม. แม้ทาง กทม. จะอ้างถึงกฎ 16 ข้อก็ตาม

นอกจากนั้น ยังเปิดประเด็นทิ้งไว้ว่า “การออกกฎหมายมาจากวิธีคิดแบบใด?” กล่าวคือ หากมองว่าต้องการออกกฎหมายเพื่อคนขาดโอกาสไม่มีทางเลือกในสังคม กฎหมายนั้นต้องมีลักษณะเป็นการจัดการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที แต่หากออกกฎหมายจากมุมมองว่าคนเหล่านั้นเป็นผู้เอาเปรียบสังคม หน้าตาของกฎระเบียบก็จะออกไปในแนวทางควบคุมและกำจัด หรือหากมองว่าคนเหล่านั้นมีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจของเมือง กฎหมายก็ต้องส่งเสริมการให้โอกาส เป็นต้น

ผศ.ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เมืองในประเทศโลกที่ 3 คนที่อยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบมีมากกว่าคนซึ่งอยู่ในระบบ และเป็นมากกว่าเรื่องของความยากจน แต่เป็นเรื่องความเปราะบาง ลองนึกถึงเด็กรุ่นใหม่มักทำงานอาชีพอิสระ (Freelance) ดังนั้น เศรษฐกิจนอกระบบจึงไม่ได้มีแต่คนจน แต่เป็นเศรษฐกิจที่ทำให้ทุกคนเปราะบางเพื่อทำให้การควบคุมหรือสร้างกำไรทำได้สูงขึ้น

“มันเป็นระบบแห่งการยกเว้น มันเป็นการอธิบายการอยู่รอดโดยใช้ตรรกะของข้อยกเว้นเท่านั้นเอง มันคือยกเว้นเมตตาถึงอยู่ได้ ดังนั้นมันเป็นระบบที่แก้ปัญหาด้วยความหวาดกลัวและต่อรอง และทำให้เราต้องเสียค่าเช่าเพิ่ม นี่คือปัญหาของเศรษฐกิจนอกระบบ มันแก้ไม่ได้หรอกถ้ายังปะผุกันในระบบเศรษฐกิจนอกระบบ แล้วพอเอาเข้าระบบก็มีปัญหาอีกว่าคุณไม่ได้รองรับเขา ปัญหามันอยู่ตรงนี้” ผศ.ดร.พิชญ์ กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉายภาพ “ปัญหาวิธีคิดของรัฐไทยในด้านเศรษฐกิจ” ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี 2504 กล่าวคือ รัฐไทยมุ่งเน้นหารายได้จากการส่งออกโดยหวังราคาสินค้าที่ถูกกว่าคู่แข่ง ซึ่งนั่นหมายถึงการกดค่าจ้างแรงงานและทำให้ค่าครองชีพต่ำ แต่วิธีคิดแบบนี้คือการกดให้คนส่วนใหญ่ยากจนในขณะที่ผู้ประกอบการส่งออกร่ำรวย นอกจากนั้นยังมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเพราะรัฐกังวลว่าหากคุมเข้มมาตรฐานมากๆ อาจกระทบต่อนักลงทุน

จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องตั้งคำถาม “ถึงเวลาเปลี่ยนได้แล้วหรือยัง?” เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องแก้ปัญหาทั้งความยากจนและสิ่งแวดล้อมด้วย โดยเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่มีทั้งหมด 17 ข้อ ในข้อ 8 เรื่อง Decent Work and Economic Growth (งานที่มีคุณค่าและเศรษฐกิจที่เติบโต) แต่คำว่า Decent Work หรืองานที่มีคุณค่า คนจำนวนมาก แม้แต่คนที่มีสติปัญญา มีการศึกษาสูงก็ยังไม่ค่อยเข้าใจ กล่าวคือ ไม่ใช่เฉพาะงานที่มีค่าตอบแทนสูง แต่หมายถึงงานที่คนคนนั้นทำแล้วมีความสุขด้วย

เช่น หลายคนเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระก็มีความสุขดี แต่รัฐไม่เข้าใจและพยายามผลักดันให้เข้าไปเป็นแรงงานในโรงงาน อย่างไรก็ตาม ยังพอเห็นความหวังอยู่บ้าง อย่างงานครั้งนี้ที่มีผู้แทนจากสำนักนโยบายแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงาน มาให้ข้อเสนอ 6 ข้อ ซึ่งหลายข้อเห็นว่ามีประโยชน์มากหากทำต่อได้ เพราะสิ่งที่ต้องการมีเพียง 2 อย่าง คือ 1.ประกอบการ ตั้งตัวและลืมตาอ้าปากได้ สามารถพึ่งพาตนเองไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือหวังกับการซื้อหวยเสี่ยงโชค กับ 2.สวัสดิภาพหรือสวัสดิการต่างๆ เช่น การรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย

“ต้องส่งเสียงถึงรัฐบาล เศรษฐกิจที่เข้มแข็งคือเศรษฐกิจจากฐานราก ต้องส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย ไม่ใช่ส่งเสริมแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ขอโทษนะ พูดกันอย่างตรงๆ ที่สุด การไปส่งเสริมให้ทุนใหญ่มาแข่งขันกับคนจนเป็นการส่งเสริมที่ผิดพลาดที่สุด ผมคิดว่ารัฐบาลต้องเข้าใจว่าต้องส่งเสริมคุ้มครองผู้ประกอบการอิสระ เสน่ห์ของประเทศไทยคือ “ใครใคร่ค้าค้า..ใครใคร่ขายขาย” ขอให้ไม่มีปัญหาต่อสังคม ทุกคนก็อิสระได้ซึ่งมันดีมาก นี่คือประเทศไทย คือความเป็นไทย นี่คือจุดแข็งของเรา” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าว

สำหรับข้อเสนอ 6 ข้อดังกล่าว ชมชนก จันทร์เทศรักษาการผู้อำนวยการสำนักนโยบายแรงงานนอกระบบ กระทรวงแรงงาน ระบุไว้ดังนี้ 1.พัฒนาทักษะฝีมือและส่งเสริมการศึกษาให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 2.สร้างโอกาสการมีงานทำที่ดีและมีความมั่นคง 3.ส่งเสริมคุ้มครองความปลอดภัย 4.สร้างหลักประกันทางสังคมและหลักประกันสุขภาพ 5.พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ และ 6.ส่งเสริมความร่วมมือในการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบทุกระดับ

“จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาในปี 2567 มีแรงงานนอกระบบได้รับการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่า 17 ล้านคน ซึ่งกระทรวงแรงงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการบูรณาการร่วมกันภายใต้แนวทางดังกล่าว จะเป็นการทำให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของแรงงานนอกระบบได้” รักษาการ ผอ.สำนักนโยบายแรงงานนอกระบบ กล่าว

SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  • สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน  อุตสาหกรรมการบินของไทย สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมการบินของไทย
  •  

Breaking News

จ่ายครบ280ล้าน! 'มาดามแป้ง'เคลียร์เงินสโมสรจบทุกลีก

'สรวงศ์'ขออย่าโยงการเมือง กับการลงโทษ 3 หมอปม 'ทักษิณ' ย้ำไม่เกี่ยว'รัฐบาลอิ๊งค์'

เศร้า! ช้างป่ากุยบุรีขาเจ็บล้มแล้ว สะเทือนใจผลชันสูตร

ศรีสะเกษดัน 'ส้มโอบ้านตาด' เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน จัดงานใหญ่ 14-16 พ.ค.

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved