กมธ.พัฒนาสังคมฯ จัดเสวนาระดมความคิดเห็นเรื่อง "บัตรคนพิการในยุคดิจิทัล" เพิ่มความสะดวกทำบัตรรวดเร็ว เพื่อโอกาสที่เท่าเทียมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เมื่อเร็วๆนี้ คณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภา จัดเสวนาระดมความคิดเห็นเรื่อง "บัตรคนพิการในยุคดิจิทัล" โดยมีนางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการ เป็นประธานกล่าวเปิดการเสวนา และศาสตราจารย์ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กล่าวรายงาน และนางสาวสุนีย์ ศรีสง่าตระกูลเลิศ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ "นโยบายบัตรคนพิการในยุคดิจิทัล" พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ ห้องประชุมสัมมนา B1-1 ชั้น B1 อาคารรัฐสภา (สส.)
นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานกมธ.พัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรีฯ กล่าวว่า จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 31 มกราคม 2568 พบว่า ประเทศไทยมีคนพิการที่ได้รับบัตรประจำตัวคนพิการ จำนวนกว่า 2 ล้านคน (2,211,105 คน) คิดเป็นร้อยละ 3.35 ของประชากรทั้งประเทศ คาดว่าในอนาคตคนพิการจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยปีละ 100,000 คน ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยในการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ ซึ่งมีแนวโน้มว่ามีโอกาสเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และความพิการ หรือช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เพิ่มมากขึ้น
โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติได้ประมาณการจำนวนคนพิการในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2565 ไว้ที่ประมาณ 4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนพิการที่ขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการตามข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จะพบว่าแตกต่างจากตัวเลขประมาณการของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาหลายประการที่เป็นอุปสรรคต่อการขึ้นทะเบียนคนพิการ อาทิ การไม่ต้องการจดทะเบียนเนื่องจากบางคนไม่คิดว่าตนเองเป็นคนพิการ ระดับความพิการไม่เข้าเกณฑ์การจดทะเบียน การขาดข้อมูลเกี่ยวกับกระบวน การขึ้นทะเบียน การไม่มีผู้พาไปดำเนินการ ตลอดจนข้อจำกัดด้านการเดินทาง นอกจากนี้ กระบวน การขึ้นทะเบียนคนพิการยังมีความซับซ้อนและต้องใช้เอกสารจำนวนมาก ทั้งที่ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิทัลควรที่ต้องทำให้คนพิการได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
โดยเริ่มพิจารณาตั้งแต่การกำหนดนิยามคนพิการที่ชัดเจนและตรงกันในแต่ละหน่วยงาน การจัดทำฐานข้อมูลคนพิการ การจัดทำบัตรดิจิทัลหรือแอปพลิเคชัน ตลอดจนการขอมีบัตรประจำตัวคนพิการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การจัดเสวนาในครั้งนี้จะทำให้คนพิการได้เข้าถึงบัตรคนพิการมากขึ้น และสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้โดยง่ายเพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกันเพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ศาสตราจารย์ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ รองประธานคณะกรรมาธิการ และประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส กล่าวว่า ปัจจุบันสังคมไทยก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตเป็นอย่างมาก แต่สำหรับกลุ่มคนพิการยังคงประสบปัญหาในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์จากภาครัฐและองค์กรต่าง ๆ ประกอบกับพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 19 ได้บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการได้รับสิทธิตามมาตรา 20 แต่ในข้อเท็จจริงมีคนพิการจำนวนมากที่ยังไม่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ส่งผลให้คนพิการไม่สามารถเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ ขั้นพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
สำหรับการเสวนาระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ จะนำความคิดเห็นที่ได้มีการแลกเปลี่ยนในการจัดประชุมเสวนาในครั้งนี้ ซึ่งแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นิยามและประเภทของความพิการ กลุ่มที่ 2 ฐานข้อมูลคนพิการและบัตรประจำตัวคนพิการ และกลุ่มที่ 3 การเข้าถึงบัตรประจำตัวคนพิการ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯจะสรุปความคิดเห็นจากการเสวนาประชุม เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภาและรัฐบาลต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี