มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ “AHSAN Trustmark (อาห์ซานทรัสมาร์ค)” จากงานวิจัยโดย มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ร่วมกับกรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก “หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)” ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
พัฒนากุญแจดอกสำคัญ “เครื่องมือช่วยสื่อสารและนำเสนอสินค้า” เปิดโลกธุรกิจชุมชนให้กว้างขึ้น เจาะตลาดผู้บริโภคทั้งชาวมุสลิม ผู้บริโภคทั่วไป ตลอดจนคู่ค้าในกลุ่มประเทศอาหรับ ทั้งนี้ “การรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ไม่ได้เกิดจากการกำหนดโดยหน่วยงานรัฐ แต่เกิดขึ้นมาจากการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งของผู้ประกอบการ (Bottom-Up) ฮิญาบในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้” เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในพื้นที่อย่างยั่งยืน
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม เล่าว่า AHSAN Trustmark เกิดขึ้นจากการที่คณะวิจัยได้มีโอกาสขับเคลื่อนงานวิจัยเชิงพาณิชย์ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา และในโครงการ “อาห์ซานทรัสมาร์ค : ฮิญาบและวิถีอาชีพ” ภายใต้กรอบการวิจัย Local Enterprises ของ บพท. ทำให้เกิดนวัตกรรม AHSAN Trustmark ซึ่งเป็น “มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์ที่ผสานคุณค่าและความศรัทธาขั้นสูงสุดตามหลักพื้นฐานของศาสนาอิสลาม” และชาวมุสลิมทั่วโลกเข้าใจความหมายของ AHSAN ดีว่าหมายถึง “สิ่งที่ดีที่สุด”
กล่าวคือ “เป็นการประกอบธุรกิจในวิถีมุสลิมที่ถูกต้องตามมาตรฐานสากล โดยไม่ขัดต่อระบบสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นการประกอบอาชีพ/ธุรกิจเพื่อสร้างรายได้หรือกำไรด้วยความมุ่งมั่นพยายาม และทำอย่างดีที่สุดเพื่อพัฒนาสินค้าที่มีคุณภาพและจริงใจต่อผู้บริโภค” ซึ่งสอดคล้องและสามารถบูรณาการได้อย่างลงตัวกับหลักการดำเนินธุรกิจชุมชนด้วยคุณค่า 5 ประการ (5L- Localism) ที่ได้เรียนรู้จาก “คน-ของ-ตลาด” โมเดล ของ บพท. ซึ่งเป็นกลไกสร้างคุณค่าและความยั่งยืนให้ธุรกิจชุมชนเกื้อกูล
ดังนั้น “สินค้าที่ได้การรับรองจากมาตรฐาน AHSAN Trustmark จึงบ่งบอกถึงคุณภาพสินค้าและคุณค่าทางจิตใจและความศรัทธา” โดยจะต้องมาจากผู้ประกอบการที่มีหลักในการดำเนินธุรกิจชุมชน หรือ 5L ได้แก่ 1.Local Wisdom and Culture ในการดำเนินธุรกิจ จะต้องไม่ขัดกับหลักการศาสนาและวัฒนธรรมที่ดีงาม มีการสืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.Local Employment and Resources ยกระดับผู้ผลิตต้นน้ำ ให้มีการสร้าง/จ้างงานคนในพื้นถิ่น มีการใช้ทรัพยากรหรือวัตถุดิบในพื้นถิ่น หรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า 3.Local Community & Network สร้างเครือข่ายชุมชน หรือเครือข่ายธุรกิจชุมชน รวมกลุ่มเพื่อแลกเปลี่ยนแบ่งปันองค์ความรู้ เทคนิค วัตถุดิบ โอกาสหรือตลาดรองรับสินค้า ทั้งยังทำให้เกิด 4.Local Economy โดยทำให้ห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจชุมชนยาวขึ้น ชุมชนมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตมากขึ้นและสามารถเติบโตไปด้วยกัน
และ 5.Local Support การคืนกำไรกลับสู่สังคมเมื่อธุรกิจสามารถดำเนินไปจนกระทั่งมีกำไรสุทธิ ร้อยละ 2.5 หรือที่เรียกว่า “ซะกาต” เพื่อดูแล และแบ่งปันให้กับบุคคล 8 กลุ่มตามหลักการของศาสนาอิสลาม โดยผู้ประกอบการท้องถิ่นมักจะนำซะกาตไปช่วยเหลือผู้ยากไร้ ขัดสน หากมีการจัดระบบซะกาตที่มีประสิทธิภาพจะสามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้อีกมากมาย จากกระบวนการวิจัยดังกล่าว นับเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งในระบบซะกาตของประเทศไทยต่อไปด้วย
นอกจากนั้น การรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ยังมีเงื่อนไขว่า ผู้ประกอบการควรนำกำไรไม่ต่ำกว่าร้อยละ 1 ไปบริจาคเพื่อสาธารณกุศล หรือ ที่เรียกว่า วากัฟ ซึ่งเป็นการให้โดยสมัครใจ บ่งบอกถึงการเสียสละเพื่อส่วนรวม ทั้งนี้ มาตรฐาน AHSAN Trustmark ไม่ได้พัฒนาขึ้นเพื่อผู้ประกอบการชาวมุสลิมเท่านั้น แต่เปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการทั่วไปทั้งในไทยและต่างประเทศที่ต้องการจะส่งออกสินค้าให้กับผู้บริโภคชาวมุสลิม สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการขอรับรองมาตรฐานดังกล่าวได้ด้วย โดยยึดหลักธุรกิจชุมชน 5L- Localism
ส่วนในเงื่อนไขการสนับสนุนชุมชน Local Support ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่มุสลิมสามารถนำหลักฐาน/ใบเสร็จการนำกำไรของธุรกิจไปบริจาค หรือให้คืนกลับสู่สังคมมาแสดงในการขอรับรองมาตรฐานได้เช่นกัน โดย ผศ.ดร.มัฮซูม กล่าวว่า ต้องการให้ AHSAN Trustmark เป็นมาตรฐานรับรองทุกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับหลักคิด Localism ทั่วประเทศไทย ดังนั้นการรับรองมาตรฐานสามารถยืดหยุ่นได้ในหลายระดับ แต่มีใจความสำคัญคือ ทุกธุรกิจควรมีการเกื้อกูลชุมชน เศรษฐกิจฐานราก เปิดโอกาสให้ผู้บริโภคเข้ามีมีส่วนร่วมในการขยับเศรษฐกิจฐานรากด้วย
“ปีที่ผ่านมาได้มีการนำร่องจำหน่ายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ในประเภทเสื้อผ้า ฮิญาบมุสลิม สืบเนื่องจากการทำงานวิจัยร่วมกับกรอบการวิจัย Local Enterprises ของ บพท. ในปีแรก (2565) ได้ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการธุรกิจฮิญาบท้องถิ่นกว่า 10 ราย พร้อมทั้งสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ประกอบการที่เป็นทีมเวิร์คสามารถแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และมีส่วนร่วมกันทั้งการพัฒนาความรู้ เทคนิค วัตถุดิบการผลิต การเงิน การบริหารและจับคู่ทางธุรกิจ การลดต้นทุน และตลาดผู้บริโภค
ทำให้อัตราการเติบโตของยอดจำหน่ายรวมกันอยู่ที่ 48 ล้านบาท จากเดิมที่ต่างคนต่างทำเพื่อหากำไรและแข่งขันกันเองภายในพื้นที่ ดังนั้นในปีที่ 2 (2567) ของการวิจัยจึงใช้ธุรกิจฮิญาบเป็นสินค้านำร่อง ร่วมกับสินค้าอื่นๆ โดยยอดจำหน่ายสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ของผู้ประกอบการ 15 รายนั้นมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 61” โดย ผศ.ดร.มัฮซูม ระบุ
สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจยื่นขอการรับรองมาตรฐาน AHSAN Trustmark ในเบื้องต้นผลิตภัณฑ์จะต้องผ่านการรับรองคุณภาพการผลิตขั้นพื้นฐานจากกรมทรัพย์สินทางปัญญาก่อนตามมาตรฐานการผลิตสินค้าประเภทต่างๆ อาทิ การรับรองจากมาตรฐานอาหารและยา (อย.), มาตรฐานฮาลาล โดยเฉพาะสินค้าประเภทอาหาร ผู้สนใจสามารถเข้าไปแสดงความประสงค์ได้ที่ เว็บไซต์ AHSAN Trustmark จากนั้นจะมีกระบวนการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ และตรวจสอบคุณสมบัติตามมาตรฐาน 5L-Localism ที่กล่าวไว้ข้างต้น
ล่าสุดสถาบันมาตรฐาน AHSAN Trustmark สามารถให้การรับรองมาตรฐานให้แก่สินค้าได้ถึง 9 ประเภท ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.ahsan-trustmark.org
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
ผศ.ดร.มัฮซูม สะตีแม
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี