คณะอนุกรรมการตรวจสอบ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา และ นางนพรัตน์ พรหมนารท อนุกรรมการตรวจสอบ พร้อมด้วย นางสุมลรัตน์ ดอกเขียว ผู้อำนวยการสำนักตรวจสอบ และคณะฯ ลงพื้นที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพ เขต 4 สระบุรี (สปสช. เขต 4 สระบุรี) เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา พร้อมเดินทางติดตามการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ที่โรงพยาบาลวิหารแดง อ.วิหารแดง จ.สระบุรี
ทั้งนี้ จากข้อมูลการตรวจสอบการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการฯ โดยทีมผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิสำนักตรวจสอบ เบื้องต้นพบการบันทึกบัญชีรายการการจ่ายชดเชยในบางประเภทที่ไม่สอดคล้องกับประเภทการจัดสรรเงิน ตัวอย่างเช่น การจ่ายในลักษณะเหมาจ่ายควรบันทึกในหมวดรายได้ ขณะที่การจ่ายในลักษณะชดเชยค่าบริการควรบันทึกในหมวดลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการรับรู้รายได้และการแสดงรายการในงบการเงินอย่างถูกต้อง
นอกจากนี้ยังพบประเด็นการนำรายได้ที่ได้รับ กรณี Fee schedule ของบริการผู้ป่วยนอก (OP) และบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (PP) ไปตัดจากค่าเหมาจ่ายรายหัว รวมถึงการบันทึกการเบิกราคาค่าบริการและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ต่ำกว่าราคาเบิกจ่าย ส่งผลให้งบการเงินของโรงพยาบาลมีรายได้ต่ำ ไม่สมดุลกับการให้บริการ ซึ่ง นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า หลังรับทราบปัญหา ในฐานะตัวแทนอนุกรรมการฯ พร้อมกับผู้เชี่ยวชาญการตรวจสอบจึงมาตรวจสอบปัญหาและพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของโรงพยาบาลเพื่อนำไปสู่การแก้ไข
โดยเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาเทคนิคด้านการเงินการบัญชี และไม่ได้เกิดที่โรงพยาบาลวิหารแดงเพียงแห่งเดียว เนื่องด้วยการบันทึกการเบิกจ่ายมีหลายระบบและมีรายละเอียดมากซึ่งก็น่าเห็นใจ ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานเองก็อาจมีความอาวุโสไม่มาก ดังนั้นจึงควรต้องมีการสังคายนาระบบบันทึกการเบิกจ่ายใหม่ เพื่อทำให้เกิดการใช้งานที่ง่าย มีความกระชับและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน อนึ่ง ในการมาครั้งนี้ไม่ได้มาเพื่อตรวจสอบโรงพยาบาล แต่มาเพื่อรับทราบประเด็นการเบิกจ่ายของโรงพยาบาลที่ติดขัดและเป็นอุปสรรค จะได้นำไปสู่การแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
ซึ่งสำหรับแนวทางการแก้ไข มองว่าจะต้องมีการพูดคุยกันทั้ง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งในส่วน สปสช.เขต และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อร่วมมือในการพัฒนาระบบการเบิกจ่ายควบคู่กับการยกระดับองค์ความรู้ในระบบการเบิกจ่ายฯ ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มงานประกัน การเงิน การบัญชีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“อย่างไรก็ดีจากประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ เชื่อว่าโรงพยาบาลในระบบบัตรทองทั่วประเทศก็น่าจะประสบปัญหาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง แต่จะต้องเข้าดูในส่วนของโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ด้วย หากมีปัญหาจะได้สร้างความรู้ความเข้าใจและเป็นการแก้ปัญหาในคราวเดียวกัน” นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นางนพรัตน์ กล่าวว่า จากข้อมูลที่รับฟัง หลักๆ แล้วเกิดจากปัญหาความไม่เข้าใจและความไม่รู้ในการบันทึกและส่งข้อมูลเบิกจ่าย ประกอบกับขาดการสื่อสารระหว่างผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งระบบการเบิกจ่ายนี้เป็นระบบที่ใหญ่ที่มีรายละเอียดมาก ทั้งยังมีหลากหลายระบบ โดยก่อนหน้านี้จากการลงพื้นที่โรงพยาบาลโชคชัย จ.นครราชสีมา ก็พบปัญหาเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแนวทางแก้ไขจะต้องมีการสื่อสารถึงวิธีและขั้นตอนการบันทึกข้อมูลเบิกจ่ายที่ถูกต้อง พร้อมการจัดอบรม (Workshop) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์และวิธีการบันทึกข้อมูลเบิกจ่ายและบัญชี มีการจัดทำ Flow chart คู่มือ รวมถึงแนวทางการช่วยแก้ไขปัญหาหากการเบิกจ่ายติดค้างในระบบ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลเกิดปัญหาการสะสมจนส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง
“ด้วยปัญหานี้เกิดขึ้นในหลายๆ โรงพยาบาลและหลายเขตพื้นที่ ดังนั้นทางออกจะต้องมีตัวอย่างของรูปแบบในการแก้ไขปัญหาและขยายรูปแบบนี้ไปยังเขตต่างๆ ดังนั้นอยากให้โรงพยาบาลวิหารแดงและ สปสช.เขต 4 สระบุรีเป็นโมเดลต้นแบบในเรื่องนี้ พร้อมประสานกับส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งฝั่งกระทรวงสาธารณสุข สปสช. เพื่อแก้ปัญหานี้ให้กับโรงพยาบาลอย่างเป็นระบบ” นางนพรัตน์ กล่าว
นพ.ประสิทธิชัย มั่งจิตร รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสระบุรี กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาระดับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขและ สปสช. ซึ่งในกรณีของระบบการลงบันทึกข้อมูลบริการและการเบิกจ่ายที่ไม่ตรงกัน ทำให้ระดับปฏิบัติงานในพื้นที่ต้องทำงานหนักมากขึ้นและเบิกจ่ายเงินได้ยากขึ้น รวมถึงความไม่พร้อมของส่วนกลาง เมื่อพื้นที่เกิดปัญหาส่วนกลางก็ไม่สามารถตอบสนองได้ทันที ทำให้เกิดความล่าช้าออกไปและสะสม
ขณะเดียวกัน ในด้านการเงินและบัญชีทางส่วนกลางก็ต้องการความถูกต้องที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การยืนยันตัวตนใช้สิทธิและปิดก็ต้องการความปลอดภัยสูงสุดที่ต้องมีกระบวนการและคนทำงานเพิ่ม รวมไปถึงนโยบาย OP Anywhere จะชัดเจนว่าพื้นที่ต้องทำถึงระดับไหน เพราะที่ผ่านมาพื้นที่คิดว่าเมื่อให้บริการแล้วเงินจะมาด้วย แต่เงินกลับไม่มา ตรงนี้ต้องคุยกัน อย่างไรก็ดีปัญหาที่เกิดขึ้น มองว่าระดับเขตยังสามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง
โดยใช้โครงสร้างที่มี ทั้งผู้ตรวจกระทรวงระดับเขต สสจ. สปสช.เขต และคณะกรรมการ 5X5 (คณะทำงานเพื่อกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต) รวมทั้งส่วนกลางเองจะต้องส่งทีมมาช่วยในการปรับระบบต่างๆ ให้เหมาะสมกับพื้นที่และการตรวจสอบที่เหมาะสมที่ไม่สร้างภาระงานมากเกินไป ไม่เช่นนั้นอนาคตปัญหาก็จะหนักมากขึ้น
“หากจะนำร่องที่ สปสช. เขต 4 สระบุรี ต้องมาช่วยกันดูว่าจะวางระบบกันแบบไหนอย่างไรจึงจะเหมาะ เพื่อให้เป็นข้อมูลส่งกลับไปในการวางโมเดลระดับประเทศ ที่ตอบโจทย์แก้ไขในเชิงระบบได้ ซึ่งหากไม่ทำในอนาคตปัญหานี้ก็จะหนักหน่วงกว่าเดิม นอกจากนี้ควรจัดทำคู่มือการลงบันทึกข้อมูลในระบบ เพื่อที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้ทำได้อย่างถูกต้อง รวมถึงการส่งข้อมูลเบิกจ่ายกลับเพื่อให้โรงพยาบาลได้รับรู้” รอง สสจ.สระบุรี กล่าว
นพ.สาธิต ทิมขำ ผอ.สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าวว่า เขตยินดีเป็นเจ้าภาพในการสร้างโมเดลการบริหารจัดการบัญชี การลงบันทึกข้อมูลและการเบิกจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ความสามารถการบัญชีของเขตมีจำกัด ดังนั้นต้องอาศัยส่วนกลางมาช่วยวางโมเดลและดำเนินการ หากทำและสามารถแก้ปัญหาภายในเขตได้ก็จะขยายไปยังเขตอื่นๆ ต่อไป ซึ่งเครือข่ายงานประกันในพื้นที่ต่างก็มีความยินดีที่จะช่วยเราเช่นกัน
“ส่วนตัวแล้วเข้าใจนักบัญชีในระดับปฏิบัติงานที่มีการหมุนเวียน การทำเบิกจ่ายในระบบก็คงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก ดังนั้นจึงควรมีรูปแบบและคู่มือในการบันทึกเบิกจ่ายกองทุนฯ เพื่อให้รู้วิธีและขั้นตอนการบันทึกการเบิกจ่ายที่ถูกต้อง โดยอาจขอให้ รพ.วิหารแดงเป็นต้นแบบ และเมื่อพื้นที่สำเร็จก็จะมีการขยายเป็นครู ก. และครู ข. เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่างๆ ต่อไป” นพ.สาธิต กล่าว
ก่อนหน้านี้ พญ.พรพิมล หนูโทน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิหารแดง ได้รายงานสถานการณ์โรงพยาบาลว่า รพ.วิหารแดงมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เครือข่ายในพื้นที่ 7 แห่ง มีประชากร 41,392 คน ร่วมดูแลผู้ใช้สิทธิบัตรทองและดำเนินการตามนโยบายทั้งผู้ป่วยนอกไปที่ไหนก็ได้ (OP Anywhere) และบัตรประชาชนใบเดียว (One ID) สถานการณ์การเบิกจ่ายการบริการสิทธิบัตรทอง ปีงบประมาณ 2567 เงินที่โรงพยาบาลได้รับการเบิกจ่ายเริ่มต่ำกว่าจำนวนบริการที่ได้เรียกเก็บ
และในปีงบประมาณ 2568 เงินที่ได้รับการเบิกจ่ายชดเชยมีจำนวนต่ำกว่าการเรียกเก็บอย่างมาก โดยบริการข้ามเขต รพ.ได้เรียกเก็บค่าบริการที่ จำนวน 173.01 ล้านบาท ได้รับการจ่ายชดเชย จำนวน 65.76 ล้านบาท บริการข้ามจังหวัด จำนวนการเรียกเก็บ จำนวน 70.23 ล้านบาท ได้รับการจ่ายชดเชย จำนวน 24.85 ล้านบาท และบริการในจังหวัดการเรียกเก็บ จำนวน 666.64 ล้านบาท
“โรงพยาบาลติดปัญหาการเบิกจ่าย ด้วยต้องส่งข้อมูลจำนวนมากในระบบ Financial Data Hub (FDH) ที่ได้เริ่มในปี 2567 และถูกชะลอการจ่ายต่อเนื่อง เนื่องจากติดเงื่อนไขการเบิกจ่าย ขณะที่การสอบถามข้อมูลเพื่อทำการแก้ไข คำตอบที่ได้รับขาดความชัดเจน ไม่ตรงจุด ส่งผลให้การแก้ไขข้อมูลมีปัญหาด้วยเช่นกัน จึงทำให้ค่าบริการจำนวนหนึ่งยังไม่สามารถเบิกได้จนเกิดปัญหาสภาพคล่องและกระทบต่อการโอนงบประมาณไปยัง รพ.สต.” พญ.พรพิมล กล่าว
SCOOP.NAEWNA@HOTMAIL.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี