สสส.สานพลังเครือข่าย อปท.
ปกป้องพื้นที่ภาคใต้ไร้บุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า
เมื่อวันที่ 22-23 พฤษภาคม 2568 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย จัดเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมศักยภาพและสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในการเพิ่มประสิทธิภาพ การควบคุมการบริโภคบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในพื้นที่ภาคใต้ โดยมีตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักวิชาการ ผู้นำชุมชน และภาคีเครือข่ายจากทั่วประเทศเข้าร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และนำเสนองานต้นแบบของการควบคุมการบริโภคยาสูบอย่างมีประสิทธิภาพในระดับพื้นที่ หลังพบประชากรพื้นที่ภาคใต้มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่เป็นอับดับ 1 และพบว่าวงการแพทย์สูญเสียเงินไปกับค่ารักษาผู้ป่วยจากบุหรี่ไฟฟ้าหลักแสนล้านบาท
นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สังคมไทยเริ่มเห็นผลกระทบร้ายแรงจากบุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเยาวชนบ้างแล้ว โดยในปี 2567 พบคนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 900,459 คน ขณะซึ่งเด็กเยาวชน อายุ 13-15 ปี มีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่าใน 7 ปี และ ขณะเดียวกันในพื้นที่ภาคใต้ก็ครองแชมป์อันดับ 1 พบผู้สูบบุหรี่เยอะมากกว่าภาคอื่นๆ จึงทำให้ สสส. เดินหน้าขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาร่วมกับภาคีเครือข่ายในทุกๆ ปี โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชนในภาคใต้ หวังต้องการลดการใช้บุหรี่ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด เพราะหากร่างกายได้รับสารนิโคตินจะมีความรุนแรงเทียบเท่ายาบ้า จึงมีความพยายามจัดกิจกรรมสนับสนุนทำให้เกิดสถานศึกษาปลอดบุหรี่ และทำสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสร้างให้เกิดเครือข่ายสถานศึกษาปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ เกิดครูแกนนำ และเยาวชนนักสื่อสารเรื่องบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าเพื่อส่งต่อข้อมูลพิษภัยบุหรี่ในกลุ่มวัยเดียวกัน ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถตัดสินใจเลือกการมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ด้วยตัวเอง
“บุหรี่ไฟฟ้าใช้นิโคตินแบบน้ำยานิโคตินเหลวเป็นส่วนประกอบ และมีอีกผลิตภัณฑ์คือ HTP ไม่มีอะไรที่ปลอดภัยเลยเพราะนิโคตินก่อให้เกิดการเสพติด เมื่อร่างกายเริ่มรับนิโคตินเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ตกเป็นทาสผลิตภัณฑ์เหล่านี้และเสี่ยงต่อการเกิดโรคและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่ง WHO ก็ออกมาระบุแล้วว่า นิโคติน เป็นสารเสพติดสูงเพราะฉะนั้นเรามาร่วมกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมที่เราอยู่ห่างไกลจากบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้มากที่สุด” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ทั้งย้ำว่า ยังมี มี 4 โรคที่พบในผู้ป่วยที่เกิดจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าคือ 1.โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 2.โรคหลอดเลือดสมอง 3.โรคหัวใจขาดเลือด และ 4.โรคหอบหืด โดยยังพบต้นทุนค่ารักษาพยาบาลโรคที่เกิดจากบุหรี่ไฟฟ้า เบื้องต้นในปี 2567 ที่ต้องใช้เงินรักษาระยะยาวกว่า 306,636,973 บาท
ขณะที่ รศ.ดร.พญ.รัศมี โชติพันธุ์วิทยากุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่า การทำงานขับเคลื่อนร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มองเห็นโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น หลังพบว่าปัจจุบันไทยมีภาวะคุกคามด้านสารเสพติดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้สถานการณ์น่าเป็นห่วงทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าและสารเสพติดอื่นๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดน อปท. ที่อยู่ทั่วไทยถ้าเราร่วมพลังกันมีเป้าหมายร่วมกันและใช้ Ottawa Charter เป็นเข็มทิศสร้างพื้นที่ปลอดบุหรี่ยั่งยืน สร้างกระบวนการรับรู้เกี่ยวกับความอันตรายบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และทักษะการปฏิเสธ เพราะขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้าแทรกแซงเข้าทุกพื้นที่ แม้กระทั่งในสถานศึกษาที่มาในรูปแบบ และอ้างอิงจากงานวิจัยพบว่าเด็กเยาวชน มองว่าการพกบุหรี่ไฟฟ้ามีความเท่และทันกระแส
“เด็กบางคนกลับมาถามพ่อแม่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าคืออะไร เพราะเพื่อนเอามาโชว์ให้ดูซึ่งเป็นรูปลักษณ์ที่มีสีสันลายการ์ตูนหรือตุ๊กตา ซึ่งกลายเป็นสิ่งที่ทำให้เขาอยากสะสม แต่ไม่รู้ว่าเป็นนั่นคือสารพิษเต็มๆ อันตรายต่อพัฒนาการด้านสมองและความคิด จนกระทั่งนำไปสู่การเกิดสมาธิสั้นเทียมได้ง่าย หรือแม้กระทั่งโรคอื่นๆ เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ตอนนี้ทุกหัวระแหงสามารถเข้าถึงได้ง่ายมาตรการด้านกฎหมายต้องเข้มงวดมากกว่านี้ รวมถึงการให้ความรุู้ความเข้าใจสู่ระบบสถานศึกษา ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการต่อต้านและห่างไกลจากสิ่งเสพติดเหล่านี้ได้ในที่สุด” รศ.ดร.พญ.รัศมี กล่าว
ขณะที่ นายนูรูดดีน สูลัยมาน ผอ.กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ปัญหาการสูบบุหรี่ในพื้นที่เป็นต้นตอของปัญหายาเสพติด วันนี้บุหรี่ไฟฟ้ากำลังลุกลามไปสู่กลุ่มวัยรุ่นในพื้นที่ ซึ่งในศาสนาอิสลามถือเป็นอันตรายต่อสุขภาพและเป็นฮะรอม คือการสูบบุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม เราจึงใช้มัสยิดเป็นจุดกระจายข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าขณะเดียวกัน ก็มีการประกาศเจตนารมณ์กับภาคีเครือข่ายผ่าน “สภาสันติสุข” สร้างธรรมนูญหรือกฎร่วมกันหนึ่งเพื่อเป็นเกราะป้องกันของชุมชนไร้บุหรี่ทุกประเภท หลังพบประชาชนในพื้นที่เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะโรคมะเร็ง ขณะเดียวกันก็ได้สร้างเยาวชนต้นแบบเพื่อชักชวนเพื่อนวัยเดียวกันร่วมทำกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า นี่คือการขับเคลื่อนชุมชนปลอดบุหรี่โดยยึดแนวคิด “เลิกสูบ ก็เจอสุข”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี