สารหนูและตะกั่ว ... หายนะเงียบในลำน้ำกก
กลางลำน้ำกกที่เคยใสเย็น ห้อมล้อมด้วยภูเขาและชุมชนชาวเหนือที่อิงอาศัยสายน้ำมาหลายชั่วอายุคน วันนี้กลับกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนสารพิษที่เงียบงันที่สุดและอันตรายที่สุดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ
ใครบางคนอาจยังคงพูดถึงปลาหมอคางดำที่ว่ายเวียนอยู่ในน้ำว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่ น่าสงสัย หรือแม้แต่สร้างความตื่นตระหนกว่ามันทำลายสิ่งแวดล้อม แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในแม่น้ำกกแล้ว ปลาหมอคางดำเหล่านั้นดูจะเป็นเรื่องเล็กไปเลย เพราะมันไม่ได้เป็นพิษต่อร่างกาย ตรงกันข้ามยังนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย แต่ที่แม่น้ำสายและแม่น้ำกกซึ่งไหลมาบรรจบกันก่อนจะไหลลงแม่น้ำโขง กำลังกลายเป็นแหล่งสะสมของ “สารหนู” และ “ตะกั่ว” อย่างต่อเนื่องและรุนแรง เรื่องนี้ต่างหากที่เป็นหายนะต่อสิ่งแวดล้อมและสรรพสิ่งอย่างแท้จริง
สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) เผยผลตรวจค่ามลพิษในแม่น้ำกก ณ บริเวณสบกก อำเภอเชียงแสน พบค่าของ “สารหนู” สูงถึง 0.036 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ถึง 3.6 เท่า ขณะที่แม่น้ำสายก็ไม่ได้ปลอดภัย ตัวเลขสารหนูที่สูงถึง 0.49 มิลลิกรัมต่อลิตร เกินมาตรฐานเกือบ 50 เท่า นำไปสู่การห้ามใช้น้ำเพราะเปื้อนสารพิษ เมื่อ 4 เม.ย.68 บ่งชี้ชัดว่านี่ไม่ใช่เรื่องเล็ก และไม่ใช่ปัญหาชั่วคราวที่ธรรมชาติจะฟื้นตัวเองได้
ยิ่งไปกว่านั้น ความเงียบของ “รัฐ” และ “การเจรจาข้ามพรมแดน” ที่ยังไม่ไปถึงไหน ทำให้ประชาชนต้องเผชิญหน้ากับสารพิษเหล่านี้โดยไร้เครื่องป้องกัน ความจริงคือ ต้นน้ำของแม่น้ำกกและแม่น้ำสายอยู่ในเขตเมียนมา ซึ่งมีการทำเหมืองแร่ทองคำแบบเปิดและแบบฉีดไซยาไนด์เพื่อสกัดทองคำ กิจกรรมเหล่านี้ทิ้งคราบสารหนู สารตะกั่ว และอาจรวมถึงสารไซยาไนด์ลงสู่แหล่งน้ำโดยตรง โดยปราศจากระบบบำบัดน้ำเสียใด ๆ ก่อนปล่อยกลับสู่ธรรมชาติ
หลายหมู่บ้านริมน้ำเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลง น้ำมีสีขุ่นผิดปกติ ปลาเริ่มหายไป เด็ก ๆ เริ่มมีผื่นตามตัว และแหล่งน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคก็ไม่ปลอดภัยอีกต่อไป นี่ไม่ใช่แค่ “เรื่องของสิ่งแวดล้อม” หากแต่คือเรื่องของ “ความอยู่รอดของมนุษย์” และ “ความยุติธรรมข้ามพรมแดน”
แม่น้ำกกไม่ใช่แม่น้ำของประเทศไทยเพียงฝ่ายเดียว มันเป็นสายเลือดร่วมกันของประชาชนไทย-เมียนมา ที่ผูกพันกันมานานนับศตวรรษ แม้ต้นทางปัญหาจะอยู่เหนือพรมแดน แต่ผลกระทบกลับตกที่ปลายทาง นี่จึงไม่ใช่แค่เรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของ “มลพิษข้ามพรมแดน” ที่ต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน การรอให้ระดับสารพิษสะสมมากกว่านี้ไม่ใช่ทางออก และคำว่า “อยู่ระหว่างการเจรจา” ที่เรามักได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่าก็ไม่สามารถเป็นเกราะป้องกันให้คนท้องถิ่นดื่มน้ำได้อย่างปลอดภัยอีกต่อไป
รัฐบาลไทยควรจัดตั้งคณะทำงานพิเศษด้านความปลอดภัยทางสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ เพื่อเจรจา แก้ไข และเรียกร้องให้ประเทศเพื่อนบ้านรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น ในเวลาเดียวกันต้องเร่งวางมาตรการคุ้มครองประชาชนริมน้ำ ตั้งแต่การจัดหาน้ำสะอาด การตรวจสุขภาพ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และการเผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใสและทันเวลา
อย่าให้เสียงของผู้คนเงียบหายไป พร้อมกับชีวิตที่ค่อย ๆ ล้มตายเพราะสารพิษในสายน้ำเลย
#ภาสกร เรืองยศไกร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี