2 กรกฎาคม 2568 ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" เกี่ยวกับข้อกังวลที่ว่าจะเกิดเหตุภูเขาไฟใต้ทะเลอันดามันปะทุขึ้น โดยระบุข้อความว่า ... แผ่นดินไหวเป็นระยะที่ภูเขาไฟใต้น้ำในทะเลอันดามัน จึงอยากมาอธิบายให้เพื่อนธรณ์ทราบแบบสรุปครับ
'สึนามิ' เกิดจากแผ่นดินไหว หรือภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดในทะเล (อาจเกิดจากภูเขาถล่มในฟยอร์ด แต่ไม่มีในบ้านเรา) แผ่นดินไหวในเมียนมาร์เกิดบนแผ่นดินไกลทะเล ไม่เกี่ยวกับสึนามิ (แต่เราอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวโดยตรง) สีนามิในอ่าวไทยเกิดยาก ถ้าเกิดจะมีขนาดเล็กมาก รู้ล่วงหน้านาน เพราะอยู่ห่างจุดเกิดแผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด (อินโด/ฟิลิปปินส์)
เมื่อพูดถึงสึนามิ ที่ต้องระวังคือฝั่งทะเลอันดามัน จุดเกิดมี 2 แห่ง ในอินโด (จุดเดิมที่เคยเกิด) และแนวเกาะอันดามัน/นิโคบาร์ (แผ่นดินไหว ภูเขาไฟใต้น้ำ) ประเทศอินเดีย เกาะภูเขาไฟแห่งเดียวในแถวนี้คือเกาะ Barren แต่แผ่นดินไหวถี่ๆ ในช่วงนี้ไม่ใช่ที่เกาะนั้น แต่อยู่ใต้ลงมา เป็นแนวภูเขาไฟเดียวกัน แต่จมอยู่ใต้น้ำ ทะเลแถวนี้ลึก 2,000+ เมตร มีภูเขาไฟระเบิดจนโผล่เหนือน้ำแห่งเดียวคือเกาะ barren ที่ยัง active อยู่ มีการระเบิดเป็นระยะ ล่าสุดคือปี 2022 จึงมีความเป็นไปได้ที่ภูเขาไฟใต้น้ำในแนวเดียวกันจะระเบิด แต่ไม่มีใครบอกได้ว่าเมื่อไหร่ เมื่อมีแผ่นดินไหวถี่ๆ ในบริเวณนั้น (แรงเกิน 4 ขึ้นไป) อาจเกิดการเคลื่อนของแมกมา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะระเบิดแน่ ต้องตามดูต่อไป
(จุดนี้เกิดแผ่นดินไหวถี่ๆ เป็นแนวภูเขาไฟใต้น้ำเชื่อมต่อมาจากเกาะ barren (จุดเขียว) จะเห็นว่าแนวตรงกับจังหวัดพังงา ห่างออกไป 470-480 กม. หากมีคลื่นจะเข้าฝั่งด้านนี้ เร็วกว่าครั้งก่อนในปี 46)
สึนามิเกิดจากภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดมีหลายครั้ง หนล่าสุดคือที่ tonga Hunga Tonga–Hunga Haʻapai eruption เกิดในปี 2022 กลางมหาสมุทรแปซิฟิก คลื่นสึนามิใหญ่มาก สูง 20 เมตร (บางจุดรายงานว่ามากกว่านั้น) แต่เคราะห์ดีที่เกิดห่างไกลในมหาสมุทรแปซิฟิก จึงมีผู้เสียชีวิตไม่มาก ภูเขาไฟใต้น้ำในอันดามัน จุดที่เกิดการไหวถี่ๆ ห่างจากพังงา 470-480 กม. (กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว)หากเกิดการระเบิดที่จุดนั้น อาจเกิดสึนามิระดับน่าห่วงได้ เพราะน้ำค่อนข้างลึก หากระเบิดแรงจะมีมวลน้ำจำนวนมากถูกผลักออกมาให้กลายเป็นคลื่น เนื่องจากอยู่ใกล้ไทยมากกว่าจุดที่เคยเกิดแผ่นดินไหวและสึนามิในปี 46 คลื่นจึงอาจเข้าถึงฝั่งเร็วกว่าหนนั้น (คราวก่อนประมาณ 2 ชม.)
จุดเกิดต่างกัน การเกิดต่างกัน (แผ่นดินไหว/ภูเขาไฟระเบิด) แนวคลื่นอาจต่างกัน จุดที่ไม่เคยโดนหรือโดนน้อย ก็ต้องระวังไว้ มีการซ้อมเตือนภัย/ซ้อมอพยพ เป็นเรื่องที่ดี แต่ไม่ต้องตกใจว่าจะเกิดแน่ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดหรือไม่ ญี่ปุ่นมีข่าวว่าจะเกิดๆ มาหลายเดือนแล้วก็ยังไม่เกิดแบบภัยพิบัติ
(ภาพการระเบิดของภูเขาไฟใต้น้ำที่ตองกา)
เพื่อนธรณ์จึงไม่ต้องตระหนก แต่ถ้ายังมีการไหวถี่ๆ แบบนี้ก็คงต้องเฝ้าระวังไว้บ้าง พูดคุยซักซ้อมกับคนในครอบครัวว่าหากฉุกเฉินทำไง ดูเส้นทางหนีภัยใกล้ตัว ฯลฯ คราวก่อนตึก 3 ชั้นอาจไม่พ้น เทียบกับทองก้าแล้ว แนะนำตึก 7-8 ชั้นขึ้นไป (ถ้าหาไม่ได้ก็ไปตามเส้นทางอพยพ) ลูกหลานที่อยู่โรงเรียน ต้องพูดคุยกับคุณครูให้ชัดเจน โรงเรียนควรมีแนวทางฉุกเฉินบอกผู้ปกครอง ไม่ใช่ขับรถไปติดกองกันหน้าโรงเรียน
สุดท้าย อย่าเชื่อข่าวลือใดๆ ให้ตกใจสั่นประสาท ติดตามข้อมูลจากหน่วยงาน/นักวิชาการที่เชื่อถือได้ มีแบคกราวด์ทำงานด้านนี้ ไม่ใช่ใครที่ไหนก็ไม่รู้ จู่ๆ ก็เก่งทันที ถ้าคนเราเก่งได้เร็วขนาดนั้น ผมกับผู้เชี่ยวชาญท่านอื่นๆ คงไม่ต้องทั้งเรียนทั้งวิจัยกันให้เหนื่อยมาหลายสิบปี นอนกลิ้งอยู่บ้านรอเวลาฟ้าประทานความเก่งมาให้กลายเป็นเวล 999 ดีกว่าฮะ
ขอบคุณข้อมูล : Thon Thamrongnawasawat
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี