6 กรกฎาคม 2568 ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และอดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟสบุ๊ก ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ - Dr.Samart Ratchapolsitte ถึงกรณีนโยบายของรัฐบาลรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะทำให้รัฐบาลต้องชดเชยรายได้ให้เอกชน เป็นนโยบายเอื้อประโยชน์ให้นายทุนหรือไม่ ระบุว่า
รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระวัง! อย่าแถมเงินให้นายทุน
เป็นข่าวดีสำหรับผู้ใช้รถไฟฟ้าที่รัฐบาลจะเริ่มใช้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย สำหรับรถไฟฟ้าทุกสายทุกสีตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2568 เป็นต้นไป นั่นคือผู้โดยสารจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ไม่ว่าจะนั่งใกล้หรือไกล
นโยบายนี้จะทำให้เอกชนผู้รับสัมปทานได้รับรายได้จากค่าโดยสารลดน้อยลง ซึ่งรัฐจะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชน พูดได้ว่ารัฐจะช่วยจ่ายค่าโดยสารส่วนหนึ่งแทนผู้โดยสาร แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐจะต้องชดเชยรายได้ให้เอกชนเป็นจำนวนเท่าไร และใช้หลักเกณฑ์อะไรในการคำนวณ ซึ่งหากการชดเชย "เกินความจำเป็น" อาจนำไปสู่คำถามว่า นี่คือนโยบายประชานิยมหรือการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนทางราง? อาจทำให้ถูกมองว่าเป็นการเอื้อนายทุนอย่างแยบยล
ที่สำคัญ จะหาเงินจากที่ไหนมาชดเชยให้เอกชน มีการพูดกันว่าจะใช้เงินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งรายได้จากการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โดยได้รับส่วนแบ่งมาจากเอกชนผู้รับสัมปทาน ก็คงมีพอที่จะใช้ได้เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น หากไม่มีรายได้ใหม่เข้ามาอย่างยั่งยืน การรักษานโยบายนี้ในระยะยาวจะทำได้ยาก
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่จะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน ซึ่งจะต้องใช้เงินก้อนใหญ่ โดยจะหาเงินจากการเก็บค่าผ่านทางเข้าย่านธุรกิจซึ่งมีรถติดที่เรียกกันว่าค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge หรือ Congestion Pricing) ตามที่กระทรวงคมนาคมได้คิดไว้เป็นแนวทางหนึ่ง ซึ่งก็เงียบหายไป
อย่าลืมว่า เลือกตั้งครั้งหน้าใกล้เข้ามาทุกที ทำให้นโยบายนี้อาจถูกมองได้ว่าเป็นการ "โปรยเสน่ห์ทางการเมือง" มากกว่าจะเป็นการปฏิรูประบบขนส่งอย่างจริงจัง หากไม่มีแหล่งรายได้รองรับอย่างยั่งยืน นี่อาจเป็นเพียง "โปรโมชั่นชั่วคราว" ที่จบลงพร้อมกับวาระของรัฐบาล
โดยสรุป ผมเห็นด้วยที่จะทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่มีคำถามเกิดขึ้นดังนี้
1. มีหลักเกณฑ์การชดเชยรายได้ให้เอกชนผู้รับสัมปทานอย่างไร? จึงจะไม่ทำให้เอกชนมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน
2. ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบว่าจำนวนเงินชดเชยเหมาะสมหรือไม่? ชดเชยมากเกินไปหรือไม่?
3. นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย จะใช้แหล่งเงินชดเชยจากที่ไหน? และจะอยู่ได้นานกี่ปี?
4. ยังมีแนวคิดที่จะซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากเอกชนอีกหรือไม่? และถ้ามี จะหาเงินจากไหนมาซื้อคืน? ยังคงคิดที่จะเก็บค่าธรรมเนียมรถติดอยู่อีกหรือไม่?
ทั้งหมดนี้ด้วยความหวังดี อยากให้นโยบายนี้มีความยั่งยืน ไม่ใช่แค่หาเสียงก่อนการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งหน้าเท่านั้น
.012
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี