“วัยเด็ก” เป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญ โดยเฉพาะช่วงปฐมวัยเพราะสมองของเด็กจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การปลูกฝังสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมในช่วงนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนพฤติกรรมเมื่อตอนโต และหนึ่งใน “สื่อ” ที่จะสร้างพัฒนาการการเรียนรู้ต่อสิ่งต่างๆ สำหรับเด็กได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ “นิทาน”
ดังนั้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและ 23 องค์กร ที่เห็นความสำคัญตรงนี้ จึงได้จัดงานแถลงข่าว “พลังเด็กพลังเครือข่ายรู้ทันทอยพอด” โดยในเวทีนี้ได้มีการเปิดผลสำรวจทักษะพื้นฐานการรู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล (Media Information and Digital Literacy : MIDL) และพฤติกรรมสุขภาพจากการใช้ชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” พร้อมสานพลังภาคี ประกาศมาตรการ “หยุดบุหรี่ไฟฟ้า ภัยร้ายทำลายเด็กไทย“
อาจารย์วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ ประธานกรรมการบริหาร คณะที่ 8 สสส. ระบุว่า เป้าหมายพิเศษ ระยะ 10 ปี ระหว่าง พ.ศ.2565-2574 สสส. ให้ความสำคัญในด้านการสร้างเสริมสุขภาพทุกด้านและการลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะประเด็นภัยที่คุกคามเด็ก แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เป็นหนึ่งในภาคีสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก 11) จึงได้บูรณาการร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สำนัก 1) เครือข่ายอ่านยกกำลังสุข เครือข่ายพลังอ่านชายแดนใต้ พื้นที่ปฏิบัติการเด็กปลอดพอดกว่า 233 พื้นที่ ใช้นิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” เป็นเครื่องมือสร้างภูมิคุ้มกัน ให้รู้เท่าทันภัยและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
ทั้งนี้ จากการติดตามผลของ We are happy ใน 16 พื้นที่นำร่อง เด็ก 576 คน พบว่า เด็กวัยอนุบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและประถมศึกษาตอนต้น มีทักษะเท่าทันสื่อ โดยรู้จักแยกแยะระหว่างทอยพอดและของเล่นเข้าใจรู้ถึงภัยของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีผลกับตนเองและครอบครัว เด็กหลายคนร้องขอให้พ่อแม่เลิกบุหรี่-บุหรี่ไฟฟ้า เพราะอยากให้พ่อแม่อยู่กับลูกไปนานๆ ฯลฯ โดยจากระดับ 3 คะแนน มีระดับค่าคะแนน ถึง 2.45, 2.83 และ 2.87 ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงมาก หากทุกๆ องค์กรนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวาง จะได้ร่วมกันปกป้องลูกหลานของเรา
ขณะที่ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และกลุ่ม We are happy ได้เปิดเผยผลการศึกษาทักษะพื้นฐาน MIDL และพฤติกรรมสุขภาพ ชุดนิทานเตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า “เด็กปลอดพอด” ซึ่ง นางสุดใจย้ำว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กปฐมวัยถึงอนุบาล เป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ไขและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ข้อมูลที่น่าตกใจชี้ว่า ผู้ปกครองจำนวนมาก ยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งอาจทำให้บุตรหลานตกเป็นเหยื่อโดยไม่รู้ตัว
“ยิ่งไปกว่านั้นคือ บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เด็กเสพติดได้ในเวลารวดเร็วเพียง 3-4 ครั้ง ซึ่งเร็วกว่าบุหรี่ทั่วไป นอกจากนี้ คุณสมบัติเฉพาะที่ไม่มีกลิ่นเหมือนบุหรี่ทั่วไป แต่กลับมีกลิ่นหอม อาจทำให้เด็กหลงเสพหลายครั้ง ไม่รู้ว่ากำลังทำลายปอด และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้”
ทางแผนงานยุทธศาสตร์สร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และภาคีเครือข่ายฯ จึงได้พัฒนาหนังสือภาพสำหรับเด็กและกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเป็นเครื่องมือหลักในการสื่อสาร ซึ่งได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญงานสร้างสรรค์เด็กระดับแถวหน้าของเมืองไทยเพื่อให้เด็กเล็กสามารถรับรู้เรื่องราวและเข้าใจเนื้อหาได้โดยมีผู้ใหญ่ คุณครู พ่อแม่ ผู้ปกครองอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ทำให้เด็กเรียนรู้เข้าใจ และป้องกันภัยให้ตนเองได้ ที่สำคัญคือ มีข้อมูลสำหรับผู้ใหญ่ที่อยู่ด้านหลังของหนังสือแต่ละเล่ม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ปกครองหรือครูได้เข้าใจถึงที่มาและความสำคัญของหนังสือ รวมถึงวิธีที่จะช่วยปกป้องเด็ก
ทั้งนี้ จากการนำนิทานชุดนี้ไปทดลองใช้ในพื้นที่ต้นแบบ 233 แห่ง และเก็บข้อมูลเชิงลึกใน 16 พื้นที่ โดยกลุ่ม We are happy พบว่า ชุดหนังสือสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความตระหนักรู้ โดยเฉพาะจากกิจกรรม “พี่สอนน้องอ่าน” ที่ให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาอ่านนิทานให้รุ่นน้องอนุบาลฟังในโรงเรียน
“นอกจากน้องเล็กจะรู้จักทอยพอดแล้ว นักเรียนรุ่นพี่บางคนถึงกับตกใจและหวาดกลัวมาก เมื่อได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า นอกจากนี้ ผู้ปกครองและครูยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่เด็กอาจมาสารภาพการใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้”
นางสุดใจ ระบุด้วยว่า สิ่งที่เราคาดคือ หนังสือนิทานนี้จะช่วยให้ ครอบครัวที่ไม่รู้จักอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าหันมาระมัดระวัง ตระหนักถึงความเสี่ยง หยุดพฤติกรรมดังกล่าว และดูแลสุขภาพปอดและร่างกายมากขึ้น นี่เป็นการตอกย้ำถึง “พลังของหนังสือ พลังของเด็ก” ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผู้รับสารเท่านั้น แต่ยังสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และป้องกันภัยให้ตนเองได้อีกด้วย
ย้ำว่า หนังสือนิทานชุด “เด็กปลอดพอด” ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้กับเด็ก โดยมีพื้นฐานมาจากความสำเร็จของหนังสือชุดที่เคยจัดทำมาแล้วและประสบความสำเร็จอย่างดีกับทั้งเด็กทั่วไปและเด็กออทิสติก ซึ่งงานวิจัยสถาบันราชานุกูลพบว่า หนังสือสำหรับเด็กออทิสติกสามารถเสริมสร้างสุขภาพและพัฒนาพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กได้เกือบเทียบเท่าเด็กปกติได้ภายใน 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ยังมีการออกแบบนิทาน “อานีสเป็นหัด” เผยแพร่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ก็สามารถหยุดภัยคุกคาม การเสียชีวิตของเด็กได้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการผลิตหนังสือชุดนี้ นอกจากนี้ เราได้เชิญ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกำกับดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้มาร่วมและพิจารณานำหนังสือนิทานเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน ถือเป็นกลยุทธ์เชิงรุก ที่สำคัญในการขยายผลงานที่มีคุณค่าออกไปในวงกว้าง แม้ว่าหน่วยงานจะมีงบประมาณที่จำกัดก็ตาม
“นิทานเล่มเล็กๆ แต่เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังอย่างยิ่งใหญ่ หากผู้ใหญ่มีความเข้าใจจะสามารถส่งมอบเรื่องราวเหล่านี้ไปถึงมือและหัวใจของเด็กได้ การกระทำเช่นนี้จะช่วยสร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพบ่มเพาะได้ตั้งแต่ช่วงปฐมวัย (0-8 ปี) สิ่งนี้จะคงอยู่ ติดตัวไปจนโต”
ทั้งนี้ ในส่วนของการเข้าถึงหนังสือ ทาง SOOK Publishing ได้จัดพิมพ์และจัดจำหน่ายในราคาพิเศษ และแผนงานฯ การอ่าน สสส. ยังให้บริการดาวน์โหลดฟรี ผ่านช่องทางออนไลน์ www.happyreading.in.th และเว็บไซต์ธนาคารหนังสือเพื่อเด็กปฐมวัยออนไลน์ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มพื้นที่ห่างไกลหรือเปราะบาง
ด้าน นางสาวสายใจ คงทน จากกลุ่ม We are happy หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาผลสำรวจฯ กล่าวเสริมว่า ผลการศึกษายังพบว่า เด็กในระดับเตรียมอนุบาลก็สามารถตัดสินใจและแยกแยะได้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าแตกต่างจากของเล่นตุ๊กตาธรรมดาอย่างไร โดย เด็กอนุบาล อายุ 4-5 ขวบ สามารถสื่อสารและเล่าเรื่องราวจากหนังสือนิทานได้ ส่วนเด็กประถมศึกษาตอนต้น มีทักษะการคิดวิเคราะห์เพิ่มมากขึ้น
สำหรับหนังสือนิทานยอดนิยมจากหนังสือทั้ง 7 เล่ม พบว่าบางเล่มเป็นที่นิยมเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มเด็กผู้ชาย ชื่นชอบนิทานที่มีลักษณะเป็นฮีโร่ มีการ์ตูน และกิจกรรมให้ทำ เช่น เรื่อง “ขบวนการปราบทอยพอด” และ“มาร์สแมนกับยายเช้า” ซึ่งมีตัวละครที่เด็กคุ้นเคยอยู่แล้ว การมีกิจกรรมช่วยให้เด็กจดจำเนื้อหาได้ดี
ส่วนนิทานรองลงมาที่ได้รับความนิยม คือ “อีเล้งเค้งโค้งพับปลอดพอด” เด็กคุ้นเคยกับตัวละคร และจดจำวลีเด็ดติดปากว่า “อีเล้งเค้งโค้ง ไม่เอาทอยพอด” ซึ่งเด็กหลายคนจะพูดตามว่า “หนูก็ไม่เอาทอยพอดเหมือนกัน”
นิทานเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างความรู้ความเข้าใจในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเท่านั้น แต่ยังส่งผลในวงกว้างสู่ครอบครัวและชุมชน เด็กๆ ได้กลายเป็น “นักสื่อสารสุขภาวะตัวน้อย” พวกเขานำเรื่องราวจากนิทานไปเล่าให้พ่อแม่ผู้ปกครองฟังที่บ้าน รวมถึงนำกิจกรรม เช่น การวาดรูประบายสี “บ้านปลอดบุหรี่” กลับไปทำด้วย
ทั้งนี้ มีคุณครูผู้สอนสะท้อนด้วยว่า มีผู้ปกครอง มาเล่าให้ฟังว่า เด็กๆ ที่บ้านพูดว่า “ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” และแสดงความห่วงใยต่อพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่น การเตือนว่า “อย่าสูบนะ มันอันตรายนะ” อีกทั้งยังส่งผลให้ผู้ปกครองเหล่านี้สนใจยืมหนังสือนิทานเหล่านี้กลับไปอ่านร่วมกับลูกๆ หลานๆ ที่บ้านด้วย แน่นอนว่าไม่มีเหตุผลที่ครูจะปฏิเสธไม่ให้เอากลับไป
ดังนั้น การศึกษานี้ ยืนยันได้ว่ากระบวนการเรียนรู้ของเด็กสามารถเกิดขึ้นและเรียนรู้เท่าทันได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับเนื้อหาในหนังสือ ผ่านผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคุณครูหรือผู้ปกครอง ที่นำไปอ่านให้เด็กฟัง นิทาน จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้ เข้าใจ และแยกแยะเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี