พลิกปูม'พระนักเทศน์เสียงทอง' สู่เส้นทางอรหันต์ลวงโลก
วันเสาร์ ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2557, 14.07 น.
Tag :
ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน คงไม่มีใครไม่รู้จัก "พระครูใบฎีกานิกร ธัมมวาที" แห่งวัดสันปง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ หรือ นายนิกร ซึ่งเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนามใหม่เป็น นายธรรมรัตน์ ยศคำจู อดีตพระนักเทศน์เสียงทองแห่งยุค
แม้เส้นทางเข้าสู่วัดสันปง จะลำบากยากเย็นสักแค่ไหน แต่ด้วยแรงศรัทธาก็ยังมีผู้คนแห่ไปฟังการเทศน์ไม่ขาดสาย จนต้องเปิดสำนักปฏิบัติธรรมหลายสิบแห่งทั่วประเทศ ถือเป็นช่วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดแห่งยุคของพระนิกร
แต่ก็มาสะดุดเอาในปี 2533 เมื่อมีข่าวใหญ่โตว่า อดีตพระนิกร เสพเมถุนกับ นางอรปวีณา บุตรขุนทอง จนมีบุตรด้วยกัน แต่ทางฝ่ายพระนิกร ออกมาตอบโต้ข่าวว่ามีผู้กลั่นแกล้งเพราะอิจฉาในชื่อเสียง รวมไปถึงบรรดาลูกศิษย์ที่พยายามหาหนทางตอบโต้ข้อครหาดังกล่าว ว่าเป็นการกลั่นแกล้ง เหตุเพราะไม่เชื่อว่าพระนิกร ซึ่งยึดมั่นในหลักพุทธศาสนาและเทศน์ได้ไพเราะจับใจจะมีพฤติกรรมในทางเสื่อมเสีย แม้จะมีหลักฐานมัดตัวอย่างแน่หนา ทั้ง จดหมายรัก ภาพถ่าย ตลอดจนถูกดำเนินคดีทั้งศาลยุติธรรม และศาลสงฆ์ แต่บรรดาลูกศิษย์ลูกหา ที่เคารพรักและศรัทธาก็ยังคงไม่ลืมหูลืมตา
กระทั้งต่อมาศาลสงฆ์ มีมติระบุว่าพระนิกร เป็นปฐมปาราชิก เพราะเสพเมถุนกับอิสตรี ขาดจากความเป็นพระ แม้จะกลับมาบวชใหม่ก็ไม่สามารถดำรงความเป็นสมณเพศได้อีกต่อไป
สำหรับคดีอาญา นางอรปวีณา บุตรขุนทอง กับพวกเป็นฝ่ายโจทก์ มีนายนิกร ยศคำจู เป็นจำเลย ใจความว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2533 เวลากลางวัน จำเลย ซึ่งขณะนั้นครองสมณเพศ ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพ.ต.ท.พิทักษ์ สุวรรณ พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง ว่า เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2533 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะที่จำเลยจะเดินทางไปต่างประเทศ โจทก์และพวกยึดเอาหนังสือเดินทาง ตั๋วเครื่องบิน กระเป๋าเดินทาง และข่มขู่ให้ไปด้วย มิฉะนั้นจะทำร้าย แล้วพาจำเลยไปกักขังไว้ที่บ้านเลขที่ 1669/665 หมู่บ้านปิ่นเจริญ 2 พร้อมข่มขู่บังคับจะเอาเงินห้าล้านบาท ใช้อาวุธปืนบังคับให้จำเลยถอดจีวรออก แต่งกายแบบฆราวาส กระทำพิธีผูกข้อมือแต่งงานกับโจทก์ พร้อม ถ่ายภาพ และขู่ว่า หากไม่จ่ายเงิน จะนำภาพไปเปิดเผยทางสื่อมวลชน จำเลยกลัวจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคากรุงเทพ จำกัด สาขาประตูช้างเผือก ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2533 จำนวนห้าล้านบาท
การแจ้งความดังกล่าวทำให้ฝ่ายโจทก์ถูกพนักงานสอบสวนควบคุมตัว ได้รับความเสียหาย ทั้งที่ไม่ได้มีการกระทำความผิดในข้อหากรรโชกและทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพเกิดขึ้นตามที่จำเลยกล่าวหา ศาลฎีการตรวจสำนวน ประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ในขณะที่จำเลยกระทำความผิด จำเลยเป็นพระภิกษุ ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสันปง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือของประชาชนทั่วไป และเป็นผู้ที่อบรมสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรมอันดี แต่จำเลยกลับมากระทำความผิดเสียเองเช่นนี้ เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป การกระทำของจำเลยจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะรอการลงโทษ ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจในการลงโทษจำเลย โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น