ช้างเป็นสัตว์บกที่มีบทบาทและมีความสำคัญต่อวิถีชีวิต ความเชื่อประเพณี ศิลปวัฒนธรรม สังคม การเมือง มีความสำคัญต่อความเป็นชาติไทย ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และต่อพระพุทธศาสนา มาช้านาน ปัจจุบันจำนวนช้างในประเทศไทยมีจำนวนลดลง อันเนื่องมาจากปัญหาต่างๆ มากมาย อาทิ ปัญหาการลักลอบฆ่าช้างเพื่อเอางา ปัญหาการส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักรปัญหาช้างเร่ร่อนในเขตเมือง ปัญหาการบาดเจ็บและการเจ็บป่วยจากการทำงาน ฯลฯ
ดังนั้น สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ นับเป็นตัวแปรสำคัญในการแก้ปัญหาเหล่านี้ในฐานะองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่อยู่ในกำกับดูแลขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่มีพันธกิจด้านการอนุรักษ์และบริบาลช้าง ส่งเสริมกิจการด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และเป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ฝึกลูกช้างแห่งแรกของประเทศไทย และของโลกขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2512 ที่บ้านปางหละ ตำบลบ้านหวด อำเภองาว จังหวัดลำปาง มีภารกิจในการฝึกช้างทำไม้สัมปทาน ต่อมาก็ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 ที่ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยได้จัดตั้งโครงการต่างๆ เพื่อการอนุรักษ์ช้างเลี้ยงในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งโครงการหนึ่งที่ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย อ.อ.ป. ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2536 คือ โครงการโรงพยาบาลช้าง มีภารกิจในการดูแลรักษาพยาบาลช้างเจ็บป่วยทั่วประเทศโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งโรงพยาบาลช้างของ อ.อ.ป. ที่จังหวัดลำปาง ได้เป็นต้นแบบของโรงพยาบาลช้าง ในเขตพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ในเวลาต่อมา อาทิ จังหวัดนครปฐม, จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าโรงพยาบาลช้างในประเทศไทย ได้เปิดบริการคลอบคลุมพื้นที่เกือบทุกภาค ยกเว้น 14 จังหวัด ในภาคใต้ ยังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปเปิดบริการดังกล่าว ประกอบกับช้างเลี้ยงในภาคใต้ มีประมาณกว่า 900 เชือก ได้เข้ามาทำงานชักลากไม้ยางพารา และธุรกิจการท่องเที่ยว
สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ จึงได้ดำเนินการจัดตั้งโรงพยาบาลช้าง สาขาภาคใต้ ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับและดูแลช้างทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งถือว่าเป็นจังหวัดที่ยังมีสภาพพื้นที่ป่าคงเหลืออยู่เพียงพอ สามารถใช้พื้นที่เพื่อเลี้ยงช้างและบริบาลช้างป่วย ช้างชรา ช้างที่ถูกทอดทิ้ง และสะดวกในการเดินทางไปมาระหว่างจังหวัดต่างๆ จะได้ดูแลรักษาช้างที่บาดเจ็บจากการทำงานช้างที่ประสบภัย ประสบอุบัติเหตุ ช้างที่มีปัญหาติดเชื้อโรคต่างๆได้อย่างทั่วถึง และยังเป็นสถานที่สำหรับการฝึกงานการศึกษาค้นคว้า ดูงาน ให้กับนักศึกษา นักวิจัย นักวิชาการ ด้านช้าง
ทั้งยังมีเป้าหมาย ที่จะพัฒนาพื้นที่ป่าบริเวณรอบโรงพยาบาลช้างภาคใต้ จังหวัดกระบี่ที่ได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ จำนวน 400 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ สำหรับดำเนินโครงการอนุรักษ์และบริบาลช้าง โดยมีนายสัตวแพทย์ ขจรพัฒน์ บุญประเสริฐ หัวหน้างาน โรงพยาบาล สาขาภาคใต้ จ.กระบี่ ให้บริการดูแลและแนะนำด้านสุขภาพช้าง รักษาช้างป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ควบคุมช้างตกมันอาละวาด โครงการสัตวแพทย์สัญจร รวมถึงเป็นสถานที่ให้บริการการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ (eco-tourism) แก่นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดกระบี่ เพื่อสร้างรายได้และเป็นการประชาสัมพันธ์จังหวัดกระบี่ ให้มีชื่อเสียงในระดับสากลในเรื่องการอนุรักษ์ช้างในระดับสากลในเรื่องการอนุรักษ์ช้าง
พิชัย พิสูจน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี