ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี มีพื้นที่กว่า 2,500 ไร่ตั้งอยู่บ้านทุ่งเพล ตำบลฉมัน อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี แต่เดิมเรียกว่า สถานีทดลองยางทุ่งเพล แล้วเปลี่ยนเป็นสถานีทดลองยางจันทบุรี สังกัดสถาบันวิจัยยาง กรมวิชาการเกษตร ต่อมาเมื่อกรมวิชาการเกษตร มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตจันทบุรี สังกัดสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรี ล่าสุดเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี มาจนถึงทุกวันนี้
สำหรับบทบาทภารกิจหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี มีด้านใดบ้างนั้น วันนี้ คุณชลธี นุ่มหนู นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี จะเป็นผู้เล่ารายละเอียดให้รับทราบ
คุณชลธีเล่าว่า จากในอดีตศูนย์วิจัยแห่งนี้เคยถูกเป็นสถานีทดลองยางมาก่อน จึงทำให้งานวิจัยส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยด้านยางพารา และพื้นที่ใช้เป็นแปลงผลิตกิ่งพันธุ์ตายาง จนเมื่อปี 2558 พระราชบัญญัติก่อตั้ง การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีผลบังคับใช้ขึ้น ทำให้งานวิจัยด้านยางพาราที่เคยอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันวิจัยยางถูกโอนไปเป็นภารกิจของการยางแห่งประเทศไทยแทน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี จึงต้องปรับเปลี่ยนกิจกรรมงานวิจัยยางพารา และงานผลิตกิ่งพันธุ์ตายาง มาเป็นงานวิจัยด้านไม้ผลเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ทุเรียน เงาะ มังคุด ลำไย และลองกอง เป็นต้น รวมทั้งพืชท้องถิ่นที่สำคัญของภาคตะวันออก เช่น สำรอง ส้มจี๊ด เร่ว และกระวาน เป็นต้น
“นี่คือก้าวใหม่ของหน่วยงานแห่งนี้ ด้วยทำเลที่ตั้งอยู่ในภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการปลูกไม้ผลเมืองร้อน ประกอบกับมีพื้นที่กว้างใหญ่และมีแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ จึงมีศักยภาพในการใช้พื้นที่เป็นแปลงไม้ผลเศรษฐกิจและพืชท้องถิ่นที่สำคัญของภาคตะวันออก เพื่อรองรับการทำงานวิจัยในอนาคต”
นอกจากงานวิจัยในพื้นที่แล้ว ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี ได้รับมอบหมายจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ให้รับผิดชอบงานบริการวิชาการในพื้นที่ของจังหวัดตราด ซึ่งมีภารกิจสำคัญด้านการตรวจรับรองแหล่งผลิตพืชตามระบบ GAP และงานควบคุมตามพระราชบัญญัติที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งงานถ่ายทอดเทคโนโลยี และงานตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อีกด้วย
รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี กล่าวทิ้งท้ายว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรจันทบุรี มีทิวทัศน์ที่สวยงาม มีลำธารน้ำใสไหลผ่านพื้นที่หลายสาย และมีความร่มรื่น เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ในพื้นที่ยังมีศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ และศูนย์เรียนรู้การปลูกพืชเสริมรายได้ในสวนยางพารา จึงได้รับการพิจารณาคัดเลือกจาก กรมวิชาการเกษตรให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านการเกษตรอีกแห่งหนึ่งของกรมฯ ซึ่งขณะนี้พร้อมให้เกษตรกรและผู้สนใจเข้ามาเที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา
หากท่านใดสนใจข้อมูลทางวิชาการ หรือต้องการมาศึกษาเรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ สามารถติดต่อหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เบอร์โทร. 0-3946-0800 โทรสาร 0-3946-0801 E-mail : chan3@doa.in.th
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี