เป็นระยะเวลากว่า 7 เดือนแล้วที่ประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งโอกาสอย่างหนึ่งของการเปิดประชาคมอาเซียนก็คือทำให้ผู้ที่มีอาชีพบางสาขา ได้แก่ แพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ วิศวกร สถาปนิก บัญชี การบริการ/การท่องเที่ยว และการสำรวจ สามารถย้ายไปทำงานในประเทศสมาชิกได้อย่างเสรี แต่ก็ไม่ใช่ว่าใครที่มีอาชีพดังกล่าวจะย้ายได้ตามต้องการ เพราะปัจจัยเอื้อไม่ได้มีเพียงความรู้ความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพเท่านั้น แต่คนคนนั้นยังต้องมีทักษะในการฟัง พูด อ่าน เขียน ภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่วอีกด้วย
จากความสำคัญของการใช้ภาษาอังกฤษนี่เองที่ทำให้หลักสูตรอินเตอร์ในคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ได้รับความนิยมและเป็นที่หมายปองของนักเรียนมากขึ้นทุกปี จากที่เมื่อก่อนเคยคิดว่าการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์สามารถทำได้ง่ายๆ แต่จากนี้ไปจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป เนื่องจากการแข่งขันสูงขึ้น
ในงานจัดกิจกรรม Inter Insight Forum ของโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ อินเตอร์ เพื่อชี้แนะให้นักเรียนที่มีความประสงค์จะเข้าเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆได้รับรู้ถึงความแตกต่างระหว่างการเตรียมตัวเข้าเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ กับหลักสูตรของไทยว่า มีความเหมือนและไม่เหมือนกันอย่างไรบ้าง เพื่อจะได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนลงสนามสอบ นายภัทร์ ลิ้มปวงทิพย์อาจารย์จากโรงเรียนกวดวิชาออนดีมานด์ อินเตอร์ ได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยหลายแห่งหันมาเปิดสอนหลักสูตรอินเตอร์มากขึ้น และยังมีคณะให้เลือกมากขึ้นด้วย จึงเป็นโอกาสของนักเรียนที่จะเลือกเรียนได้หลากหลาย ซึ่งปัจจุบันคณะอินเตอร์ยอดนิยมที่นักเรียนส่วนใหญ่ให้ความสนใจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นวิชาของสายวิทย์ คณะที่ได้รับความนิยม คือ วิศวกรรมศาสตร์และแพทยศาสตร์ ส่วนกลุ่มที่สองเป็นสายศิลป์ คณะยอดนิยม ได้แก่ บริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์,ออกแบบและศิลปกรรมศาสตร์, ศิลปศาสตร์, นิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อาจารย์ภัทร์ ลิ้มปวงทิพย์ ขยายความให้ทราบต่อไปว่า หากต้องการสอบเข้าหลักสูตรอินเตอร์ในกลุ่มวิชาของ สายวิทย์นอกจากจะต้องเตรียมตัวในส่วนของ SATหรือ CU-AAT แล้วจะต้องสอบ SAT Subject Test (Math Level II, Physics, Chemistry และ Biology) เพิ่มด้วย นอกจากนี้ การพิจารณาคะแนนของแต่ละคณะก็จะแตกต่างกันไป ยกตัวอย่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จะแบ่งสัดส่วนคะแนนในการสอบเข้าเป็นคณิตศาสตร์ 30% อังกฤษ 20% ส่วนฟิสิกส์ เคมี และชีวะ เลือกสอบเพียง 2 วิชา รวมคะแนน 40% และ GPAX 10%
นอกจากการสอบ SAT Subject Test แล้ว ปัจจุบันสายวิทย์ยังมีการสอบที่เรียกว่า BMAT (BioMedical AdmissionsTest) ซึ่งเป็นการสอบแบบใหม่ที่เปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรภาษาไทย แต่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอบโดยจะมีการสอบทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ข้อสอบมีทั้งปรนัยและอัตนัย จัดสอบเพียงปีละ 1 ครั้ง ซึ่งแนวข้อสอบก็จะแตกต่างไปจาก SAT Subject Test หากใครสนใจจะต้องศึกษาแนวข้อสอบและลองทำข้อสอบให้คุ้นเคย
ส่วนการสอบของ สายศิลป์ จะสอบเพียง 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ เรียกว่าการสอบ SAT (Scholastic Assessment Tests)โดยข้อสอบทั้ง 2 วิชาจะคิดคะแนนไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับคณะที่เลือกเรียน เช่น คณะเศรษฐศาสตร์หลักสูตรอินเตอร์ ใช้คะแนนวิชาคณิตศาสตร์ 40% อังกฤษ 35%และ GPAX 25% แต่มีบางกลุ่มวิชาที่ต้องสอบวิชาที่ 3 เพิ่ม เพื่อวัดความถนัดเฉพาะด้าน อาทิ กลุ่มวิชาออกแบบและศิลปกรรมศาสตร์
หัวใจสำคัญในการสอบเข้าเรียนในหลักสูตรอินเตอร์ อาจารย์ ภัทร์ ย้ำว่า เราจะสนใจเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษอย่างเดียวไม่ได้ เพราะวิชาอื่น ก็สำคัญเช่นกัน จะเห็นได้ว่าหลายคณะกำหนดให้สัดส่วนคะแนนของวิชาอื่น เช่น คณิตศาสตร์ มากกว่าภาษาอังกฤษด้วย นอกจากนี้ผู้เข้าสอบจะต้องรู้ว่าคณะที่สนใจต้องสอบวิชาอะไรบ้าง และให้น้ำหนักกับวิชาใดมากวิชาใดน้อย หลังจากนั้นก็เริ่มอ่านหนังสือ โดยควรอ่านเนื้อหาทั้งหมดให้จบตั้งแต่ม.4 พอเข้าสู่ ม.5 ต้องฝึกทำโจทย์หลายๆ ครั้ง พร้อมจับเวลา และหากใครพร้อมก็เริ่มสอบ SAT ได้เลย เนื่องจากคะแนน SAT สามารถเก็บไว้ได้ถึง 2 ปี พอขึ้นม.6 ต้องพยายามสอบให้ได้มากที่สุด เพื่อมีโอกาสที่นำจุดอ่อนมาพัฒนาและทำคะแนนให้ดีขึ้นได้
เมื่อโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้นโอกาสของการติดต่อถึงกันก็ย่อมมากขึ้นทำให้การแข่งขันเพื่อช่วงชิงโอกาสย่อมมีความลำบากและละเอียดอ่อนมากขึ้น เยาวชนที่ต้องการสร้างอนาคตที่ดีในวันนี้จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ถึงรายละเอียดให้มากขึ้น อย่างที่ปราชญ์โบราณบอกเอาไว้ว่า “รู้เขารู้เราย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง” นั่นเอง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี