สั่งทำฝนหลวงสู้แล้ง
เติมอ่างฯช่วยเกษตร
18เขื่อนวิกฤติน้ำน้อย
วอนปชช.ใช้ประหยัด
นายกฯสั่งการรมว.เกษตรฯเร่งทำฝนหลวงช่วยชาวบ้าน-เกษตรกร หลังพื้นที่เกษตรขาดน้ำ ผลผลิตเสียหาย เติมน้ำเขื่อน-อ่างฯที่มีปริมาณน้อยกว่า 30% ด้านกรมชลฯชี้ฝนตกน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลไหลเข้าเขื่อนน้อย สั่งชลประทานทั่วปท.เก็บน้ำเข้าอ่างทุกหยด เผยเขื่อนทั่วปท.ยังรับได้อีก 3.8 หมื่นล้านลบ.ม. ด้านสสนก.เตือน 18 เขื่อนวิกฤติ วอนประชาชนใช้ประหยัด
เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งหลายพื้นที่ขณะนี้และมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นห่วงเกษตรกรและประชาชน จึงสั่งการมายังนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ มอบหมายให้กรมฝนหลวงฯ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และเร่งช่วยเหลือประชาชนให้เต็มที่ ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯตั้งหน่วยฝนหลวง 11 หน่วยทั่วประเทศ เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ทั้งนี้ การขึ้นปฏิบัติการยึดหลักการทำฝนตามตำราฝนหลวงพระราชทาน โดยต้องดูสภาพอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ เพื่อให้ฝนตกในพื้นที่เป้าหมาย โดยเฉลึ่ยต้องมีมากกว่า 60% ค่าดัชนีการยกตัวของอากาศที่เหมาะสมต้องมีค่าน้อยกว่า -2.0 และค่าความเร็วลมที่เหมาะสมต่อการปฏิบัติการฝนหลวงต้องน้อยกว่า 36 กม./ชม.
ส่วนผลปฏิบัติการฝนหลวงเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ชุดปฎิบัติการขึ้นทำฝน 8 หน่วย ทำให้มีฝนตกบางส่วนของจ.เชียงใหม่ ตาก กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี ลพบุรี กาญจนบุรี หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญและพัทลุง เพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนภูมิพลตอนล่าง เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนอุบลรัตน์และอ่างเก็บน้ำพุทธอุทยาน รวมถึงเพิ่มความชุ่มชื้นบริเวณป่าพรุควนเคร็ง
อธิบดีกรมฝนหลวงกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งล่าสุด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)ออกประกาศเขตพื้นที่ภัยแล้ง 3 จังหวัดใน 7 อำเภอ 32 ตำบล 225 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จ.ตาก ศรีสะเกษและมหาสารคาม ขณะที่สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อยกว่า 30% ของปริมาณน้ำที่เก็บกัก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 15 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 133 แห่ง เพิ่มขึ้นมา 1 แห่ง ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ด้านแผนที่ปริมาณความชื้นในดินของกรมทรัพยากรน้ำ พบว่าบริเวณพื้นที่ภาคเหนือ มีความชื้นในดินน้อยกว่าพื้นที่ภาคอื่นๆ มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 0-20% และในส่วนของพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน มีค่าปริมาณค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 20-40% ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ มีปริมาณ ค่าความชื้นในดินอยู่ระหว่าง 40-60% ซึ่งกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร จะเร่งดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อที่จะช่วยเหลือให้ครอบคลุมทุกพื้นที่
ด้านนายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาระบุมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามันตอนบน และประเทศไทย ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและชายฝั่งของเวียดนามตอนบน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นระยะนี้ บริเวณด้านตะวันตกของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีการกระจายของฝนมากกว่าภาคอื่น แต่ปริมาณฝนที่ตกยังคงน้อยกว่าค่าปกติ ส่งผลให้้ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆน้อยลง
สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง ข้อมูลจนถึงวันที่ 11 กรกฎาคม มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกัน 37,018 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือคิดเป็นร้อยละ 49 ของความจุอ่างฯ รวมกันทั้งหมดมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 13,093 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ยังรองรับน้ำได้รวมกันมากกว่า 38,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลักได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,596 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ รวมกันมีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,900 ล้าน ลบ.ม. ซึ่ง 4 เขื่อนหลัก ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 16,200 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่แม่น้ำสายหลักทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย โดยแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไหลผ่านที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ 358 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 7.95 เมตร มีแนวโน้มลดลงและยังคงระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 60 ลบ.ม./วินาที เพื่อรักษาระบบนิเวศ ทั้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำแม่กลองให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ส่วนที่อ.บางไทรมีปริมาณน้ำไหลผ่านประมาณ 67 ลบ.ม./วินาที
“ทั้งนี้ ได้กำชับให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศเก็บกักน้ำไว้ในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจกับประชาชนและทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดเ พื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดเพียงพอสำหรับอุปโภค-บริโภคและรักษาระบบนิเวศ”นายทวีศักดิ์กล่าว
และว่า สำหรับกรณีพื้นที่ปลูกข้าวนาปีบริเวณท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ในเขตโครงการชลประทานหนองหวายเสี่ยงขาดแคลนน้ำ เนื่องจากปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ในเกณฑ์น้อยต้องสำรองน้ำไว้ใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายได้หารือกับผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาค เพื่อวางแนวทางการใช้น้ำจากฝายหนองหวายที่มีอยู่ประมาณ 17 ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำแบบรอบเวรอย่างเคร่งครัด ทำให้การกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่ทั่วถึงเป็นธรรม
วันเดียวกัน มีข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) เตือนสถานการณ์เขื่อนมีน้ำใช้การน้อยขั้นวิกฤติ ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำ 0% เขื่อนสิรินธรมีน้ำ 1% เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีน้ำ 6% เขื่อนคลองสียัดมีน้ำ 6% เขื่อนสิริกิติ์มีน้ำ 7% เขื่อนภูมิพลมีน้ำ 8% เขื่อนจุฬาภรณ์มีน้ำ 9% เขื่อนกระเสียว 10% เขื่อนแควน้อยมีน้ำ 12% เขื่อนทับเสลามีน้ำ 13% เขื่อนขุนด่านปราการชลมีน้ำ 13% เขื่อนลำพระเพลิงมีน้ำ 14% เขื่อนแม่กวงมีน้ำ15% เขื่อนนฤบดินทรจินดามีน้ำ16% เขื่อนวชิราลงกรณ์มีน้ำ 17% เขื่อนน้ำพุงมีน้ำ18% เขื่อนห้วยหลวงมีน้ำ 18% เขื่อนศรีนครินทร์มีน้ำ 19% ของความจุอ่าง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี