ปิดจ๊อบปีกุน!ตม.แถลงโชว์ศักยภาพ‘ไบโอเมทริกซ์’ จับรวด 7 คดีปลอมหนังสือเดินทาง
9 มกราคม 2563 ที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง(ผบช.สตม.) พร้อมด้วย พล.ต.ต.สุรพงษ์ ชัยจันทร์ , พล.ต.ต.ณฐพล แสวงกิจ , พล.ต.ต.ชูฉัตร ธารีฉัตร รอง ผบช.สตม. , พล.ต.ต.วีรพล เจริญศิริ ผบก.ตม.2 และ พ.ต.อ.ปรีชา กองแก้ว รอง ผบก.ตม.2 แถลงผลการระดมกวาดล้างอาชญากรรม และกวดขันจับกุมคนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมาย หรือที่มีพฤติกรรมจะเข้ามากระทำความผิดทางอาญา หรือ ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย โดยได้รับรายงานจาก พ.ต.อ.เพลิน กลิ่นพยอม ผกก.กก.สส.ปป.บก.ตม.2 ว่า ในห้วงระหว่างเดือนธันวาคม 2562 กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 มีผลการจับกุมคดีสำคัญๆ 7 ราย
รายที่ 1 ถึง รายที่ 4 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 11.30 น. กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้รับการประสานจากสายการบิน EVA Airline พบชายหญิงชาวตุรกี 2 ราย ลักษณะคล้ายคู่รักได้ไปออกบัตรที่นั่งเที่ยวบิน BR067 เพื่อเดินทางไปเที่ยวยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยได้แสดงหนังสือเดินทางราชการประเทศตุรกี ที่เคาน์เตอร์ออกบัตรที่นั่งโดยสาร
เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนปราบปรามฯ จึงได้รีบรุดเข้าตรวจสอบและได้พบกับผู้โดยสารต้องสงสัย จึงได้ขอตรวจสอบเอกสารการเดินทาง พบว่าหนังสือราชการทั้ง 2 เล่ม ต้องสงสัยว่าจะมีการปลอมแปลง จึงได้นำหนังสือเดินทางของชาวตุรกีทั้งสองไปตรวจสอบกับระบบพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคล (BIOMETRICS) หรือไบโอเมทริกซ์ พบว่า หนังสือเดินทางราชการประเทศตุรกีมีลักษณะแตกต่างจากของจริง จึงเชิญคนต่างด้าวชาวตุรีทั้ง 2 คนมาสอบถามเพิ่มเติม
ผลการตรวจสอบ พบว่า ชายหญิงชาวตุรกีทั้ง 2 คน ไม่ได้เดินทางมาด้วยกันแต่อย่างใด แต่กลับพบว่าหญิงชาวตุรกีได้เดินทางมากับเพื่อนชาวตุรกีอีก 2 คน เป็นชายและหญิง เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนปราบปรามฯ จึงดำเนินการสืบสวนพร้อมทำการตรวจสอบโดยคาดว่าชายหญิงชาวตุรกีทั้ง 2 คนที่เดินทางมาด้วยนั้น อาจจะพยายามเดินทางไปยังประเทศอังกฤษเช่นกัน
จากนั้นในเวลาประมาณ 12.30 น. จึงได้ตรวจพบชาวตุรกีทั้ง 2 คนที่เดินทางมาด้วยบริเวณโถงผู้โดยสารขาออกหน้าประตูทางออกขึ้นเครื่อง C4 โดยทั้งสองได้ใช้หนังสือเดินทางราชการตุรกีแสดงต่อเจ้าสายการบินไทย เที่ยวบินที่ TG916 เพื่อเดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จากการสืบสวนขยายผลเพิ่มเติม พบว่า ชาวตุรกี ทั้ง 4 คน ซื้อหนังสือเดินทางมาจากนายหน้าชาวตุรกี รับเล่มที่เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกี ราคาประมาณ เล่มละ 20,000 บาท
เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนปราบปรามฯ จึงจับกุมในฐานความผิด “ปลอมและใช้หรือมีไว้ซึ่งหนังสือเดินทางของปลอม (หนังสือเดินทางประเทศ TURKEY (ปลอม)) ในการเดินทางระหว่างประเทศ”
รายที่ 5 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 19.10 น. กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้รับการประสานจากฝ่าย ตม.เข้า ด่าน ทอ.สุวรรณภูมิ กรณีระบบไบโอเมทริกซ์ พบคนต่างด้าวสัญชาติอิหร่านใช้หนังสือเดินทางประเทศฝรั่งเศสปลอมจะเดินทางเข้าในประเทศไทย โดยชายอิหร่านได้เดินทางมาพร้อมกับครอบครัว จากการสอบถามชายชาวอิหร่านยอมรับว่า “ตนเองได้ติดต่อนายหน้าชาวอิหร่านเพื่อจัดหาหนังสือเดินทางประเทศฝรั่งเศสปลอม โดยเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 5,000 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 150,000 บาท และมีวัตถุประสงค์เพื่อเดินทางต่อไปยังประเทศแคนาดา”
เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนปราบปรามฯ จึงจับกุมในฐานความผิด “ปลอมและใช้หรือมีไว้ซึ่งหนังสือเดินทางของปลอมฯ (หนังสือเดินทางประเทศฝรั่งเศสปลอม)” ส่วนครอบครัวที่เดินทางมาด้วยกันจากลักษณะของพฤติการณ์ผิดวิสัยของชาวต่างชาติที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวทั่วไป จึงได้ปฏิเสธการเข้าในราชอาณาจักรพร้อมส่งกลับยังประเทศต้นทางต่อไป
รายที่ 6 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 21.20 น. กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้รับการประสานจากฝ่าย ตม.เข้า ด่าน ทอ.สุวรรณภูมิ กรณีระบบไบโอเมทริกซ์ พบคนต่างด้าวสัญชาติโดมินิกันใช้หนังสือเดินทางประเทศโดมินิกันปลอมจะเดินทางเข้าในประเทศไทย โดยชายต่างด้าวรายดังกล่าวได้อ้างว่าตนเองเดินมาเพื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย จนในที่สุดก็ยอมรับว่าตนเองได้ใช้หนังสือเดินทางโดมินิกันปลอมจริง เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนปราบปรามฯ จึงจับกุมในฐานความผิด “ปลอมและใช้หรือมีไว้ซึ่งหนังสือเดินทางของปลอมฯ (หนังสือเดินทางประเทศโดมินิกันปลอม)”
รายที่ 7 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2562 เวลาประมาณ 10.45 น. กองกำกับการสืบสวนปราบปราม กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ได้ออกกวดขันเพื่อเป็นการป้องกันปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง จนได้พบกับผู้โดยสารต้องสงสัยบริเวณหน้าโถงผู้โดยสารขาออก ประตูเทียบเครื่องบิน G4 จึงได้แสดงตัวเป็นเจ้าพนักงานตรวจคนเข้าเมือง จึงได้ทำการตรวจสอบเอกสารการเดินทาง ผลการตรวจพบหนังสือเดินทางประเทศมาเลเซียอาจจะเป็นหนังสือเดินทางปลอมเนื่องจากมีลักษณะของระบบนิรภัยที่แตกต่างจากของจริง และจากการตรวจค้นพบหนังสือเดินทางประเทศศรีลังกา และได้ยอมรับว่าหนังสือเดินทางประเทศมาเลเซียเป็นของปลอมส่วนหนังสือเดินทางประเทศศรีลังกาเป็นของจริง และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตนเองได้ซื้อหนังสือเดินทางประเทศมาเลเซียปลอมมาในราคา 1,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 30,000 บาท) ” เจ้าหน้าที่กองกำกับการสืบสวนปราบปรามฯ จึงจับกุมในฐานความผิด “ปลอมและใช้หรือมีไว้ซึ่งหนังสือเดินทางของปลอมฯ (หนังสือเดินทางประเทศมาเลเซียปลอม)”
สรุปผลการปฏิบัติในรอบปี 2562 ของ บก.ตม.2 ตลอดระยะเวลาห้วง 1 ปีที่ผ่านมา บก.ตม.2 ได้ดำเนินการตรวจสอบชาวต่างชาติที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม กระทำผิดกฎหมาย ก่อเหตุอันตรายต่อความสงบสุขและความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชนทำให้เกิดความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของประเทศชาติ หรือกลุ่มคนร้ายข้ามชาติที่เข้ามาแฝงตัวอยู่ก่อเหตุกับคนไทยหรือชาวต่างชาติ โดยใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการกระทำความผิด ปรากฏผลการปฏิบัติดังนี้ 1.ดำเนินการปฏิเสธการเข้ามาในราชอาณาจักรฯ 13,992 ราย 2.จับกุมบุคคลตามหมายจับ 786 ราย 3.จับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง 255 ราย ประกอบด้วย โอเวอร์สเตย์ 60 ราย , การกระทำความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทาง 82 ราย , ไม่ผ่านการตรวจ และหลบหนีเข้าเมืองฯ 113 ราย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี