พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง และพลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง องคมนตรี รองประธานอนุกรรมการฯ พร้อมคณะอนุกรรมการได้เดินทางไปยังพื้นที่ที่จะก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อยใสใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อรับฟังรายงานแนวทางในการดำเนินงาน สภาพพื้นที่ ตลอดถึงปัญหาอุปสรรคข้อจำกัดจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และความต้องการของราษฎร รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการ ณ องค์การบริหารส่วนตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อยใสใหญ่ฯ เป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2521 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาต้นน้ำลำธารปราจีนบุรี โดยให้พิจารณาสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำ 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนห้วยพระปรง เขื่อนห้วยยางและเขื่อนห้วยโสมง เพื่อจัดหาน้ำให้ราษฎรใช้ทำการเพาะปลูกทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง และมีน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภคตลอดปี และได้มีพระราชดำรัสเพิ่มเติมในอีกหลายโอกาส
ต่อมาในวันที่ 19 มกราคม 2561 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา การนี้ได้พระราชทานพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำ 3 แห่ง ได้แก่อ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อ จังหวัดนครนายก อ่างเก็บน้ำใสน้อยใสใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี และอ่างเก็บน้ำลำพระยาธาร จังหวัดปราจีนบุรี โดยให้ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ราษฎรในจังหวัดนครนายกและปราจีนบุรี ต่อไป
นายรุ่งโรจน์ โตมาก กำนัน ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า ตำบลสะพานหินเป็นพื้นที่ต้นน้ำมีลำน้ำใสน้อยใสใหญ่ไหลผ่านก่อนลงสู่ลำแควหนุมาน ผ่านอำเภอกบินทร์บุรีไปสู่แม่น้ำปราจีนบุรี ก่อนลงแม่น้ำบางปะกง และออกสู่ทะเลต่อไปโดยตำบลสะพานหินจะเป็นพื้นที่ต้นน้ำเมื่อถึงฤดูฝนจะเกิดน้ำหลากไหลลงเบื้องล่างอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงหน้าแล้งก็เกิดความแห้งแล้งเนื่องจากในพื้นที่ไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำ ในขณะที่ลำน้ำสาขาขนาดเล็กในพื้นที่ เช่น คลองจะกล่ำ คลองกระทุ่ม ที่น้ำไหลมาจากเทือกเขาใหญ่ซึ่งก็จะไปรวมกันที่แควหนุมาน ช่วงหน้าฝนจะเกิดน้ำหลากและท่วมขังบริเวณที่ราบเชิงเขาไม่สามารถทำการเกษตรได้
“ตั้งแต่แก่งหินเพิงไปถึงใสน้อยใสใหญ่จะไม่มีฝายชะลอน้ำในขณะที่น้ำในลำห้วยหนุมานก็จะไหลลงแม่น้ำปราจีนทั้งหมด ที่ผ่านมาจะแก้ไขปัญหาแบบเฉพาะหน้าทุกปีด้วยการนำกระสอบทรายไปวางกั้นลำน้ำเพื่อให้น้ำขังในพื้นที่ให้มากเท่าที่จะทำได้และนำน้ำส่วนนี้ไปใช้ทำการเกษตร แต่เมื่อถึงหน้าฝนน้ำจะชะกระสอบทรายเหล่านั้นไปกับสายน้ำหมด ทุกปีจึงต้องนำกระสอบทรายมาสร้างแนวกั้นน้ำใหม่จึงจะมีน้ำใช้” นายรุ่งโรจน์ โตมาก กล่าว
ส่วนอาชีพของราษฎรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรทำนา ปลูกผัก ปลูกข้าวโพด ปลูกมันสำปะหลัง และเริ่มมีทำสวนผลไม้มากขึ้น อาทิ ทุเรียน เงาะ ยางพารา และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้มีเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และเลี้ยงปลาในในบ่อราษฎรในพื้นที่รู้สึกดีใจที่คณะองคมนตรีได้เดินทางมาติดตามและเร่งรัดการก่อสร้างโครงการนี้ซึ่งเป็นโครงการที่ราษฎร ตำบลสะพานหิน และตำบลใกล้เคียงมีความคาดหวังมาก และรู้สึกปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงให้ความสำคัญในชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชาวอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ราษฎรทุกคนในพื้นที่ต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำใสน้อยใสใหญ่อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลสะพานหิน อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี เป็นเขื่อนดินแบบแบ่งโซน (Zone Type Dam)ความสูง 60 เมตร ยาว 3,130 เมตร ความจุอ่างฯ ที่ระดับเก็บกักปกติ 334.43ล้านลูกบาศก์เมตร มีพื้นที่ผิวอ่างฯ ที่ระดับน้ำนองสูงสุด 8,129 ไร่ และเมื่อวันที่ 2กุมภาพันธ์ 2561 มติที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2561 เห็นชอบให้ศึกษา EIA ดูความเหมาะสมของพื้นที่ว่าสามารถปรับโครงการให้มีขนาดเล็กลงได้หรือไม่ หรือขยับพื้นที่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยมอบให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พิจารณาดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาโดยใช้รูปแบบที่เหมาะสมส่งผลกระทบน้อยทั้งนี้ต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่การพัฒนาอ่างเก็บน้ำเพียงอย่างเดียว และทาง สทนช. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการศึกษาเพื่อประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์(SEA) ในโครงการพัฒนาน้ำต้นทุนลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง คาดว่ารายงานฉบับกลางจะแล้วเสร็จประมาณเดือน พฤศจิกายน2563 นี้
พร้อมกันนี้ทางกรมชลประทานได้ดำเนินการศึกษาแผนการพัฒนาแหล่งน้ำและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำใสน้อยใสใหญ่ เพื่อประกอบการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติพร้อมทั้งเสนอคณะอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองพื้นที่มรดกโลก (ประเทศไทย) โดยจะดำเนินการป้องกันแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของ “โครงการห้วยโสมง” เป็นเกณฑ์
สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับหลังโครงการฯ แล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 283,900 ไร่ ได้แก่พื้นที่ชลประทานฝั่งซ้าย 3,400 ไร่ พื้นที่ชลประทานฝั่งขวา 19,000 ไร่ พื้นที่ชลประทานท่าแห 60,000 ไร่ พื้นที่ชลประทานท่าแหส่วนขยาย 25,000 ไร่พื้นที่ชลประทานโครงการบางพลวง 143,500 ไร่ โครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า (ของ พพ.) 9,000 ไร่ และโครงการฝายปราจีนบุรี 25,000 ไร่
ขณะที่การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและปศุสัตว์ตลอดถึงน้ำอุปโภค-บริโภค และการบรรเทาอุทกภัยในเขตอำเภอเมืองปราจีนบุรี นาดี กบินทร์บุรี ประจันตคาม และสองฝั่งของแม่น้ำปราจีนบุรีก็จะได้รับประโยชน์จากโครงการฯนี้ด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี