‘ปภ.’ประกาศ27จว.
พื้นที่ประสบภัยแล้ง
กรมชลฯผลิตประปา
ช่วยชาวบ้านบุรีรัมย์
“ปภ.” ประกาศภัยแล้ง 27 จังหวัด ระดมสรรพกำลังแก้ปัญหาต่อเนื่องด้านกรมชลประทาน เดินหน้าจัดหาน้ำสนับสนุนเพิ่มปริมาณน้ำดิบสำหรับการผลิตน้ำประปาจังหวัดบุรีรัมย์ แก้วิกฤติขาดแคลนน้ำมั่นใจชาวบุรีรัมย์มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอ ขณะที่’บิ๊กป้อม’จี้ขุดลอกคลอง-กำจัดวัชพืช ช่วยจังหวัดประสบภัยแล้ง
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า มีจังหวัดประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) รวม 27จังหวัด 158 อำเภอ 836 ตำบล 5 เทศบาล 7,262 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็นภาคเหนือ 7จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์และจ.เชียงใหม่ รวม 43อำเภอ 212ตำบล 1,746หมู่บ้าน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10จังหวัด ได้แก่ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิและจ.ศรีสะเกษ รวม 73 อำเภอ 423 ตำบล 2 เทศบาล 3,939 หมู่บ้าน
ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ได้แก่ จ.นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรีและจ.ชลบุรี รวม 41 อำเภอ 190 ตำบล 2เทศบาล 1,519 หมู่บ้าน/ชุมชน ภาคใต้ ได้แก่ สงขลา รวม 1 อำเภอ11ตำบล 1เทศบาล 58หมู่บ้าน/ชุมชน
ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมสรรพกำลัง เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหา ให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของพื้นที่ ทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล และจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้านและจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชน มีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่
ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ได้สั่งการโครงการชลประทานบุรีรัมย์ ทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำจังหันและอ่างเก็บน้ำลำปะเทีย มาเติมยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก ร่วมระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร อย่างเต็มที่ โดยเริ่มทำการผันน้ำตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา และในวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 น้ำเดินทางมาถึงยังอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มากแล้ว รวมปริมาณน้ำกว่า 1 ล้าน ลบ.ม.เพื่อไม่ให้เกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคในพื้นที่
ขณะที่ นายเกียรติศักดิ์ หนูแก้ว ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 8 กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า นอกจากปริมาณ น้ำดังกล่าวแล้ว โครงการชลประทานบุรีรัมย์ ได้พิจารณาหาแนวทางการแก้ไขปัญหาการผันน้ำตามจุดที่เป็นอาคารขวางทางน้ำต่างๆ เพื่อเร่งการผันน้ำไปยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศให้เร็วและให้ได้ปริมาณมากที่สุด อีกทั้งยังพิจารณานำน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงไปเติมยังสถานีสูบน้ำลำปลายมาศ ได้แก่ น้ำในลำปลายมาศ ประมาณ 60,000 ลบ.ม.น้ำจากด้านท้ายฝายลำปลายมาศ ประมาณ 80,000 ลบ.ม. และน้ำจากบริเวณด้านหน้าฝายบ้านโคกขาม ประมาณ 200,000 ลบ.ม.และมั่นใจว่า จะมีน้ำเพียงพอสำหรับผลิตน้ำประปาของอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย
วันเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้รับทราบแนวทางของกรมชลประทาน ที่ดำเนินการขุดลอกคลองกำจัดวัชพืช เพื่อให้ความช่วยเหลือจังหวัดที่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) จํานวน 27จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ สุโขทัย เพชรบูรณ์ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี ชลบุรี และสงขลา รวมท้ังสิ้น 158 อําเภอ 836 ตําบล 7,262 หมู่บ้าน/ชุมชน 5 เทศบาล
นอกจากนี้ กรมชลประทานยังรายงานคุณภาพน้ำเมื่อที่ 3 พ.ค.2563 เวลา 05.00 น. แม่น้ำเจ้าพระยา สถานีประปาสําแล จ.ปทุมธานี (ปกติ) ท่าน้ำนนทบุรี จ.นนทบุรี (ปกติ) ซึ่งกรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาความเค็ม โดยทําการผันน้ำบางส่วนจากแม่น้ำแม่กลองมายังแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง สถานีปราจีนบุรี (ปกติ) แม่น้ำท่าจีน สถานีปากคลองจินดา (ปกติ) และแม่น้ำแม่กลอง สถานีปากคลองดําเนินสะดวก (ปกติ) ส่วนโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษาท่าบัว สํานักงานชลประทานที่ 3 ได้ติดตามผลการระบายน้ำช่วยเหลือภัยแล้งคลองข้าวตอก จากการประชุมติดตาม สถานการณ์ภัยแล้ง จังหวัดพิจิตร ได้ร้องขอให้ช่วยเหลือสวนผลไม้ริมคลองข้าวตอก ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำและไม้ผลอาจยืนต้นตาย โดยการระบายน้ำ จากคลองส่งน้ำ ซี.1 ลงคลองข้าวตอก เพื่อเป็นการช่วยเหลือพื้นที่สวนผลไม้ดังกล่าว ด้านโครงการส่งน้ำและบํารุงรักษายมน่าน สํานักงานชลประทานที่ 3 ลงพื้นที่ตรวจสอบปริมาณน้ำบริเวณ ทรบ.คลองเรือ ตําบลวังวน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก และบริเวณ ทรบ.คลองวังขอน บ้านบึงธรรมโรง ต.ศรีภิรมย์ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เพื่อตรวจสอบปริมาณน้ำ ติดตามสถานการณ์น้ำ และจัดสรรน้ำให้เพียงพอต่อการอุปโภค–บริโภค แก่เกษตรกรในพื้นที่