วันที่ 21 ก.ย.63 ความคืบหน้ากรณีเขาหินปูนยุคเพอร์เมียนตอนกลางที่มีอายุ 260 ล้านปีได้พังถล่มลงสู่ทะเลบริเวณพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะหินแตก เมื่อวันที่ 19 ก.ย.63 ที่ผ่านมา ซึ่งเขาลูกดังกล่าวได้พังถล่มลงในทะเลเป็นบริเวณกว้างประมาณ 15-20 % ของพื้นที่เกาะ ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองนั้นมีจำนวนเกาะทั้งสิน 42 เกาะตั้งอยู่ในอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามความคืบหน้าเรื่องนี้ นายปิยะ หนูนิล หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง กล่าวว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเกาะหินแตก ซึ่งเป็นเกาะบริวานของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวน 42 เกาะที่อุทยานรับผิดชอบ ซึ่งในแต่ละปีจะมีเกาะต่างๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะน้ำทะเลกัดเซาะ น้ำฝน ลม และแรงคลื่นที่ซัดเข้ากระแทกกับเกาะ ทำให้ทุกปีเกาะแก่งต่างๆ ของอุทยานมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพตลอด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดกับเกาะที่มีขนาดใหญ่จึงทำใให้ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลง แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เกิดขึ้นกับเกาะที่มีขนาดเล็ก เมื่อเกิดเหตุน้ำกัดเซาะและมีการพังถล่มจึงเห็นว่าเกาะดังกล่าวได้รับความเสียหายมาก ซึ่งมีการถล่มลงในทะเลเป็นบริเวณกว้างประมาณ 15-20 % ของพื้นที่เกาะ
ในเรื่องนี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง นำเรือออกลาดตระเวนตรวจความเปลี่ยนแปลงของเกาะแก่งต่างๆ ในเขตที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ภายหลังจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโนอึลได้อ่อนกำลังลง เพื่อสำรวจความปลอดภัยและป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาท่องเที่ยวชมธรรมชาติของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง
"เรื่องดังกล่าวนี้จากการสอบถามนักธรณีวิทยาทราบว่าพื้นที่เขาของเกาะหินแตกซึ่งเป็นเขาหินปูนที่พังถล่มลงมานั้น มีอายุประมาณ 260 ล้านปี เป็นเขาหินปูนที่มียอดเขาตะปุ่มตะป่ำ เพราะน้ำฝนและน้ำสามารถกัดเซาะเนื้อหินปูนให้แยกออกจากกันได้ง่าย ประกอบกับน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงของโลก จึงทำให้หินปูนเกิดการแตกเคลื่อนตัวและถล่มลงมา จึงไม่แปลกที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น" นายปิยะ กล่าว