‘ตรัง’ดัน 3 โปรเจกต์ 3 พันล้าน ชงครม.สัญจร
3 พฤศจิกายน 2563 นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง (ผวจ.ตรัง) กล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นำคณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงพื้นที่เพื่อตรวจราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี และภูเก็ต ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 เพื่อติดตามความก้าวหน้าการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่ม 6 จังหวัดอันดามัน ประกอบด้วย กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล และตรัง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นภาคเอกชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ อีกทั้งยัง เร่งรัดโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงอ่าวไทยกับอันดามันนั้น
ในส่วนของจังหวัดตรัง ได้จัดทำแผนงานโครงการเพื่อนำเสนอของบประมาณสนับสนุนผ่าน ครม.สัญจรในครั้งนี้จำนวน 4 โครงการ งบประมาณ 3,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 2.โครงการ เงินชดเชยค่าอสังหาริมทรัพย์จากการเวนคืนที่ดิน ท่าอากาศยานตรัง กรมท่าอากาศยาน 3.โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู พะยูน และสัตว์ทะเลหายาก และ4.ขอให้ภาครัฐพิจารณาการนำไม้ยางพาราแปรรูปใช้เป็นครุภัณฑ์สำนักงานในสถานที่ราชการ
นายขจรศักดิ์ กล่าวว่าทั้ง 3 โครงการมีรายละเอียดสรุปดังนี้ 1.โครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง เพื่อยกระดับมาตรฐานเส้นทางและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง จากมาตรฐานทาง 2 ช่องจราจร เป็น ทางหลวงพิเศษ 4 ช่องจราจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายทางหลวง อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทาง และเพื่อเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด จำนวน 4 เส้นทาง งบประมาณ 2,250,000,000 บาท
2.โครงการ เงินชดเชยค่าอสังหาริมทรัพย์จากการเวนคืนที่ดิน ท่าอากาศยานตรัง กรมท่าอากาศยานได้กำหนดแผนพัฒนาท่าอากาศยานตรัง เพื่อรองรับการเจริญเติบโต ในอีก 20 ปีข้างหน้า ทั้งในส่วนของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น และการรองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยมีแผนงานและโครงการได้รับงบประมาณแล้วอยู่ระหว่างดำเนินการ จำนวน 4 โครงการได้แก่ 1.โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อรองรับผู้โดยสาร งบประมาณ 1,070 ล้านบาท 2.โครงการเสริมความแข็งแรงทางวิ่ง ก่อสร้างทางขับและลานจอดอากาศยาน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบิน สามารถจอดอากาศยานแบบโบอิ้ง 737ได้ 10 ลำ งบประมาณ 678.4 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จ ปี2564 3.จ้างศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพื่อขยายความยาวทางวิ่ง จากเดิม 2,100เมตร เป็น 2,990 เมตร เพื่อรองรับอากาศยานลำตัวกว้าง งบประมาณ 3 ล้านบาท 4.โครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง จากเดิม 2,100 เมตร เป็น 2,990 เมตร งบประมาณ 1,800 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2568
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการก่อสร้างขยายความยาวทางวิ่ง จากเดิม 2,100เมตร เป็น 2,990 เมตร ตามโครงการที่ 4 นั้น กรมท่าอากาศยานได้เสนอคำของบประมาณประจำปี พ.ศ. 2565 โครงการเงินชดเชยค่าอสังหาริมทรัพย์จากการเวนคืนที่ดิน ท่าอากาศยานตรัง วงเงิน 500,000,000บาท
3.โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์ ฟื้นฟู พะยูน และสัตว์ทะเลหายาก จากภาวะวิกฤติด้าน คุณภาพของสิ่งแวดล้อมในทะเลฝั่งอันดามัน โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรัง สตูล กระบี่ และพังงา โดยมีกิจกรรม ปรับปรุงอาคารอนุบาล และจัดแสดง พันธุ์ปลา พะยูน เต่าทะเล แมวน้ำ งบประมาณ 142,000,000 บาท ปรับปรุงอาคารเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เป็นโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายาก พร้อมครุภัณฑ์ งบประมาณ 60,000,000 บาท ปรับปรุงห้องปฏิบัติการ พร้อมครุภัณฑ์ ห้องโรคสัตว์น้ำ ห้องคุณภาพน้ำ ห้องคุณภาพสิ่งแวดล้อม งบประมาณ 15,000,000บาท ปรับปรุงถนน และทางเท้า งบประมาณ 30,000,000 บาท รวมงบประมาณ 247,000,000บาท
นอกจากนี้ทางจังหวัดตรังขอให้ภาครัฐพิจารณาการนำไม้ยางพาราแปรรูปใช้เป็นครุภัณฑ์สำนักงานในสถานที่ราชการ นับตั้งแต่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (คอซิมบี้ ณ ระนอง) ได้นำยางพาราเข้ามาปลูกครั้งแรก ที่จังหวัดตรัง ยางพารานำรายได้เข้าสู่ประเทศ ปีละหลายหมื่นล้านบาท ปัจจุบันสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของโลกซึ่งมีผลกระทบอย่างสูงต่อเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการยางพาราทุกภาคส่วน อันเนื่องมาจากการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ภาวะเศรษฐกิจ ของจีนที่ชะลอตัว โรคระบาดอุบัติใหม่ (COVID-19)รวมทั้งอัตราเงินบาท ที่แข็งตัวมากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ซึ่งทำให้การส่งออกยางพาราของไทยได้รับผลกระทบสูงมาก และมีผลต่อเนื่องมายังเกษตรกรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในเรื่องรายได้และการดำรงชีพ” นายขจรศักดิ์ กล่าว
นายขจรศักดิ์ กล่าวและว่า จังหวัดตรังจึงขอเสนอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายให้มีการใช้ยางพาราภายในประเทศเพิ่มสัดส่วนที่มากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับการส่งออก โดยเฉพาะการสนับสนุนให้มีการใช้ไม้ยางพาราในหน่วยงานภาครัฐ อาทิ โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน ในกระทรวงศึกษาธิการ อุปกรณ์ เฟอร์นิเจอร์ในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะเป็นการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยาง อุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในขณะนี้ ให้เกิดรายได้ การจ้างงาน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งการใช้ไม้ยางพารา ยังเป็นการช่วยลดการใช้ไม้ จากธรรมชาติ ซึ่งเป็นการช่วยลดการทำลายป่าและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ภาคเอกชนในพื้นที่ ขอให้ภาครัฐกำหนดเป็นนโยบายให้หน่วยงานภาครัฐมีการใช้อุปกรณ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ผลิตจากไม้ยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น และเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ เพื่อเป็นการช่วยเหลือทั้งเกษตรกรผู้ปลูกยาง และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา ทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศอีกทางหนึ่ง
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี