คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดตัว “เสาฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวีซี (UVC Sterilizer)” มีลักษณะเป็นเสาสูง 1.2 เมตร พร้อมติดตั้งหลอดไฟ 4 ด้าน ที่มีกำลังสูงพอที่จะทำลายผนังเซลล์ของไวรัสโควิด-19 โดยหลอดไฟจะทำมุม 20 องศา ซึ่งจะทำให้สามารถฉายแสงลงถึงพื้นผิวดินหรือผิวถนนได้ เหมาะกับการใช้ทำความสะอาดสถานที่กว้างในช่วงเวลาที่ไม่มีคนอยู่
ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. ซึ่งเป็นผู้พัฒนานวัตกรรมนี้ กล่าวว่า เสาฆ่าเชื้อดังกล่าวเหมาะสำหรับฉายแสงฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในพื้นที่กว้าง เช่น ตลาด หรือพื้นผิวต่างๆ เนื่องจากแสง UVC มีศักยภาพที่จะฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้แบบ 100% ได้ออกแบบให้สามารถตั้งเวลาถอยหลังได้ คือเมื่อเปิดใช้งานแล้ว เครื่องจะเริ่มทำงานหลังจากนั้น 5-10 นาที ซึ่งทำให้ผู้เปิดใช้งานถอยออกมาได้
จากนั้นเครื่องจะทำงานอย่างอัตโนมัติอีกเป็นเวลาราว 20 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคโดยรัศมีของแสงจะห่างจากจุดติดตั้งเสาประมาณ 2 เมตร ทั้งนี้ แสง UVC เป็นแสงที่มีอันตรายมาก เพราะสามารถทะลุผ่านเซลล์ผิวหนังมนุษย์ได้ หรือหากจ้องมองนานเกิน 5 นาที อาจทำให้ตาบอดได้ ฉะนั้นต้องใช้อย่างระมัดระวังภายใต้การควบคุมอย่างใกล้ชิด โดยผู้ใช้ต้องถอยออกมาจากพื้นที่ฉายแสงอย่างน้อย 10 เมตร
รศ.ดร.ธีร เจียรศิริพงษ์กุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มธ. กล่าวว่า เสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC เหมาะสำหรับนำไปใช้ในพื้นที่กว้าง เช่น ตลาด แผงค้า ห้างสรรพสินค้า สนาม พื้นที่สาธารณะ ฯลฯ ในช่วงเวลาที่ปิดให้บริการไม่มีคนเข้าไปอยู่บริเวณนั้น โดยใช้งานง่ายเพียงนำไปตั้งตามจุดต่างๆ เปิดคำสั่งอัตโนมัติ และถอยออกมา เมื่อเครื่องทำงานเสร็จในแต่ละรอบก็จะดับไปเอง ทำให้สามารถย้ายไปยังจุดอื่นๆ ได้ต่อไป ข้อดี คือเชื้อไวรัสจะตาย 100% ในทุกๆ ที่ที่แสงส่องถึง โดยเครื่องนี้มีต้นทุนการผลิตราว 3,000-4,000 บาทเท่านั้น
รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มธ. กล่าวเสริมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มธ.ได้มุ่งเน้นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการให้บริการทางวิชาการ โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่ง จ.ปทุมธานี (ที่ตั้งของ มธ. ศูนย์รังสิต) ได้รับผลกระทบจนมีการประกาศปิดตลาดและควบคุมพื้นที่อย่างเข้มข้น นั่นจึงเป็นภารกิจของ มธ. ที่จะต้องมีส่วนร่วมในการคลี่คลายปัญหาด้วย
ดังนั้น คณะทำงาน มธ. จึงได้ร่วมมือกันคิดค้น และผลิตเสาฆ่าเชื้อด้วยแสง UVC ออกมาจำนวน 4 เครื่อง โดยมอบให้กับศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคโควิด-19 ตลาดพรพัฒน์ เพื่อนำไปใช้ฆ่าเชื้อหลังการพ่นยาในบริเวณตลาดพื้นที่เสี่ยง โดยมี นพ.เอนก มุ่งอ้อมกลาง ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 สระบุรี และทีมบุคลากรฯ เป็นผู้แทนรับมอบ ซึ่งคณะทำงานของ มธ. ใช้เวลาประดิษฐ์เครื่องนี้เพียง 2-3 วันหลังได้รับการประสานจากสำนักงานป้องกันและควบคุมโรคที่ 4 เพื่อให้ทันต่อการใช้งาน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี