พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
หลังจากที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับความเป็นไทยมาเกือบ 10 ตอน โดยเฉพาะเมื่อศึกษาประวัติ และได้ชมภาพในอดีตจากหนังสือ “ชุมชนดั้งเดิม ใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์” ซึ่งจัดทำโดย กระทรวงวัฒนธรรมแล้ว ยิ่งได้เรียนรู้ เข้าใจประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของสังคมไทยมากขึ้น เพิ่มประกายความภาคภูมิใจในความเป็นไทย จากเดิมที่มีอยู่มากแล้วให้จ้าจรัสขึ้นไปอีก
หากถามว่าเมื่อยิ่งศึกษา ยิ่งซึมซับนานวันเข้าจะเต็มตื้นเมื่อไหร่ ผู้เขียนคงตอบเพียงว่า ความรัก ความภูมิใจในความเป็นไทยใต้ร่มพระบารมีจักรีวงศ์นี้ ไม่มีจำกัด ไม่มีประมาณ หาที่สุดมิได้จริงๆ ค่ะ
อยากขอบคุณทุกความตั้งใจของคณะผู้จัดทำที่สร้างความรู้ ความเข้าใจให้เยาวชน และประชาชนรุ่นหลังได้จดจำ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีทุกพระองค์ รวมทั้งอนุรักษ์ความเป็นไทย มิให้ลืมเลือนไปตามกาลเวลานะคะ
สัปดาห์นี้ จึงขอยกเรื่องราวของปฐมกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี มาเล่าสู่กันฟังค่ะ
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมกษัตริย์แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มีพิธีตั้งเสาหลักเมืองของพระนคร ในวันอาทิตย์ เดือน ๖ขึ้น ๑๐ ค่ำ เวลาย่ำรุ่งแล้ว ๔๕ นาที ซึ่งตรงกับวันที่ ๒๑ เมษายน พ.ศ.๒๓๒๕
ทรงโปรดให้ย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตะวันตก มาตั้งใหม่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นชุมชนชาวจีน และชุมชนชาวญวน ที่ตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุที่ย้ายพระนครมาอยู่ฝั่งตะวันออกเพราะมีชัยภูมิที่ดีกว่า หากข้าศึกยกมาถึงชานพระนครก็ป้องกันได้ง่าย เพราะมีลำแม่น้ำเป็นขอบเขต ฝั่งตะวันตกนั้นเป็นท้องคุ้ง น้ำเซาะทรุดพังอยู่เสมอ อีกทั้งกรุงธนบุรีมีแม่น้ำอยู่กลางเมือง เป็นเมืองอกแตก มีวัดแจ้ง (วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร) และ วัดท้ายตลาด (วัดโมฬีโลกยาราม)ขนาบอยู่ทั้ง ๒ ข้าง ยากที่จะขยายพระราชนิเวศน์
พระองค์พระราชทานนามพระนครแห่งใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรรัตนโกสินทร์มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบูรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ทำให้กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่า เป็นเมืองที่มีชื่อยาวที่สุดในโลก จนถูกบันทึกไว้ในกินเนสส์บุ๊คเลยทีเดียวค่ะ
ชื่อ กรุงเทพมหานครฯ นี้ ชาวบ้านจะเรียกกันว่า บางกอก มีที่มามาจากชื่อเก่าก่อนขุดคลองลัดที่มีคลองสาขาเล็กๆ เรียกว่าคลองมะกอก เพราะมีต้นมะกอกน้ำขึ้นอยู่เยอะ เลยเรียกติดปากกันมาว่า บางมะกอก จนเพี้ยนมาเป็นบางกอก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงแปลงสร้อยนามพระนครจาก “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น“อมรรัตนโกสินทร์”
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงฟื้นฟูระบบสังคมและการเมือง การปกครองตามแบบอย่างอาณาจักรอยุธยา ทรงออกกฎหมายตราสามดวงประมวลกฎหมายใหม่ ทรงฟื้นฟูพิธีในราชสำนัก ทรงปราบปรามข้าศึกศัตรู รักษาขอบขัณฑสีมา รักษาเอกราช สร้างความเป็นปึกแผ่น และแผ่พระราชอำนาจ ก่อให้เกิดความสงบสุขแก่บ้านเมืองและอาณาประชาราษฎร์ในเวลาต่อมา
รวมทั้งยังทรงทำนุบำรุงด้านพระศาสนา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระคัมภีร์พระปริยัติธรรมครบพระไตรปิฎก ประดิษฐานไว้ ณ หอมณเฑียรธรรมและสร้างแจกจ่ายไปตามอารามหลวงสำหรับภิกษุสามเณรเล่าเรียนสืบอายุพระศาสนา มีวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๑ และยังถือเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังทรงเป็นประมุขแห่งกวี ที่ทรงทำนุบำรุงวรรณคดีเป็นอันมากได้โปรดให้ราชบัณฑิตแต่งหนังสือขึ้นไว้สำหรับพระนคร ส่วนพระองค์ได้ทรงพระราชนิพนธ์เรื่องต่างๆ ไว้ เช่น เพลงยาว นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง, บทละครเรื่อง อุณรุท,บทละครเรื่อง รามเกียรติ์
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคต เมื่อเดือน ๙ แรม ๑๓ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๓๕๒ ทรงเสวยราชสมบัติ ๒๘ พรรษา รวมพระชนมพรรษา ๗๒ พรรษา เศษ ๖ เดือน
เนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๕ รัฐบาลและประชาชนชาวไทยได้พร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญานามว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เพื่อตระหนักถึงพระราชภารกิจสำคัญของพระองค์ที่ทรงมีต่อประเทศชาติอย่างใหญ่ปวงพสกนิกรชาวไทยได้อาศัยอยู่ใต้ร่มเงาพระบารมีจักรีวงศ์อย่างร่มเย็นเป็นสุข จวบจนถึงปัจจุบันในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งกรุงรัตนโกสินทร์เจริญรุ่งเรืองยืนยาวมานับเป็นเวลา ๒๓๘ ปี
เมื่อเขียนถึงบรรทัดนี้ ความหมายของชื่อเมืองกรุงเทพมหานครฯก็ดังก้องเข้ามาในห้วงสำนักอันจงรักภักดีค่ะ
“พระนครอันกว้างใหญ่ ดุจเทพนครเป็นที่สถิตของพระแก้วมรกต เป็นมหานครที่ไม่มีใครรบชนะได้ มีความงามอันมั่นคง และเจริญยิ่ง เป็นเมืองหลวงที่บริบูรณ์ด้วยแก้วเก้าประการ น่ารื่นรมย์ยิ่ง
มีพระราชนิเวศน์ใหญ่โตมากมาย เป็นวิมานเทพที่ประทับของพระราชาผู้อวตารลงมา ซึ่งท้าวสักกเทวราชพระราชทานให้ พระวิษณุกรรมลงมาเนรมิตไว้”
.....................................
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง/ภาพ
กระทรวงวัฒนธรรม
หนังสือ ชุมชนดั้งเดิม ใต้ร่ม
พระบารมีจักรีวงศ์
หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี