ศบค.ห่วงคลัสเตอร์กึ่งผับบาร์ลักลอบเปิดตั้งแต่กลางธ.ค.ปีก่อน หวั่นคนไทยหละลวมยอดติดเชื้อหลักหมื่นใน 2 สัปดาห์ ขอปชช.เน้น wfh หลังกลับจากปีใหม่
เมื่อวันที่ 5 ม.ค.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยตอนหนึ่งว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่ศบค.มีความเป็นห่วงอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ การแพร่ระบาดในร้านอาหารที่มีลักษณะกึ่งผับบาร์ พบที่ จ.เชียงใหม่ เป็นสถานบันเทิงย่านถนนนิมมานเหมินทร์ ส่วน จ.พะเยา ขอนแก่น เป็นร้านลักษณะผับกึ่งบาร์ ที่ จ.ชลบุรี เป็นร้านเหล้า ที่จ.มหาสารคามพบในร้านอาหารกึ่งผับ ขณะที่ จ.อุดรธานี อุบลราชธานี และกทม. พบในสถานบันเทิง
พญ.สุมนี กล่าวว่า จากการลงไปสอบสวนโรคพบเป็นการติดเชื้อในร้านอาหารกึ่งผับ นี่เป็นสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนและเปิดให้บริการ ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง เป็นสถานที่ปิด ไม่จำกัดจำนวนคน มีความแออัดหนาแน่นมาก มีการส่งเสริมการขายสุราโดยผู้ไปใช้บริการมีการกินดื่ม สังสรรค์พูดคุยเสียงดังใช้เวลาในร้านนาน และผู้ใช้บริการในสถานประกอบการเหล่านี้ในหนึ่งคืนจะไปหลายร้าน และจากการซักประวัติผู้ติดเชื้อจะพบว่าร้านอาหารเหล่านี้ไม่ได้เปิดแค่ในช่วงปีใหม่ แต่เปิดมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธ.ค. 64 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงหากมีการติดเชื้อในสถานที่เหล่านี้จะมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก มีโอกาสเป็นต้นเหตุให้แพร่ระบาดไปชุมชนคล้ายกับการระบาดจากย่านทองหล่อ เหตุการณ์ดังกล่าวกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลานาน
"หากดูการคาดการณ์การติดเชื้อหลังเทศกาลปีใหม่ที่ในปัจจุบันเส้นกราฟกระดกขึ้น หากประชาชนไม่ได้ทำตามมาตรการความปลอดภัยและหน่วยงานองค์กรมีความหละหลวมจะพบเห็นภาพคนติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์นี้เป็นหลักหลายหมื่นซึ่งเราไม่อยากให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงขอให้ผู้มีความเสี่ยงสูงรีบไปรับวัคซีนและให้หน่วยงานต่างๆเคร่งครัดมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง อย่างไรก็ตามปัจุบันประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 64.1% หากมีการติดเชื้ออัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตยังคงต่ำอยู่แต่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะผู้ฉีดวัคซีนไม่ครบยังมีความเสี่ยง"พญ.สุมนี กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า สำหรับมาตรการหลังเทศกาลปีใหม่ศบค.ขอความร่วมมือผู้เดินทางกลับจากต่างจังหวัดทำงานที่บ้านในช่วง 2 สัปดาห์แรก ตรวจคัดกรองด้วย ATK 2 ครั้งก่อนกลับไปทำงาน หากติดเชื้อให้โทร 1330 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อลงทะเบียนรับการดูแลที่บ้าน ส่วนผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงคือ จ.ชลบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร กาฬสิน ภูเก็ต และยะลา ขอให้สังเกตอาการ เฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน และสังเกตอาการตัวเองหากสงสัยอาการให้รีบคัดกรองตัวเองด้วย ATK ขณะที่โรงงานต่างๆหากพบการติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดแต่ให้ทำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อจำกัดวงการติดเชื้อและจัดการรักษาในระบบของสถานประกอบการนั้นๆ ในส่วนของโรงเรียนให้ศึกษาธิการเขตหรือศึกษาธิการจังหวัดพิจารณาเปิดหรือปิดโรงเรียนตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ในที่ประชุม ศปก.ศบค.หารือมาตรการรองรับกรณีหากมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยให้ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมระบบการรักษาที่บ้านและชุมชน ให้ส่วนท้องถิ่นเตรียมการและประสานกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อรองรับทรัพยากรหากต้องรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มเติม
-001