‘กสม.’เผยสถิติประชาชนร้องเรียนปี’64 ‘กระบวนการยุติธรรม’ยังมาอันดับ1
20 มกราคม 2565 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายชนินทร์ เกตุปราชญ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยสถิติเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ธ.ค.2564 โดยพบว่ามีเรื่องร้องเรียนในปีที่ผ่านมาจำนวน 571 เรื่อง และประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 สิทธิในกระบวนการยุติธรรม คิดเป็นร้อยละ 25.22 เช่น กรณีขอความช่วยเหลือให้เร่งรัดการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน กรณีกล่าวอ้างว่าเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการควบคุมตัว กรณีการตั้งด่านตรวจค้นมีการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสมกับเพศสภาพ เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) หน่วยงานในสังกัดกรมราชทัณฑ์ และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ทั้งนี้เรื่องร้องเรียนประเด็นสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. มากที่สุด ต่อเนื่องมาหลายปี
อันดับที่ 2 สิทธิพลเมือง คิดเป็นร้อยละ 18.21 เช่น กรณีได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมือง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม กรณีได้รับผลกระทบจากการกักตัวหลังจากเดินทางกลับจากต่างประเทศเพื่อดูอาการจากโรคโควิด 19 เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศบค.) และคณะรัฐมนตรี
อันดับที่ 3 สิทธิของบุคคลในทรัพย์สิน คิดเป็นร้อยละ 6 เช่น กรณีการจ่ายค่าทดแทนสำหรับการเวนคืนที่ดินโดยไม่เป็นธรรม กรณีปัญหาพื้นที่สาธารณะประโยชน์ทับซ้อนกับที่ดินทำกินของประชาชน กรณีการโต้แย้งสิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎร เป็นต้น หน่วยงานที่ถูกร้องว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ได้แก่ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ส่วนประเด็นสิทธิอื่นๆ ที่มีการร้องเรียนมายัง กสม. เช่น สิทธิชุมชน สิทธิและสถานะบุคคล สิทธิแรงงาน สิทธิเด็ก สิทธิคนพิการ สิทธิผู้สูงอายุ และสิทธิทางการศึกษา เป็นต้น
สำหรับการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน มีเรื่องร้องเรียนที่ กสม. รับไว้เป็นคำร้องเพื่อดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือน ก.ค.-ธ.ค. 2564 จำนวน 130 คำร้อง ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 40 คำร้อง อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของ กสม. จำนวน 10 คำร้อง และอยู่ระหว่างการติดตามผลการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จำนวน 80 คำร้อง
ทั้งนี้ กสม. มีนโยบายให้ดำเนินการประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในระยะเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งหลายคำร้องใช้ระยะเวลาไม่นานในการดำเนินการจนแล้วเสร็จ เช่น คำร้องเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรม กรณีกล่าวอ้างว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า สามารถดำเนินการแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเพียง 1 เดือน เป็นต้น
ขณะที่การจัดทำรายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนในปี 2564 มีจำนวน 185 เรื่อง โดยประเด็นสิทธิที่ กสม. มีมติว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 3 อันดับแรก ได้แก่ (1) สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ทหารทำร้ายร่างกายและซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพ (2) สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เช่น กรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีล่าช้า และ (3) สิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม เช่น กรณีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเด็กและเสรีภาพในการเสนอข่าวสารกรณีการชุมนุมทางการเมือง
ส่วนการจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนเพื่อเสนอต่อรัฐสภา และคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในปีที่ผ่านมามี 4 กรณี ได้แก่ (1) ข้อเสนอแนะกรณีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
(2) ข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิต่อกรณีการจำหน่ายรายการบุคคลออกจากฐานข้อมูลทะเบียนและการระงับความเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ (3) ข้อเสนอแนะในกระบวนการบริหารจัดการทะเบียนประวัติอาชญากร และ (4) ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน หรือผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชน
นายชนินทร์ ยังกล่าวถึงกรณีที่มีข้อซักถามจากสื่อมวลชน กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เป็นหน่วยงานที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนมากที่สุดต่อเนื่องทุกปี ว่า เรื่องที่มีการร้องเรียนมักเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนหรืออายัดคดีล่าช้า ซึ่งแม้ สตช. จะมีระเบียบกำกับไว้ แต่ก็มีบางกรณีที่ล่าช้าอยู่บ้าง แต่เมื่อ กสม. ตรวจพบและแจ้งไปยัง สตช. ก็พบว่า สตช. มีการสอบสวนและดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น นอกจากนี้ กสม. ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบ กรณีการสอบสวนคดีล่าช้าหรือการอายัดคดีเพื่อลดปัญหาผู้ต้องหาเสียสิทธิประโยชน์บางประการ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำ โดยคาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ กสม. ได้ภายในปลายเดือน ม.ค. 2565
ขณะที่นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า กสม. ได้หารือร่วมกับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาเชิงระบบทั้งการดำเนินคดีล่าช้า การอายัดตัว รวมถึงประวัติอาชญากรรม อีกทั้ง กสม. ยังปรับวิธีการทำงานจากการตรวจสอบเป็นการประสานคุ้มครองและขอให้มีการแก้ไข ซึ่งหลายกรณีก็แก้ไชได้อย่างรวดเร็ว โดยการประสานนั้นอาจแก้ไขได้ภายในครึ่งเดือน-1 เดือน หรือบางครั้งก็แก้ได้ทันที แต่การตรวจสอบอาจต้องใช้เวลา 4-6 เดือน หรือนานกว่านั้น
-005