ยังมีให้พบเห็นกันเป็นระยะเกี่ยวกับกรณีสุนัข ไล่กัดเด็ก กัดสัตว์เลี้ยงรวมถึงก่อให้เกิดความเสียหายอื่น โดยเฉพาะสุนัขพันธุ์ที่มีความดุ
โดยในทางกฎหมายนั้นผู้เป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงหรือสุนัขจะต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาดังต่อไปนี้ กรณีปล่อยสุนัขวิ่งตัดหน้ารถบนท้องถนน ต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯมาตรา 111 ที่กำหนดว่า “ห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ ปล่อยสัตว์ไปบนทางอันที่เป็นการกีดขวางการจราจร” โดยตามกฎหมายนี้ เจ้าของสุนัขมีหน้าที่ควบคุมสัตว์ไม่ให้ไปกีดขวางการจราจร หากสุนัขวิ่งตัดหน้ารถยนต์ หรือรถจักรยานยนต์ในระยะกระชั้นชิด จนทำให้รถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ของผู้อื่นเสียหาย ดังนั้น เจ้าของสุนัขอาจต้องร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิด เนื่องจากอุบัติเหตุนั้นเกิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าของสุนัขที่ไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ในการควบคุมดูแลสุนัข
กรณีปล่อยสุนัขกัดสัตว์เลี้ยงของผู้อื่น
เจ้าของอาจทั้งติดคุกและเสียเงินเนื่องจากกฎหมายอาญา มาตรา 377 วางหลักไว้ว่า ผู้ใดควบคุมสัตว์ดุร้าย ปล่อยปละละเลยให้สัตว์นั้นอยู่ลำพัง ในประการที่อาจทำอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และหากสุนัขที่เลี้ยงไว้ไปกัดสัตว์เลี้ยงผู้อื่นตาย บาดเจ็บ เจ้าของสุนัขต้องรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของสุนัข เช่น ค่าเสียหาย ค่ารักษา ตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย
กรณีปล่อยสุนัขก่อความรำคาญเพื่อนบ้าน
ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยเรื่อง การควบคุมการเลี้ยงหรือปล่อยสุนัข โดยวางหลักการไว้ เพื่อให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงสุนัขโดยไม่ให้ไปก่อความรำคาญ เห่าหอน หรือขับถ่ายไม่เป็นที่ จนเป็นที่เดือดร้อนผู้อื่น หากฝ่าฝืนก็จะมีความผิดตามกฎหมายด้วย (ตามกฎหมายอาญามาตรา 397 ผู้ใดกระทำการใดๆต่อผู้อื่นอันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคาม หรือกระทำให้ได้รับความอับอาย เดือดร้อน รำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท)
ถ้าการกระทำประมาทนั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายจนสาหัส อาจมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 300 มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ถ้าการกระทำประมาทและพิสูจน์ได้ว่า เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 291 ผู้ใดกระทำประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน200,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีค่าเสียหายทางแพ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 433
“ถ้าความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์” เจ้าของต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ฝ่ายที่เสียหาย
โดยมีคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจคือ ฎีกาที่ 162/2523 สุนัขเป็นสัตว์เลี้ยง แต่ก็อาจเป็นสัตว์ที่ดุได้โดยธรรมชาติของสัตว์นั้นเอง ทั้งนี้ต้องดูพฤติการณ์เป็นเรื่องๆ ไป เฉพาะคดีนี้ ข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า สุนัขของจำเลยเคยกัดเป็ดของผู้เสียหายมาก่อนแล้วหลายครั้ง และครั้งที่เกิดเหตุนี้สุนัขของจำเลยไปกัดเป็ดของผู้เสียหายตายและบาดเจ็บหลายสิบตัว ถือได้ว่าเป็นสัตว์ดุตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 377
บทสรุป แม้โทษทางอาญากับค่าเสียหายทางแพ่ง จะดูไม่มากนัก แต่การบังคับใช้กฎหมาย อาจจะเกิดผลดีเพื่อทำให้เจ้าของสัตว์หรือเจ้าของสุนัขมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะหากความเสียหายเกิดขึ้นร้ายแรง โทษจำคุก โทษปรับหรือค่าเสียหายทางแพ่งก็จะสูงตาม ดังนั้นการปล่อยปละละเลยย่อมไม่เป็นผลดีทั้งกับเจ้าของสัตว์รวมถึงผู้เสียหายทั้งสิ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี