“ป่าชายเลน” เป็นระบบนิเวศที่ประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ พันธุ์สัตว์หลายชนิดดำรงชีวิตร่วมกันกับสภาพแวดล้อมที่เป็นดินเลนน้ำกร่อย และน้ำทะเลท่วมถึงอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น มักพบป่าชายเลนปรากฏอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่เป็นชายฝั่งทะเล ปากแม่น้ำหรืออ่าว พันธุ์ไม้ที่มีมากและมีบทบาทสำคัญที่สุดในป่าชายเลน คือป่าโกงกางป่าชายเลนจึงมีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า “ป่าโกงกาง”
อย่างที่ “สิงหนคร” ซึ่งเป็นอำเภอใน จ.สงขลา ป่าชายเลนยังคงความอุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ไม้ป่าชายเลนในบริเวณริมชายฝั่งเป็นจำนวนมากโดย ผศ.ดร.นุกูล ชิ้นฟัก ผู้ช่วยคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย “การจัดการความรู้ข้อเสนอเชิงนโยบาย สู่การปฏิบัติในการฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐ” กล่าวว่า ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีขนาดครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ครอบคลุมพื้นที่ 8,729 ตร.กม.
โดยแบ่งเป็นทะเลสาบ พื้นที่ 1,042 ตร.กม. ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งต้นน้ำของลุ่มน้ำแห่งเดียวของประเทศไทยที่มีระบบนิเวศลักษณะเฉพาะตัวแบบ 3 น้ำ คือ “น้ำจืดน้ำกร่อย และน้ำเค็ม” จึงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำและความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่เนื่องจากที่ผ่านมาทะเลสาบสงขลาถูกคุกคามอย่างรุนแรง จึงนำนโยบายและยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ฟื้นฟูการปลูกป่าชายเลนในบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแบบประชารัฐมาต่อยอดปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม
โครงการนี้เริ่มนำร่องในพื้นที่หมู่ 4 โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีการทำบันทึกความตกลงร่วม (MOU) ระหว่างเทศบาลตำบลชะแล้และมหาวิทยาลัยหาดใหญ่ อีกทั้งยังเชื่อมโยงกลุ่มเครือข่าย เช่น กลุ่มชุมชนรักษ์ชะแล้ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 5 (เกาะยอ) โรงเรียนวัดชะแล้ กลุ่มประมงพื้นบ้านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหารฯร่วมออกแบบกิจกรรม สร้างความตระหนักในการฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง สู่การลงมือปฏิบัติจริง โดยใช้แนวคิด “บางเหรียงโมเดล” คือ การปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน
“แต่เดิมพื้นที่ตำบลชะแล้ส่วนหนึ่งไม่สามารถปลูกพืชใดๆ ได้เนื่องจากเป็นป่าพรุ ดินจึงมีลักษณะเปรี้ยว ทีมวิจัยจึงให้ความสำคัญกับการปลูกป่าชายเลนแบบผสมผสาน โดยคัดเลือกพันธุ์ไม้แต่ละชนิดที่เหมาะสมกับสถานที่ พร้อมกับเตรียมกล้าไม้เพื่อเพาะชำอย่างเหมาะสม ลงปลูกอย่างถูกวิธี และดูแลบำรุงรักษา พร้อมบูรณาการแก้ไขปัญหาอย่างรอบด้าน
เช่น การทำไม้ไผ่กันลม การรณรงค์ร่วมกันเก็บเศษขยะทิ้งออกจากพื้นเป็นระยะๆ พร้อมทั้งอบรมให้ชุมชนกำจัดหนอน หอยหรือสัตว์ที่ทำลายพันธุ์กล้าป่าชายเลน อนาคตยังมองแนวทางที่จะพัฒนาให้ป่าชายเลนริมทะเลสาบสงขลาแห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ภายใต้วิถี โนด นา ป่า เล และเป็นแหล่งเพาะลูกกุ้ง ลูกปลาที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย” ผศ.ดร.นุกูล กล่าว
ผศ.ดร.นุกูล กล่าวต่อไปว่า สำหรับพันธุ์กล้าไม้ที่ทีมวิจัยและชุมชนร่วมกันปลูก ได้แก่ ต้นจิกตีนเป็ดทะเล จาก หยีน้ำ สารภีทะเล เสม็ดขาว และโกงกางใบเล็ก จำนวน 3,650 ต้น ขณะนี้เริ่มเห็นผลจากความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติมากขึ้นแล้ว เพราะจะเห็นได้จากการที่ชาวประมงสามารถจับปลาได้มากกว่าแต่ก่อน ต้นเสม็ดที่ปลูกมาแล้ว 2-3 ปี ก็ออกดอกให้เกสรเป็นอาหารชั้นดีแก่ “ผึ้งชันโรง” ทำให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงไว้เป็นอาชีพเสริมกันมากขึ้น
อีกทั้งมีการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม การจัดตั้งสภาเด็กและเยาวชนวัยใส ใส่ใจสิ่งแวดล้อม จัดตั้งศูนย์วิจัยชุมชนชะแล้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ผู้สนใจ และสามารถส่งต่อเป็นโครงการให้แผนพัฒนาตำบลต่อไปได้ โดยกลุ่มคนในท้องถิ่น และทีมวิจัยยังคงร่วมกันปลูกป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างภาคีชุมชนที่เข้มแข็งขึ้น
ดำเนินวิถีชีวิตด้วยความหวงแหนและพึ่งพิงธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี