นายบัญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 อนุมัติในหลักการตามข้อเสนอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง “ข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดของไทย จากบัญชี 1 เป็นบัญชี 2 ภายใต้อนุสัญญา CITES” ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2565 ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีวัตถุประสงค์เพื่อจะได้ดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ครั้งที่ 19 (CITES CoP19) ระหว่างวันที่ 14-22 พฤศจิกายน 2565 ที่ประเทศปานามา
สำหรับข้อเสนอปรับลดบัญชีจระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทย เนื่องจากจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ ตามกฎกระทรวงกำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่
เพาะพันธุ์ได้ 2546 และเป็นชนิดที่อยู่ในบัญชี 1 (Appendix I) ตามบัญชีท้ายอนุสัญญา CITES ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการเพาะเลี้ยงจระเข้น้ำจืดทั่วประเทศ โดยมีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ค้า ครอบครอง และเพาะพันธุ์ที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 จำนวน 1,415 ราย มีรวม 1,263,360 ตัว (ข้อมูลปี 2564) การค้าระหว่างประเทศของจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย ซึ่งปัจจุบันอยู่ในบัญชี 1 ที่มีข้อกำหนดในการส่งออกจะต้องขออนุญาตจาก CITES แต่หากปรับลดชนิดพันธุ์มาอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II) ผู้ที่ขึ้นทะเบียนไว้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย จะสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้เลย
ทั้งนี้ การเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้น้ำจืดพันธุ์ไทยในฟาร์ม มีการเพาะเลี้ยงมานานกว่า 20 ปี และมีการขึ้นทะเบียนฟาร์มเพื่อการค้า ส่งผลทำให้เกิดธุรกิจการเพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์จระเข้
ทั่วประเทศ