รบ.ยันแผนบริหารจัดการโควิดชัดเจน หลังปรับเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง เดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชาชนตามเป้าเดิม ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ติดต่อฉีดวัคซีนโควิดได้ที่รพ.ฟรี ทั้งเข็มปกติ-เข็มกระตุ้น เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ยันมีวัคซีนเพียงพอ ตุลาคมเตรียมไว้ 7 ล้านโดสสำหรับ 4 เป้าหมาย ติดเชื้อรายวัน 655 ตาย 12 ศพ อนามัยโพลพบปชช.ส่วนใหญ่ยังหนุนใส่แมสก์-ล้างมือง-เว้นระยะห่าง ป้องกันโควิดกลับมาระบาดซ้ำ
เมื่อวันที่ 25 กันยายน เพจไทยรู้สู้โควิด-19 รายงานสถานการณ์ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ประจำวันว่า ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล (รพ.) 655 ราย จำแนกเป็น ผู้ป่วยในประเทศ 655 ราย ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ-ราย ผู้ป่วยสะสม 2,454,917 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม หายป่วยกลับบ้าน 1,032 ราย หายป่วยสะสม 2,469,446 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ส่วนผู้ป่วยกำลังรักษาตัวมี 7,694 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้น 12 ราย เสียชีวิตสะสม 11,020 ราย นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 524 ราย
ด้านนพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีและโฆษกกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เผยผลสำรวจอนามัยโพลตั้งแต่วันที่ 1-19 กันยายนพบว่า จากการสำรวจทุกพฤติกรรมของประชาชนตามมาตรการสาธารณสุขป้องกันระบาดโควิดมีแนวโน้มลดลงจากเดือนสิงหาคมคือ การสวมหน้ากากเมื่อเข้าสถานที่ปิด หรือคนรวมตัวกันหนาแน่น จากร้อยละ 94.8 เป็นร้อยละ 93.6 การล้างมือ จากร้อยละ 88.6 เป็นร้อยละ 87.5 และการเว้นระยะห่าง จากร้อยละ 87.3 เป็นร้อยละ 86.3 สอดคล้องกับความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 82.6 เป็นร้อยละ 80.4
นพ.เอกชัยกล่าวต่อว่า ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ มีความเห็นว่า มาตรการที่มีความจำเป็น และควรทำต่อไปในระยะเปลี่ยนผ่านโควิด-19 เข้าสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ การเฝ้าระวังพฤติกรรมการสวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ร้อยละ 25.57 รองลงมาคือ การจัดสถานที่ให้มีอุปกรณ์ล้างมือเพียงพอ มีการเว้นระยะห่าง และระบายอากาศที่ดี ร้อยละ 22.47 ทำความสะอาด และจัดการด้านสุขาภิบาลสถานที่ต่างๆ ร้อยละ 20.22 ตามลำดับ
นพ.เอกชัยกล่าวด้วยว่า ถึงแม้แนวโน้มสถานการณ์โควิด ในประเทศดีขึ้น ส่งผลให้มีการดำเนินชีวิตภายใต้มาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น แต่ประชาชนยังต้องเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ และใส่ใจอนามัยขั้นพื้นฐานของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้เสี่ยงสูง กลุ่ม 608 และผู้มีโรคประจำตัว ยังต้องหมั่นล้างมือบ่อยๆเมื่อสัมผัสสิ่งของ สวมหน้ากากหากอยู่ในที่ปิด หรือคนรวมตัวกันหนาแน่น หรือหากมีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่ที่แออัด เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อโควิด
ขณะที่น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)มีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศลดระดับโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป รัฐบาลเตรียมแนวทางบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งการเฝ้าระวัง การรักษาโรค รวมถึงแผนบริหารจัดการวัคซีนไว้รองรับอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ในส่วนการให้วัคซีนป้องกันโรค ยังคงดำเนินไปตามเป้าหมายเดิมคือ ประชาชนอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไปสามารถเข้ารับบริการวัคซีนได้ตามสถานพยาบาลโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยรับวัคซีน และผู้รับเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนต่อเนื่อง โดยปริมาณวัคซีนมีเพียงพอกับความต้องการ ทั้งวัคซีนคงคลังที่สามารถจัดสรรได้ทันที และวัคซีนที่ทำสัญญาไว้แล้วรอส่งมอบจากผู้ผลิต
รองโฆษกรัฐบาลยังชี้แจงโครงสร้างการดำเนินงานบริหารจัดการวัคซีน ระยะที่โควิด-19 เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังว่า มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่ ให้คำแนะนำการใช้วัคซีน ดำเนินการโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ การเฝ้าระวังเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับวัคซีน ดำเนินการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญพิจารณาเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หลังได้รับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่ง 2 ส่วนแรกนี้ดำเนินงานเช่นเดียวกับช่วงที่ยังคงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และส่วนที่สาม เป็นการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดจากเดิมที่ดำเนินการโดย ศบค.จะเปลี่ยนไปอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และจะตั้งคณะอนุกรรมการจัดหาและกระจายวัคซีนโควิดภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติต่อไป
สำหรับแผนให้วัคซีนประชาชนเดือนตุลาคมนั้น มีทั้งสิ้น 7 ล้านโดส ประกอบด้วย เป้าหมาย 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ที่อายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ต้องการรับเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 5 ล้านโดส 2.ผู้ที่อายุ 12-17 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 5 แสนโดส 3.เด็กอายุ 5-11 ปี ที่ต้องการเข็ม 1-2 หรือเข็มกระตุ้น 1 ล้านโดส 3.เด็กอายุ 6 เดือน-4 ปี ที่ต้องการรับเข็ม 1 จำนวน 5 แสนโดส และ 4. ผู้ที่เข้าเกณฑ์กลุ่มเสี่ยงและต้องการภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) 4 หมื่นโดส
น.ส.ไตรศุลีกล่าวด้วยว่า วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีแดงเข้มสำหรับหรับเด็กอายุ 6 เดือนถึง 4 ปี กระทรวงสาธารณสุขจะได้รับมอบจากผู้ผลิตประมาณกลางเดือนตุลาคม จากนั้นจะกระจายผ่านระบบสถานพยาบาลที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกทม.กำหนด นอกจากนี้ จะประสานความร่วมมือกับองค์การปกครอบส่วนท้องถิ่น (อปท.) กระทรวงมหาดไทย หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อบริการฉีดให้ศูนย์เด็กเล็ก ดำเนินการภายใต้กำกับของแพทย์
วันเดียวกัน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยความคืบหน้าการติดตามสถานการณ์ระบาดของโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Monkey pox)ว่า เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น สถานการณ์ผู้ป่วยรายใหม่ทั้งในประเทศและทั่วโลกแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง กรมควบคุมโรค สธ.เสนอปรับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง จากเดิมเฝ้าระวังระดับกระทรวง ปรับลงเหลือเพียงระดับกรม
นายอนุชากล่าวต่อว่า กรณีฝีดาษลิง กรมควบคุม สธ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (Emergency Operations Center: EOC) เฝ้าระวังระดับกรมตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม เมื่อองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern : PHEIC) รัฐบาลเตรียมแนวทาง และยกระดับศูนย์ EOC เป็นระดับกระทรวง ส่งผลให้การเฝ้าระวังครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ จากการประเมินสถานการณ์ต่อเนื่อง สธ.พบว่า ช่วงระบาดสูงสุดทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 1 พันรายต่อวัน แต่ขณะนี้เหลือเฉลี่ย 580 รายต่อวัน โดยไทยพบผู้ป่วยฝีดาษลิง 8 รายในระยะ 4 เดือน โดย 3 ใน 7 ราย มีประวัติแสดงอาการก่อนกลับมาถึงไทย ปัจจัยหลักมาจากการสัมผัสใกล้ชิดจากการมีเพศสัมพันธ์ และติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ไม่พบการแพร่เชื้อต่อ สะท้อนว่าฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้น การประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขวันที่ 19 กันยายน จึงเสนอปรับลดระดับศูนย์ EOC โรคฝีดาษวานร จากระดับกระทรวงกลับมาเป็นระดับกรมตามเดิม แต่โรคฝีดาษลิงยังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง ถ้าพบผู้ป่วยต้องสงสัยจำเป็นต้องรายงานและสอบสวนโรค