เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ในการแถลงข่าวประจำสัปดาห์ของสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาวเลอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ซึ่งล่าสุดเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา เอกชนได้เข้าปิดถนนที่ชาวเลใช้สัญจรไปโรงเรียน โรงพยาบาล สุสาน และออกไปทะเล ทำให้ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นว่า กสม. ได้ติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากเป็นข้อพิพาทในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะระหว่างชาวเล หน่วยงานของรัฐ และธุรกิจเอกชน ซึ่งเป็นกรณีที่ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันจำนวนทั้งสิ้น 14 คำร้อง โดย กสม. ได้ตรวจสอบเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 9 คำร้อง และอยู่ระหว่างการตรวจสอบอีกจำนวน 5 คำร้อง อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม สิทธิในการจัดการที่ดิน และสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย
เช่น กรณีที่รัฐประกาศพื้นที่อุทยานแห่งชาติและการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับที่ดินของชาวเลซึ่งอยู่มาก่อนยาวนาน การเข้ารุกล้ำร่องน้ำสาธารณะของเอกชน และการประกอบกิจการธุรกิจท่องเที่ยวที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศชายฝั่งและการประกอบอาชีพของชาวเลอูรักลาโว้ย โดยที่ผ่านมา กสม. ได้มีข้อเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ให้มีการตรวจพิสูจน์กระบวนการออกเอกสารสิทธิที่ดินภายในเกาะหลีเป๊ะเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
ให้มีการกำหนดพื้นที่เขตคุ้มครองวัฒนธรรมที่เอื้อต่อกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และการกำหนดการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น แต่ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกับเอกชนที่อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินก็ยังคงอยู่ และปัจจุบันปรากฏสถานการณ์ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นในพื้นที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนในท้ายที่สุด โดยเห็นว่าทุกฝ่ายจะต้องเคารพสิทธิชุมชนดั้งเดิมและปฏิบัติตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGPs)
ซึ่ง กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 จึงมีมติเห็นควรจัดทำหนังสือแจ้งไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาข้อพิพาทตามข้อเสนอแนะที่ผ่านมาของ กสม. ทั้งนี้ กสม. จะได้ส่งพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พื้นที่ภาคใต้ เข้าร่วมเฝ้าระวังและสังเกตการณ์สถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่อย่างใกล้ชิดด้วย
“มีหลายกรณีที่กลุ่มชาติพันธุ์อาจอยู่ในพื้นที่มาก่อน แล้วสมัยก่อนอาจไม่ได้มีเรื่องของกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือเอกสารสิทธิ์ แต่ตอนหลังมีการออกกฎหมายหรือเอกสารสิทธิ์มาทีหลัง แล้วไปทับซ้อนกับที่อยู่หรือที่ทำกินของคนเหล่านี้ สิ่งสำคัญที่ กสม. ให้ความสำคัญก็คือเรื่องสิทธิชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์หรือผู้ที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน และเห็นว่าการแก้ไขข้อพิพาทรัฐจะต้องเข้าไปช่วยคลี่คลายสถานการณ์” นายวสันต์ กล่าว
ด้าน น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และอดีตอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริมว่า จากประสบการณ์การทำงานกับกลุ่มชาติพันธุ์ตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่กระทรวงยุติธรรม พบว่า ในความคิดของกลุ่มชาติพันธุ์เชื่อว่าทรัพยากรทั้งหลายล้วนแต่เป็นของธรรมชาติไม่มีใครเป็นผู้ครอบครอง แต่ต่อมามีเรื่องของระบบกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน จึงเกิดข้อพิพาทขึ้น ขณะเดียวกัน กรณีของชาวเลนั้นบริเวณที่อยู่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว จึงกลายเป็นปัญหาการขับไล่กันขึ้น
“ตั้งแต่อยู่กระทรวงยุติธรรม เคยไปช่วยประกันตัวกับกลุ่มชาวเกาะหลีเป๊ะที่ถูกจับในข้อหาบุกรุก ก็เป็นที่ที่เขาอยู่ดั้งเดิม เขาก็บอกไม่ใช่ผู้บุกรุก เขาเป็นผู้บุกเบิก อะไรอย่างนี้เป็นต้น แต่ด้วยบทบาทของ กสม. ที่มีอยู่ตามกฎหมาย เราก็มีหน้าที่ จากเรื่องร้องเรียนที่ได้รับเราก็มีหน้าที่จะต้องไปติดตามว่าข้อเสนอแนะในเรื่องของการจัดการที่ดิน ในเรื่องของการพิสูจน์สิทธิ์ และแนวทางการอยู่ร่วมกัน จะให้กำหนดเป็นพื้นที่เขตคุ้มครองทางวัฒนธรรมไหม? การกำหนดการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนในพื้นที่สาธารณประโยชน์ เป็นต้น” น.ส.ปิติกาญจน์ กล่าว
น.ส.ปิติกาญจน์ ยังกล่าวอีกว่า บทบาทของ กสม. ประการหนึ่งคือการมีข้อเสนอแนะและติดตามข้อเสนอแนะที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ไม่ทำให้กลายเป็นข้อขัดแย้งและลุกลามสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้ ในงานสมัชชาสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือน ส.ค. 2566 ประเด็นกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์จะเป็นเรื่องหนึ่งที่ กสม. ให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบทั้งในเชิงนโยบายและกฎหมาย
- 006