เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2566 นายธนโชติ เธียรรุ่งโรจน์ ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรอากานิกส์ เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ 13 ภาพอนาคตกัญชาไทย จาก 13 ทัศนคตินักคิดและนักกิจกรรมสังคมไทย ที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) ว่า ตนมี 3 ประเด็นเกี่ยวกับกัญชาที่ต้องการนำเสนอ 1.ประชาชนต้องสามารถปลูกได้ 2.ประชาชนต้องใช้เป็น และ 3.ชุมชนต้องมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ทั้งนี้ กัญชามีหลายสายพันธุ์ซึ่งแตกต่างกันไปตามปัจจัย เช่น ดิน น้ำ อากาศ ของแต่ละพื้นที่ ขณะเดียวกันก็ต้องมีองค์ความรู้ว่ากัญชาแต่ละสายพันธุ์เหมาะสมกับการใช้ทำอะไรหรือรักษาโรคใด ขณะเดียวกันคนนำไปใช้ก็ต้องมีความรู้เพื่อให้ใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช่นำยานอนหลับไปใช้แก้ปวดท้อง หรือนำกัญชาสายพันธุ์ที่ใช้ด้านสันทนาการไปใช้รักษาโรคมะเร็ง ดังนั้นทั้งคนปลูกและคนใช้จึงต้องได้รับการฝึกอบรมให้ใช้เป็น ซึ่งจะนำไปสู่การคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับการปลูกในแต่ละพื้นที่ด้วย
ส่วนประเด็นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. …. ที่ยังอยู่ในการพิจารณาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น เท่าที่ทราบคือทางสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ได้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) รอไว้แล้ว 4 คณะ เพื่อเตรียมพิจารณา แต่จะต้องเข้าไปให้ถึงชั้น สว.ให้ได้ภายในต้นเดือน ก.พ.2566 เพราะทาง สว.จะต้องส่งร่างกฎหมายกลับมาให้ฝั่ง ส.ส.พิจารณากันอีกรอบ ดังนั้นประชาชนจะต้องติดตามและเป็นกำลังหลักสำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลง
“ผมเคยพูดไปครั้งหนึ่งแล้วว่าบ้านผมพรรคพลังประชารัฐทั้งจังหวัดเลย แต่วันนี้ผมรู้สึกว่าท่านอนุทินทำเพื่อชาวบ้าน ทำเพื่อเรา ผมเป็นกำลังใจแล้วก็จะผลักดันช่วย ถ้าโอกาสหน้าท่านได้กลับมาเป็นคณะรัฐบาล อยากให้ท่านดูกระทรวงสาธารณสุขต่อแล้วก็เดินต่อไป แต่ถ้ามันจบในสมัยนี้ได้ มันจะเป็นความมั่นคงของประชาชนที่เป็นรากหญ้า ที่จะดูแลตัวเองได้ด้วยสารสกัดจากัญชา อย่างถูกวิธีและถูกต้อง” นายธนโชติ กล่าว
พระครูปัญญาวโรบล เจ้าอาวาสวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ที่วัดมีการรักษาผู้มีอาการทางจิตประสาท ผู้ป่วยลมชัก และบำบัดผู้ติดสุราเรื้อรัง โดยใช้สมุนไพรมาตั้งแต่ยุคที่ยังไม่มีกัญชาให้ใช้ กระทั่งต่อมาได้เข้าร่วมโครงการของ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณบดีวิทยาลับแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จึงได้นำกัญชามาใช้กับอาการทั้ง 3 กลุ่มดังกล่าว รวมถึงผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มีบัตร เนื่องจากบริเวณที่ตั้งของวัดเป็นชายแดน จึงพบปัญหาประชากรที่ไม่มีเอกสารแสดงสถานะบุคคล
“รพ.สต. ผู้ป่วยที่ไม่มีบัตรก็เอาเข้ามา เราจะแจกยา ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่มีบัตร ตรงนี้เราดูแลมาค่อนข้างนานพอสมควร ดังนั้นกลุ่มพวกนี้เราก็จะเริ่มเห็นว่าการใช้สมุนไพรบำบัด ไม่ใช่กัญชาอย่างเดียว กัญชามันลดปวดดี นอนหลับดี กินดี แต่การขับพิษมะเร็งแพทย์แผนไทยองค์ความรู้เขาเยอะ ดังนั้นก็เชิญอาจารย์แพทย์มาประยุกต์ยา ก็เกิดการเรียนการสอน แล้วเราเอากัญชามาประยุกต์ยากับการแพทย์แผนไทยเลย เอาโรคนี้ๆ ปรุงยาไม่ต้องเยอะ ปรุงแค่ 2 - 3 อย่างก็ใช้เลย” พระครูปัญญาวโรบล กล่าว
นายสฤษดิ์ โชติช่วง ปราชญ์ชาวบ้านผู้รู้ด้านกัญชาแห่งเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า นับตั้งแต่เด็กได้ติดตามพ่อแม่ไปดูการปลูกข้าวไร่ ซึ่งเกษตรกรบนเกาะพะงันจะหว่านเมล็ดกัญชาควบคู่ไปกับเมล็ดข้าว ขณะที่ย่าก็เล่าว่า ตอนที่แม่คลอดคนก็ใช้กัญชาไปต้มให้เกิดเป็นไอขณะอยู่ไฟเพื่อทำให้ร่างกายผ่อนคลาย ส่วนข้อกังวลเรื่องเด็กและเยาวชนติดยาเสพติดเพิ่มขึ้น สำหรับที่เกาะพะงันปัจจุบันยังไม่เป็นเช่นนั้น แม้ว่าบนเกาะจะเต็มไปด้วยชาวต่างชาติ ที่จำนวนไม่น้อยมีการใช้ยาเสพติดก็ตาม โดยชาวต่างชาติหลายคนก็บอกว่ากัญชาเลิกใช้ง่าย แต่จริงไม่จริงก็อีกเรื่องหนึ่ง
“กลุ่มวิสาหกิจในปัจจุบันนี้รวมตัวกัน 5 กลุ่ม สร้างเป็นเครือข่าย ทำข้อตกลงกับโรงพยาบาลเกาะพะงันเพื่อปลูกกัญชาเพื่อรักษาชาวเกาะพะงันฟรี โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกให้ฟรี ไม่ได้แบ่งดอกแบ่งใบแบ่งต้นขาย ให้ทั้งหมดกับโรงพยาบาลแล้วก็ไม่ได้คิดสตางค์ คิดค่าตอบแทนอะไรทั้งสิ้น อันนั้นเป็นข้อตกลง ทำเอ็มโอยูกันไว้ และเราจะต้องทำต่อ” นายสฤษดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายสฤษดิ์ พร้อมด้วย นายสนธยา แซ่โย้ หมอยาเกาะพะงัน ยังได้รวบรวมจดหมายของประชาชนชาวเกาะพะงัน ที่เรียกร้องให้สภาผู้แทนราษฎรขับเคลื่อนกฎหมายกัญชาให้สำเร็จ นำมามอบให้กับ นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง (ฉบับที่..) พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร ที่มาร่วมงานดังกล่าวด้วย
- 006