"กลุ่มทะลุวัง-ส.ส.ก้าวไกล"ยื่น 6,514 รายชื่อ ส่งหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้อง 3 ข้อ ปล่อยตัวนักโทษการเมือง-ยกเลิก 112-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม "50 คณาจารย์นิติศาสตร์"ส่งจดหมายเปิดผนึกด้วย
เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2566 ที่หน้าศาลฎีกา สนามหลวง กลุ่มทะลุวัง นำโดย น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง เสน่ห์สังคม , นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข แกนนำกลุ่ม 24 พฤษภาฯ , นายอนุสรณ์ อุณโณ รองศาสตราจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ , น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล , นายเอกชัย หงส์กังวาน และแนวร่วม ได้ทำกิจกรรมเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไปยังศาลฎีกา สนามหลวง เพื่อยื่นหนังสือและรายชื่อที่ประชาชนเข้าร่วมมากกว่า 6,514 รายชื่อ ซึ่งลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org ถึงประธานศาลฎีกา เพื่อสนับสนุน 3 ข้อเรียกร้องของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ จำเลนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยื่นขอถอนประกันตนเอง
โดยข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ปล่อยนักโทษทางการเมืองทุกคน 3.พรรคการเมืองออกนโยบายยกเลิก มาตรา 112 และ มาตรา 116 โดยมี นายธนากร พรวชิราภา หัวหน้าส่วนกฎหมายและระเบียบ สำนักงานประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนรับมอบ
สำหรับแถลงการณ์ของกลุ่มทะลุวัง มีเนื้อหาสรุปว่า ตามที่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และอรวรรณ ภู่พงศ์ หรือ แบม ได้ยื่นคำขอถอนการประกันตัวเอง เนื่องจากเป็นการประกันตัวแบบมีเงื่อนไขที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน โดยศาลอาญา มีคำสั่งคุมขังเมื่อวันที่ 16 ม.ค.2566 ทั้งสองคนจึงอดอาหารและน้ำ ในเรือนจำโดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 1.ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทุกคน 2.ปฏิรูปยุติธรรม ศาลเป็นอิสระปราศจากการแทรกแซง 3.ประกันสิทธิเสรีภาพ ยกเลิกมาตรา 112
โดยทั้งสองคนปฏิเสธการรักษา มีอาการสาหัส เสี่ยงอันตรายต่อการเสียชีวิต ขณะนี้สาธารณชนได้แสดงออกในการสนับสนุนข้อเรียกร้อง 3 ข้อของตะวันและแบม โดยกลุ่มทะลุวังได้รวบรวมรายชื่อ ประชาชนจํานวน 6,000 คน ที่สนับสนุนข้อเรียกร้องสามข้อของตะวันและแบบ จึงขอเรียกร้องต่อแระธานศาลฎีกาดังนี้
1.ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน จากการที่ราษฎร ได้มีการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ ให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย แต่รัฐบาลประยุทธ์กลับใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนและใช้มาตรา 112 และมาตรา 116 เป็นเครื่องมือในการจับกุมคุมขัง โดยที่ศาลไม่ให้ประกันตัว หรือให้ประกันตัวแต่มีเงื่อนไขหลายประการที่เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชน เป็นเหตุให้ทั้งสองคนอดอาหารและน้ำ ดังนั้นจึงขอให้ศาลฎีกาได้ปกป้องสิทธิเสรีภาพของราษฎรด้วยการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน
2.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีความเป็นอิสระ เปิดเผย โปร่งใส เนื่องจากผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนในกระบวนการพิจารณาคดี ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เนื่องจากผู้บริหารเป็นผู้พิจารณาสั่งการอันเป็นการแสดงถึงการแทรกแซงกระบวนการพิจารณาที่ทำให้ขาดความโปร่งใส ไม่เป็นที่ยอมรับต่อสังคม จึงขอให้ศาลฎีกาประกาศโดยชัดแจ้งให้กระบวนการพิจารณาคดีปราศจากการแทรกแซงจากผู้บริหาร และผู้มีอำนาจหน้าที่ส่งผลต่อความยุติธรรมและสิทธิเสรีภาพของราษฎร
3.ประกันสิทธิเสรีภาพของราษฎร จากการใช้กฎหมายมาตรา 112 และมาตรา 116 อย่างไม่เป็นธรรม ด้วยการยุติการดำเนินคดีที่เกิดจากการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของราษฎร ดำเนินการในการยกเลิกมาตรา 112 และ 116
นอกจากข้อเรียกร้องที่ได้อ่านเเถลงการณ์ยังมีจดหมายเปิดผนึก 50 คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ จากสถาบันการศึกษา เรื่อง เรียกร้องให้คืนสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวให้แก่ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมือง.-006