เปิด‘ยุทธการเปิดฟ้าเมืองมุก’ แก้ยาเสพติดมุกดาหาร
31 มกราคม 2566 นายวรญาณ บุญณราช ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร, ผู้บัญชาการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี , รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดมุกดาหาร, ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดมุกดาหาร, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร, ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภาค 4, ปลัดจังหวัดมุกดาหาร, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมุกดาหาร, หัวหน้าส่วนราชการ,นายอำเภอ ร่วมในพิธีปล่อยแถวเปิดปฏิบัติการ “ยุทธการเปิดฟ้าเมืองมุก” ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดปฏิบัติการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติด ตามนโยบายรัฐบาล ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเร่งด่วน 3 เดือน (1 พฤศจิกายน 2565-31 มกราคม 2566) และได้มอบนโยบายว่า ปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ และเป็น 1 ใน 12 นโยบายสำคัญของรัฐบาล เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกันดำเนินการตามแผนปฏิบัติการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหา ยาเสพติดฯ ระยะเร่งด่วน 3 เดือน เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ด้านการป้องกัน ให้กระทรวงศึกษาธิการ สร้างภูมิคุ้มกันด้วยความรู้และหลักคิดที่ถูกต้องให้กับเยาวชน สร้างกลไกเฝ้าระวังยาเสพติด เพื่อป้องกันสถานศึกษาให้เป็น "พื้นที่สีขาว" พื้นที่ปลอดภัยอยู่เสมอ และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และสนับสนุนการบำบัดรักษาโดยชุมชน
ด้านการสกัดกั้น ให้กองทัพ เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติด ตามแนวบริเวณชายแดน ด้านการปราบปราม ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการเชิงรุก ในการปราบปรามจับกุมผู้ค้ายาเสพติดในพื้นที่ และจัดส่งข้อมูลให้สำนักงาน ป.ป.ส. ขยายผลไปสู่การทำลายเครือข่ายจับกุมนายทุน และผู้เกี่ยวข้อง ด้านการยึดอายึดทรัพย์สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ส. บูรณาการอย่างใกล้ชิดกับ สำนักงาน ปปง. และกรมสรรพากร ในการขยายผลยึดทรัพย์สินผู้ค้ายาเสพติด ที่นำเงินจากยาเสพติดไปฟอกเงิน และให้หน่วยงานศาลและอัยการ เร่งรัดกระบวนการทางคดียาเสพติดให้มีความรวดเร็วขึ้น ด้านการบำบัดรักษาฟื้นฟู
ให้กระทรวงสาธารณสุข เร่งรัดจัดทำกฎหมายลำดับรอง หรืออนุบัญญัติ กฎกระทรวงระเบียบประกาศต่าง ๆ สำหรับใช้ในการบำบัดรักษา คัดกรองผู้เสพผู้ติดยาเสพติด แล้วนำเข้าสู่กระบวนการอย่างเหมาะสมโดยจัดตั้งสถานที่บำบัดรักษา ทั้งโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลประจำตำบล (รพ.สต. โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรง หรือมีอาการทางจิต ที่จะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ให้มีอาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) ทำหน้าที่เป็น "คู่บัดดี้" ติดตามผู้ป่วยในชุมชน จนกว่าอาการจะหายขาด ตลอดจนสร้างระบบการบำบัดฟื้นฟู ในรูปแบบ "ชุมชนเป็นฐาน" (Community Based Treatment :CBTX) พร้อมทั้งให้กระทรวงแรงงาน ส่งเสริมให้ผู้ผ่านการบำบัดฟื้นฟูมีทักษะความรู้ในสาขาวิชาชีพ พร้อมจัดหาตำแหน่งงานให้มีงานทำ
สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงมหาดไทย ให้ทำการสนับสนุนการปฏิบัติงานในทุกมิติ เช่น จัดตั้งชุดปฏิบัติการตำบล ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปค้นหาผู้เสพผู้ติดยาเสพติดในหมู่บ้านชุมชน จัดให้มีการลงทะเบียนในระบบ พร้อมทั้งสอดส่องป้องกันเฝ้าระวัง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดในแหล่งมั่วสุม เปิดช่องทางสื่อสารเพิ่มเติมจาก "สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567" สำหรับรับแจ้งเบาะแส ร้องเรียน ขอรับความช่วยเหลือ รวมทั้งจัดตั้ง "ศูนย์ฟื้นฟูสภาพทางสังคม" ให้ครบทุกจังหวัด และสร้างกลไกต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดมีงานทำ
จังหวัดมุกดาหารเป็นเมืองที่น่าอยู่ เมืองแห่งความสุข ปราศจากยาเสพติดอย่างแท้จริง เราต้องช่วยกันป้องกันและปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มข้น จริงจัง และต่อเนื่อง ตามแผนยุทธการปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างสุดกำลังความสามารถ เพื่อเปิดฟ้าเมืองมุกดาหารให้ขาวสะอาด สว่างไสวไร้ยาเสพติด ไว้เป็นสมบัติให้ลูกหลานชาวเมืองมุกดาหาร ภายใต้ปฏิบัติการ “เปิดฟ้าเมืองมุก”