8 ก.พ.66 ที่ห้องประชุมบัวหลวงปทุมธานี ชั้น 5 ศาลากลาง จ.ปทุมธานี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการดำเนินการโครงการด้านทรัพยากรน้ำ จ.ปทุมธานี โดยเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์น้ำ จ.ปทุมธานี พร้อมด้วย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับฟังสภาพปัญหาและแนวทางการพัฒนาคลองหมายเลข 3 ของ จ.ปทุมธานี ณ โรงเรียนวัดเวฬุวัน ต.บางพูด อ.เมือง จ.ปทุมธานี
จากนั้นลงพื้นที่ตรวจติดตามก่อสร้างสถานีสูบน้ำและอาคารประกอบ ณ โครงการสถานีสูบน้ำถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ (บริเวณหน้าวัดเทพสรธรรมาราม) ต.บ้านใหม่ อ.เมือง จ.ปทุมธานี ตามลำดับ
พล.อ.ประวิตร กล่าวมอบนโยบายการบริหารจัดการน้ำ จ.ปทุมธานี โดยมอบหมายให้ สทนช. จังหวัดปทุมธานี และกรมชลประทาน ร่วมบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรน้ำในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกปัญหา และให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งดำเนินการตามแผนงานโครงการป้องกันอุทกภัยในเขตจังหวัดปทุมธานี เพื่อลดความเสียหายและผลกระทบของพื้นที่ในช่วงฤดูน้ำหลาก รวมทั้งให้กรมทางหลวงดำเนินการตามแผนงานปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อให้สามารถเร่งระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว โดยให้ทุกหน่วยงานร่วมกันเตรียมความพร้อมและดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมและแผนเผชิญเหตุของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร ได้มอบแนวทางการพัฒนาคลองหมายเลข 3 จ.ปทุมธานี โดยสั่งการกรมชลประทานและกรมทางหลวง ให้มีการบูรณาการร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการพัฒนาและการแก้ไขปัญหา โดยการเพิ่มศักยภาพของคลองตลอดสาย ให้สามารถระบายน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ รวมถึงทำให้เกิดการไหลเวียนของน้ำ ลดปัญหาน้ำเน่าเสียในคลอง อีกทั้งสามารถกลับมาใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดปทุมธานีได้อีกด้วย
"พล.อ.ประวิตร สั่งการให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ ให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ รวมถึงโครงการอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่โดยเร็ว และให้ดำเนินการเร่งซ่อมแซม บำรุงรักษาระบบระบายน้ำ อาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำ ในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ทั้งนี้ ให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามข้อสั่งการอย่างเคร่งครัดและหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนอย่างรวดเร็ว และกำหนดมาตรการรองรับภัยพิบัติอย่างเป็นระบบ พร้อมเผชิญเหตุทุกเมื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากพื้นที่ จ.ปทุมธานี เป็นเขตรอยต่อกรุงเทพมหานคร ปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รวมไปถึงปัญหาการจราจรด้วย ดังนั้นการวางแผนแก้ไขปัญหาอุทกภัยจึงต้องเร่งดำเนินการให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้"