ดีเอสไอ. ส่งสำนวน พร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้องอดีตพนง.การท่าเรือฯ 37 คนทุจริตเบิกเงินโอที พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ชี้มีพยานปรักปรำใส่ร้ายในชั้นสอบสวน ขออัยการสอบเพิ่มพยานหาข้อเท็จจริง
วันที่ 29 มีนาคม 2566 เวลา 10.00 น. ที่สำนักอัยการคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความพาผู้ต้องหา ซึ่งเป็นอดีตพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย จำนวน 37 คนเข้ารายงานตัว กรณีการทุจริตเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา หรือ โอที ช่วงปี 2545-2555 ทำให้รัฐเสียหายเป็นเงินกว่า 3,300 ล้านบาท
โดยคดีนี้ สืบเนื่องมาจาก เมื่อปี 2557 ผู้บริหารการท่าเรือฯได้เข้าร้องเรียนต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ขณะนั้น ให้ดำเนินคดีเรื่องค่าล่วงเวลา(โอที)ของขบวนการค้าความทำให้รัฐเสียหายหลายพันล้านบาท จึงขอให้ ดีเอสไอเข้าไปตรวจสอบการทุจริต ต่อมา ต้นปี 57 ดีเอสไอรับเป็นคดีพิเศษ หลังจากนั้นสรุปสำนวน ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อพิจารณาแต่ ป.ป.ช.ส่งสำนวน กลับไปให้ ดีเอสไอดำเนินคดีต่อไป ต่อมาเดือน มิ.ย. 2560 ดีเอสไอ แจ้งให้การท่าเรือแห่งประเทศไทยเข้า มาเป็นผู้กล่าวหา โดยมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นพนักงานและอดีตพนักงานและผู้ควบคุมงานรวม 560 คนที่ตกเป็น ผู้ถูกกล่าวหา โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 3,300 ล้านบาท ใช้เวลาสรุปสำนวนประมาณ 6 ปี ดีเอสไอ จึงมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาได้เพียง 37 คนจาก 560 คน พร้อมส่งตัว และสำนวนเห็นควรสั่งฟ้องให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ พิจารณา
นายกฤษฎา ทนายความ กล่าวว่า ในวันนี้ผู้ต้องหาทั้ง 37 คนได้มอบหมายให้ ตนในฐานะทนายความทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีอัยการสํานักงานคดีพิเศษ ขอให้มีคำสั่งให้ ดีเอสไอ สอบพยานเพิ่มเติม รวม 2 ปากซึ่งเป็นอดีตพนักงานการท่าเรือฯ และรักษาการแทน ผอ.การท่าเรือ ฯโดยพยาน โดยพนักงานคนที่หนึ่งมีประวัติเดินทางไปต่างประเทศรวม 8 วัน แต่ไม่ได้ขออนุญาตพักผ่อนหรือลา และเมื่อเดินทางกลับ มาได้ขอเบิกและรับเงินค่าล่วงเวลาทั้ง 8 วันออกไป แต่รักษาการผอ.การท่าเรือ ฯ เพียงลงโทษทางวินัยให้ไล่ออกเท่านั้น โดยไม่แจ้งความดำเนินคดีเป็นคดีพิเศษของดีเอสไอเหมือนกับพนักงาน 560 คนด้วย อีกทั้งพยานทั้งสองและผู้ทำหน้าที่ประสานคดีก็ยังได้เสนอชื่อพยานคนที่หนึ่งไปให้การเป็นพยานในสำนวนคดีพิเศษเพื่อต้องการปรักปรำใส่ร้าย ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 560 คนว่า ไม่ได้ทำงานจริงแต่มาขอเบิกเงินค่าล่วงเวลาออกไป พฤติการณ์ของพยานทั้งสอง ปากบ่งชี้ว่า มีการกลั่นแกล้งผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 560 คน ทำให้ดีเอสไอหลงเชื่อและมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 37 คน ทั้งที่เป็นผู้บริสุทธิ์
ดังนั้น จึงต้องขอความเป็นธรรมต่ออธิบดีอัยการฯเพื่อตรวจสอบสำนวนว่ามีลักษณะเป็น การกลั่นแกล้งใส่ร้ายผู้ต้องหาทั้ง 37 คนหรือไม่ ทั้งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 พนักงานที่ถูกกล่าวหาทั้ง 560 คนต้องถูกสังคมประณามว่าเป็นคนโกงเป็นคนทุจริตเงินหลวง และยังทำให้การฟ้องคดีที่ศาลแรงงานกลางเพื่อ เรียกเงินค่าล่วงเวลาเป็นรายชั่วโมงต้องแพ้คดีไปทั้งหมดด้วย