‘ศิริราช’แจงเตียงเต็ม
ผู้ป่วยโควิดล้น
ฝ่ายฉุกเฉินรับเพิ่มไม่ได้
หมอแนะกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน
อนามัยโลกเตือนอย่าประมาท
สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ มีความน่ากลัวขึ้นเป็นลำดับ พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ล่าสุด โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ประกาศว่า เตียงผู้ป่วยวิกฤต และเตียงผู้ป่วยใน ที่ใช้สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิด เต็มทุกห้องแล้ว คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ยืนยัน ยังควบคุมสถานาการณ์ได้ แจงเป็นคนละส่วนกัน ด้านองค์การอนามัยโลก เตือน อย่าประมาท ให้พร้อมรับมือโรคระบาดใหญ่รอบใหม่ที่อาจร้ายแรงกว่าโควิด-19
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2566 เฟซบุ๊กเพจ “Siriraj Piyamaharajkarun Hospital” ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ 26 พ.ค.66 แจ้งให้ทราบว่า “ขณะนี้เตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วย COVID-19 เต็มทุกห้อง ทั้งนี้ แผนกฉุกเฉิน (ER) ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อ COVID-19 ที่รอการส่งต่อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วย COVID-19 เพิ่มได้ ขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ ที่นี้ ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤษภาคม 2566”
อย่าชะล่าใจ หมอศิริราช เตือนศึกโควิดที่ซบเซา กำลังกลับมาแล้ว ภาพรวมยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 200% ใกล้จะถึงแนวรับของแพทย์ 10 คนต่อวัน แนะช่วงนี้ควรงดรวมตัวที่สาธารณะ
มีรายงานว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า ขอเตือนกันดังๆ อีกครั้งว่า อย่ามัวสนใจกันแต่เรื่องจัดตั้งรัฐบาล หลังเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
ศึกโควิดที่ทำท่าจะซบเซาไปแล้ว กำลังกลับมาโงหัวฟาดหางประเทศเราเป็นการใหญ่ ณ บ้านริมน้ำ ตัวเลขผู้ป่วยโควิดรอรับเข้าโรงพยาบาลกลับเพิ่มมากขึ้นใหม่ นอกจากจะเป็นผู้ใหญ่กลุ่มเปราะบางแล้ว เริ่มมีผู้ป่วยเด็กให้เห็นประปรายด้วย
ในภาพรวมประเทศสัปดาห์ล่าสุดที่ 20 ของปี ยังมีการเพิ่มขึ้นไปต่อของยอดผู้ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยอาการหนัก และผู้ป่วยใส่เครื่องช่วยหายใจ โดยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ 19 ก่อนหน้าราว 12%, 26%, และ 39% ตามลำดับ
ส่วนยอดผู้เสียชีวิตซึ่งพุ่งตามหลังมา เพิ่มขึ้นไปถึง 200% ที่ต้องระวังคือ ยอดผู้ป่วยอาการหนักสะสม รวมเข้าใกล้แนวรับศักยภาพตึงมือภาคการแพทย์ที่ 500 คนแล้ว และผู้เสียชีวิตก็ใกล้จะถึงแนวรับที่ 10 คนต่อวันแล้วเช่นกัน
ปัจจัยหลักน่าจะมาจากผู้คนมีกิจกรรมนอกบ้านแบบไม่ระมัดระวังกันมากขึ้น ส่วนปัจจัยรองอาจมาจากสายพันธุ์ย่อยทั้งหลาย ที่สืบตระกูลของโอไมครอน XBB ซึ่งถือโอกาสรุกคืบเข้ายึดครองตลาดในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ และจากวัคซีนของคนไทยเราเริ่มตกลง
แถมยังเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างหนัก ทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ดังนั้น การรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมากในที่สาธารณะช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยง และขอให้เคร่งครัดการใส่หน้ากากในพื้นที่ที่การระบายอากาศไม่ดี เข้มงวดโควิดกันให้ดีด้วย
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่าขณะนี้สถานการณ์เตียงของโรงพยาบาลศิริราช ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ และปกติไม่ได้มีการขยายเตียงเพิ่มเหมือนในอดีต กระแสข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์เตียงของโรงพยาบาล ที่ว่ามีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก เป็นของ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ไม่ใช่โรงพยาบาลศิริราช โดยผู้ป่วยที่มารับบริการของโรงพยาบาลศิริราช มีทั้งผู้ป่วยอาการปกติและผู้ป่วยอาการหนัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคน 608 ที่ไม่ได้รับวัคซีนเป็นเวลานาน
“ดังนั้น อยากเชิญชวนคนที่ถึงเกณฑ์รับวัคซีนเข็มกระตุ้น หากรับวัคซีนนานเกิน 3-4 เดือน ในกลุ่มคน 608 ควรมารับทันที ส่วนที่เหลือยังคงใช้กลไกการป้องกันตนเอง เช่นไปสถานที่แออัดควรสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกัน หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับคนที่มีอาการป่วยโรคทางเดินหายใจ เพื่อเป็นการป้องกันตนเอง” คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ โควิด-19 เชื่อว่ากำลังจะเข้าสู่ภาวะโรคประจำถิ่น เพียงแต่ขณะนี้อยู่ในสถานการณ์ที่เปิดเทอมอีกครั้ง เข้าสู่ฤดูฝน และผู้คนอาจลดการป้องกันตนเองทำให้พบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น
สำหรับโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ นั้น ได้ดำเนินการและบริหารงานเช่นเดียวกับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งแยกจากโรงพยาบาลศิริราช ที่เป็นโรงเรียนแพทย์
วันเดียวกัน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ได้เตือนว่า โลกยังไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป ซึ่งอาจร้ายแรงกว่าโควิด-19 ตามที่ นพ.เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่ขององค์การอนามัยโลก ได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อสมัชชาองค์การอนามัยโลก ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมประชุม 194 ประเทศ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ที่ผ่านมาโดย ระบุว่า ขณะนี้โลกยังขาดระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลกสำหรับโรคระบาด, การขาดแคลนวัคซีนและเวชภัณฑ์อื่นๆ, ขาดการประสานงานระหว่างประเทศในการรับมือกับโรคระบาด พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ เตรียมพร้อมสำหรับการระบาดใหญ่ครั้งต่อไป รวมถึงลงทุนในระบบเตือนภัยล่วงหน้าทั่วโลก, สร้างคลังวัคซีนและเวชภัณฑ์อื่นๆ ทั่วโลก, ปรับปรุงการประสานงานระหว่างประเทศในการรับมือกับโรคระบาด
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก กำลังอัปเดตรายชื่อเชื้อก่อโรคที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ติดต่อและโรคระบาดใหญ่ในอนาคตรวม 10 โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส กับอีกหนึ่งโรคติดเชื้อที่เรียกว่าโรค X ได้แก่ 1.ไวรัสโคโรนา 2019 (SARS-CoV-2) 2.ไวรัสไข้เลือดออกไครเมีย-คอง 3.ไวรัสอีโบลา 4.ไวรัสมาร์เบิร์ก
5.ไข้ลาสซา 6.ไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS-CoV) 7.ไวรัสโคโรนากลุ่มอาการทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (SARS-CoV) 8.ไวรัสนิปาห์ 9.ไวรัสไข้ Rift Valley 10.ไวรัสซิกา
11.โรค X
สำหรับโรค X มีไว้สำหรับเรียกโรคที่ไม่รู้จักว่าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสหรือสิ่งมีชีวิตประเภทใด ซึ่งอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดระหว่างประเทศที่ร้ายแรง โดยองค์การอนามัยโลกกำลังทำงานร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาวัคซีนเพื่อการป้องกันและยาต้านไวรัสเพื่อการรักษาสำหรับโรคเหล่านี้ แต่ก็ไม่อาจรับประกันได้ว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคเหล่านี้ขึ้นในอนาคต