โควิดไทยรอบสัปดาห์ขยับ
เสียชีวิต68ศพ
ยอดติดเชื้อเพิม3,085ราย
‘นพ.ธีระ’เชื่อมีมากกว่านี้
เตือนปชช.ใส่ใจสุขภาพ
‘หมอมนูญ’เจอเคสหายาก
กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์โควิด-19 ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม-3 มิถุนายน 2566 ป่วยเพิ่ม 3,085 ราย เสียชีวิต 68 ศพ นพ.ธีระ ย้ำคนไทยใส่ใจสุขภาพ-รับผิดชอบสังคม ด้านหมอมนูญพบผู้ป่วยอาการแทรกซ้อนแบบหายาก
วันที่ 5 มิถุนายน 2566 กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย ว่า ข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 รายสัปดาห์ที่ 22 ระหว่างวันที่ 28 พ.ค. – 3 มิ.ย. 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ 3,085 ราย เฉลี่ยวันละ 440 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 386 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 243 ราย และผู้เสียชีวิตรายใหม่ 68 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ขณะที่ การได้รับวัคซีนโควิด-19 สะสม 144,951,341 ราย เป็นเข็มที่ 1 จำนวน 57.2 ล้านโดส เข็มที่ 2 จำนวน 53.7 ล้าน และเข็มที่ 3 จำนวน 33.9 ล้านโดส
ในวันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Thira Woratanarat’ ระบุข้อความว่า วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดไทย สถิติรายสัปดาห์ล่าสุด 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2566 จำนวนป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล 3,085 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 3.87% หรือ 1.04 เท่า แต่สูงกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 81.57% หรือ 1.81 เท่า จำนวนเสียชีวิต 68 ราย สูงกว่าสัปดาห์ก่อน 61.9% หรือ 1.62 เท่า แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 580% หรือ 6.8 เท่า
จำนวนผู้ป่วยที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 243 ราย น้อยกว่าสัปดาห์ก่อน 3.95% แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 115% หรือ 2.15 เท่า จำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบ 386 ราย ลดลงกว่าสัปดาห์ก่อน 9.17% แต่มากกว่า 4 สัปดาห์ก่อน 76.25% หรือ 1.76 เท่า คาดประมาณติดใหม่รายวันอย่างน้อย 22,036-30,606 คน ยังคงทำลายสถิติต่อเนื่อง ถือว่าสูงที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2565 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ คาดว่าตัวเลขในระบบจะน้อยกว่าสถานการณ์จริง ความใส่ใจสุขภาพ ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวสม่ำเสมอ เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนไทย ที่ต้องการสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของตนเองและครอบครัว เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน รักษาความสะอาดบริเวณที่ใช้งานร่วมกับผู้อื่น
ไม่สบาย ควรแยกตัวจากผู้อื่น 7-10 วันจนไม่มีอาการและตรวจ ATK ซ้ำได้ผลลบ แสดงความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ใส่หน้ากากอย่างถูกต้องเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่จบแค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ด้วย ป้องกันตัวไม่ให้ติด หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด หากเพิ่งไปร่วมกิจกรรมที่มีคนหมู่มาก แออัด โดยไม่ได้ป้องกันตัว ควรสังเกตอาการตนเองในช่วงสัปดาห์นี้ด้วยนะครับ
ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ และประธานชมรมเชื้อราทางการแพทย์ประเทศไทย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC’ ระบุว่า ผู้ป่วยหญิงอายุ 75 ปี ปกติแข็งแรงดี ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม โมเดอร์นา 2 เข็ม มีไข้ แสบคอ ไอมาก วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 ตรวจ ATK ให้ผลบวก วินิจฉัยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ยาโมลนูพิราเวียร์ 5 วัน
หลังกินยาครบยังไอมาก ไอแรง ไอจนปวดท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่ทะลุไปด้านหลัง กินอาหารไม่ได้ อาเจียนอาหารที่กินออกมาหมด เข้านอนในโรงพยาบาลวันที่ 5 พฤษภาคม ตรวจเลือด พบเลือดจางระดับฮีโมโกลบินต่ำ 10.2 เมื่อเทียบกับก่อนหน้านี้ เท่ากับเลือดหายไป 3 ถุง ส่องกล้องพบลำไส้เล็กส่วนต้น ที่ต่อกับกระเพาะอาหารตีบตันจากมีอะไรข้างนอกมาบีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น
ทำคอมพิวเตอร์สแกนช่องท้อง พบก้อนเลือดขนาด 3.9 x 8.3 x 8.6 เซนติเมตร บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้น ทำหัตถการฉีดสีเข้าไปในเส้นเลือดพบ เส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นล่าง (inferior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.5 เซนติเมตร และเส้นเลือดแดงเล็กที่ไปเลี้ยงตับอ่อน-ลำไส้เล็กส่วนต้นบน (superior pancreaticoduodenal artery) โป่งพองขนาด 0.2 เซนติเมตร และรั่วทั้ง 2 ตำแหน่ง
ใส่สายสวนหลอดเลือดเข้าไปถึงบริเวณเส้นเลือดที่โป่งพองแล้วปล่อยขดลวดเข้าไปอุดและฉีดสารอุดหลอดเลือดที่โป่งพองด้วยกาวและน้ำมัน หลังทำหัตถการผู้ป่วยอาการค่อยๆดีขึ้น ต้องใช้เวลา 14 วันกว่าผู้ป่วยจะกลับมากินอาหารเหลวได้ ระหว่างที่อดอาหาร ให้สารอาหารทางเส้นเลือด และต่อสายระบายน้ำในกระเพาะอาหารลงขวดนาน 14 วัน วันที่ 3 มิถุนายนตรวจกระเพาะลำไส้ด้วยการกลืนแป้ง ไม่พบการอุดตันของลำไส้เล็กส่วนต้นอีกแล้ว
ผู้ป่วยรายนี้มีเส้นเลือดเล็กโป่งพองในช่องท้องอยู่แล้ว ระหว่างที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ไอแรงมากจนกระเทือนช่องท้อง เส้นเลือดเล็กที่โป่งพองในช่องท้องแตก ทำให้เลือดจางจากการเสียเลือด เลือดไหลออกในช่องท้องรวมตัวเป็นก้อนเลือด บีบรัดลำไส้เล็กส่วนต้นจนลำไส้เล็กส่วนต้นอุดตัน กินอาหารอาเจียนออกหมด โรคนี้พบน้อยมากๆ ถ้าไม่ได้รับการรักษาโอกาสเสียชีวิตสูง