"บาตามัส"คือภาษามาลายู ที่ชาวเกษตรกรในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ใช้เรียกทุเรียนพันธุ์"หมอนทอง"หนึ่งในสายพันธุ์ยอดนิยมแห่งราชาผลไม้ ด้วยรสชาติ และราคาที่จับต้องได้หากซื้อกันตามฤดูกาล เป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศไทยมีหลายพื้น หลายจังหวัดที่เพาะปลูกทุเรียน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดจันทรบุรี ระยอง และนนทบุรี ซึ่งเป็นตลาดหลักที่สร้างผลผลิตจากสวนท้องถิ่นกระจายไปสู่ปลายทางทั่วประเทศ และต่างแดน ซึ่งรสชาติ และเนื้อสัมผัสจากแต่ละแหล่ง ก็ล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะส่วนตัว ตามลักษณะภูมิประเทศ ที่แตกต่าง
ขณะที่จังหวัดชายแดนใต้ ด้ามขวานอันอุดมสมบูรณ์ แหล่งเกษตรกรรมในวิถีชีวิตพหุวัฒนธรรม ภาพจำอาจมองเข้ามาว่ายางพาราคือพืชเศรษฐกิจหลักในพื้นที่ แต่โดยข้อเท็จจริง เกษตรกรชาวจังหวัดชายแดนใต้ ก็ปลูกทุเรียนกันมาหลายปีแล้วเช่นกัน
ด้วยลักษณะภูมิประเทศภูเขา เกษตรกรจึงเลือกที่จะปลูกทุเรียนตามเชิงเขา ด้วยแร่ธาตุในดิน และภูมิอากาศแบบฝนสลับแดด ผลผลิตของทุเรียนในพื้นที่ รสชาด และเนื้อสัมผัส จึงมีความเฉพาะตัว นุ่มละมุน และกลิ่นไม่แรงนัก
แม้ผลผลิตที่ได้จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่นเดียวกับทุเรียนในพื้นที่อื่น หากแต่หลายปีก่อนการปลูกทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เป็นไปแบบปล่อยตามธรรมชาติ ไร้ทิศทาง และเป้าหมาย จึงทำให้"เกรด"และ"คุณภาพ" ของทุเรียน ไม่อยู่ในระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งส่งผลต่อราคาที่ถูกกดต่ำ "โอกาส"ที่มีกลับกลายเป็น"ปัญหา"ด้วยเหตุผลสำคัญคือการจัดการที่ขาด"องค์ความรู้"
จนเมื่อปี พ.ศ.2561 สถาบันปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ตามที่ได้รับคำร้องขอจากเกษตรกรชาวสวนทุเรียน ว่ามีผลผลิตทุเรียนจำนวนมาก แต่จำหน่ายได้ราคาต่ำเพราะถูกกดราคา เนื่องจากทุเรียนไม่มีคุณภาพ ผลทุเรียนออกมาแล้วมีหนอนเจาะเมล็ดทุเรียน มีหนามแดงราคาต่ำ มีการขายแบบเหมาสวนโดยไม่ได้คัดเกรด เป็นต้น
เมื่อรับทราบปัญหาแล้วในปีถัดมา พ.ศ. 2562 สถาบันปิดทองหลังพระฯ จึงได้ทำหน้าที่ประสานงานเพื่อให้เกิดการบูรณาการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่าง "รู้ รัก สามัคคี" เข้าไปเสริมงานราชการให้สามารถบริการประชาชนในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด
พร้อมทั้งน้อมนำแนวทางพระราชดำริ "สืบสาน รักษา ต่อยอด" ก่อเกิด"ทฤษฎีใหม่"แก้ไขปัญหาเกษตรกรแบบ "องค์รวม"อย่างเป็นขั้นตอน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายคือเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
"สถาบันปิดทองหลังพระฯ" ดำเนินงาน แบบ"ครบวงจร"ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และ ปลายทาง โดยยึดแนวทาง "ศาสตร์พระราชา"ที่มีแก่นแกนหลักคือ"เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา" เป็นหัวใจสำคัญ
ต้นทาง - ส่งเสริมองค์ความรู้การปลูกทุเรียน ตั้งแต่การจัดการดิน น้ำในแปลง การดูแลตามระยะเจริญเติบโตตามมาตราฐาน GAP
กลางทาง-การพัฒนารูปแบบการเก็บเกี่ยวผลผลิต "ไม่ตัดทุเรียนอ่อน" และตรวจสอบแป้งไม่ต่ำว่า 32 % ตามมาตราฐานที่ตลาดต้องการ
ปลายทาง - เชื่อมโยงล้งพันธมิตรสนับสนุนเกษตรกร ตลอดจนพัฒนารูปแบบที่ให้เกษตกรเป็นผู้กำหนดราคาเอง
ขณะเดียวกันเมื่อลงรายละเอียดคู่ขนาน ในหลัก"เข้าใจ"
- มีการพัฒนาความรู้เยาวชนและเกษตรกรให้เป็นอาสาสมัครในพื้นที่ 90 ราย โดยนำไปเรียนรู้วิธีใส่ปุ๋ย การฉีดพ่นสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช การผสมเกษรดอกทุเรียนเพื่อให้ลูกมีรูปทรงสวย การตัดทุเรียนไม่ให้อ่อน ที่จังหวัดระยองและเมื่ออาสาสมัครมีความรู้แล้วก็เป็นครูถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรต่อ ในลักษณะลงพื้นที่ติดตามการปฏิบัติของเกษตรกรในสวนทุเรียน แนะนำการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดอย่างทันท่วงที มีการจัดทำคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพผสมผสานความรู้ของส่วนราชการ ภาคเอกชน และภูมิปัญญาชาวบ้านเข้าด้วยกันอย่างเข้าใจง่ายทำเป็น 2 ภาษา ทั้งภาษาไทยและมาลายู
"เข้าถึง"
- มีการใช้แอพพลิเคชั่นติดตามการผลิตทุเรียนของเกษตรกร 4 ระยะ ตั้งแต่ 1. การเตรียมต้นสะสมอาหาร 2.การดูแลดอกทุเรียน 3.การฉีดพ่นสารป้องกันและกำจัดหนอนเจาะทุเรียน และ 4. การเก็บเกี่ยวที่ไม่ให้มีผลผลิตอ่อน ซึ่งผลผลิตต้องมีอายุไม่น้อยกว่า 120 วัน ขึ้นไป หลังดอกบาน พร้อมทั้งตรวจวัดเปอร์เซ็นต์แป้งที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 32 โดยทุเรียนรุ่นแรกจะออกตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน และมีผลผลิตมากในช่วงกรกฎาคม – กันยายน
นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งกองทุนปุ๋ย สารป้องกันและกำจัดศัตรูพืช ให้เกษตรในโครงการยืมสำหรับเกษตรกรไม่มีเงินลงทุน และจะใช้คืนเป็นเงินหลังจากขายผลผลิตได้เพื่อหมุนเวียนไว้ซื้อปัจจัยการผลิตปีต่อๆ ไป
"พัฒนา"
-สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้กับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน แนะนำวิธีการเจรจาต่อรองราคาที่ให้เกิดประโยชน์ทั้งเกษตรกร และ ผู้รับซื้อแบบไม่มีการเอาเปรียบกัน มีรูปขายผลผลิตในปีนี้ 3 รูปแบบ ผู้ซื้อจะยินยอมพร้อมใจสนับสนุนเงินสมทบ "กองทุนพัฒนาเกษตรกร" เพื่อไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนาทุเรียนให้มีคุณภาพปีต่อไป เป็นจำนวนเงินกิโลกรัม 2 บาท
ดังนี้
(1) เจรจาล้งที่รับซื้อเดิมในพื้นที่และมั่นใจในคุณภาพทุเรียนของเกษตรกรในโครงการฯ (ล้งพันธมิตร) พร้อมทั้งเสนอราคารับซื้อสูงกว่าท้องตลาด โดยเกษตรกรจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะไปขายให้กับล้งที่พอใจมากที่สุด
(2) การขายออนไลน์ : มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างชื่อแบรนด์ "ทุเรียนบาตามัส"ให้เป็นที่รู้จักภายในประเทศ เจาะกลุ่มเป้าหมายที่มีกำลังซื้อสูง โดยปีนี้ เริ่มนำร่อง 320 กล่อง จากเกษตรกร 5 ราย เพื่อทดลองตลาด
(3) การขายประมูลสวน : โดยได้เชิญล้งที่สนใจจำนวน 6 ล้ง ดูผลผลิตในสวนเกษตรกร 3 ราย ว่าทุเรียนมีรูปทรงสวยเกรดส่งออกเป็นส่วนมาก มีหนามสีเขียว และให้ล้งยื่นซองเสนอราคาเพื่อเข้าตัดผลผลิตเกษตรกรทุกเกรดในราคาเดียวกันยกเว้นของเสีย ซึ่งปีนี้ล้งที่ชนะการประมูลให้ราคาสูงถึง 146 บาทต่อกิโลกรัม
"ความสำเร็จ"จากการดำเนินงานของโครงการฯ นี้ คือ การให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ต่อยอดยกระดับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนแบบดั้งเดิมกลายเป็นเกษตรกรสมัยใหม่ รู้จักการดูแลสวนทุเรียนอย่างเป็นระบบเป็นขั้นตอน ตามหลักทฤษฎีใหม่ และปัจจุบันเริ่มต้นเข้าไปสู่เกษตรผู้ประกอบการ คือ รู้วิธีการพัฒนาแบบตลาดนำการผลิตทำทุเรียนให้เป็นที่ต้องการของผู้รับซื้อ รู้จักรวมกันซื้อปัจจัยการผลิต รวมกลุ่มกันขายผลผลิต เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองราคาและที่สำคัญได้รู้จักในการบริหารงานกลุ่มที่สามารถเชื่อมโยงกับแหล่งตลาดและเงินลงทุนได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าเป็นการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริ ที่ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมีภูมิคุ้มกัน เป็นการสอนให้ชาวบ้าน"รู้วิธีตกปลา มากกว่าเอาปลาไปให้" เป็นการพัฒนาที่มุ่งสู่ความยั่งยืนของประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งหมดทั้งมวลคือการขับเคลื่อนดำเนินการเป็นขั้นตอน โดย"ตั้งมั่น ยึดมั่น"ในแนวทางพระราชดำริ "รู้ รัก สามัคคี" และนำไปสู่การปฏิบัติอย่าง"เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา"สถาบันปิดทองหลังพระฯ ใช้เวลาขับเคลื่อนร่วมกับเกษตกร เพียงระยะเวลา 1 ปี "ความสำเร็จ"ที่เป็นรูปธรรม คือผลผลิตทุเรียนคุณภาพจาก 800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,571 กิโลกรัมต่อไร่ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ รวม 402.02ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยจากรายละ 60,000 บาทต่อปี เป็น 262,731 บาทต่อปี
ปัจจุบันสามจังหวัดชายแดนใตัมีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 1.35 แสนไร่ แบ่งเป็น จังหวัดยะลา ประมาณ 9.6 หมื่น ไร่ นราธิวาส 3 หมื่นไร่ และปัตตานี 8,000 ไร่ และมีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน 20 แห่ง เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างวิสาหกิจในการผลิตทุเรียน และรวมปริมาณผลผลิตที่มีปริมาณมากพอสำหรับการเจรจากับผู้รับซื้อ
ทุเรียนหมอนทองบาตามัส จึงเป็นดั่ง"ทองคำแห่งชายแดนใต้" ด้วยผลผลิตที่สร้างทั้งรายได้ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิต และพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืน แต่"คุณค่า"ที่มหาศาลยิ่งกว่า คือ"วิถีพหุวัฒนธรรม"ของเกษตรกรไทย-พุทธ และไทย-มุสลิม ที่หล่อหลอมแน่นแฟ้นกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวในเป้าหมายเพื่อร่วมพัฒนา"ทุเรียนท้องถิ่น"ให้เป็นสินค้าคุณภาพสูง เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทัดเทียมเช่นเดียวกันกับทุเรียนจากภูมิภาคอื่น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี