ไทยป่วยโควิดขยับ
สายพันธุ์XBB.1.9.2 มากสุด
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แจงสายพันธุ์โควิดที่ระบาดในไทย เป็น XBB.1.9.2* สัดส่วนมากที่สุด 24.5% ปัดข่าว เตือนรับมือระบาดระลอกใหม่จากสายพันธุ์ XBB.1.16*“อาร์คตูรุส”ไม่จริง ชี้แนวโน้น“อาร์คตูรุส”ระบาดลดลง โดยอาการหลัก 90%มีไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เสมหะ ปวดเมื่อย ไม่พบลักษณะอาการตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล
เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงถึงสถานการณ์การเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด - 19 และสายพันธุ์ที่เฝ้าติดตามในประเทศไทยว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ร่วมกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการ ติดตามการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์เชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม-2 ธันวาคม 2566 จากการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 253 ราย พบสายพันธุ์ XBB.1.9.2* มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 24.5% ถัดมาคือ EG.5* , XBB.1.16* และ XBB.2.3 โดยพบสัดส่วน 23.3%, 17.80% และ 11.90% ตามลำดับ
ทั้งนี้ สถานการณ์โดยรวมของไทยปัจจุบัน พบสัดส่วนสายพันธุ์ EG.5* และ XBB.1.92* มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนสายพันธุ์ XBB.1.16* กับ XBB.2.3* มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่ผ่านมา
นายแพทย์ยงยศยังกล่าวถึงกรณีมีการแชร์และส่งต่อข้อมูลในโซเชียลมีเดีย เตือนให้เตรียมพร้อมรับมือโควิดระลอกใหม่สายพันธุ์ XBB.1.16* หรือ “อาร์คตูรุส” อาการใหม่ ไม่มีไข้ ตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหลนั้น จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลสายพันธุ์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายนพบเป็น สายพันธุ์ XBB.1.16* จำนวน 83 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.4 จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อมูลลักษณะอาการทางคลินิกจากประวัติที่ผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB.1.16* พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 มีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก เสมหะ ปวดเมื่อย บางรายประมาณร้อยละ 10 มีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อย/หอบร่วมด้วย ไม่พบลักษณะอาการตาแดง มีผื่นขึ้น หรือน้ำมูกไหล
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อระยะนี้ มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อย เนื่องจากเข้าฤดูหนาว จะพบผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น การสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆยังเป็นมาตรการการป้องกันที่ได้ผลดี
นพ.ยงยศ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เก็บตัวอย่างจากผู้ป่วยโควิดทั่วประเทศ มาตรวจสายพันธุ์ เพื่อเฝ้าระวัง การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไป ขอให้ความมั่นใจว่ากรมฯและเครือข่ายยังเฝ้าระวังติดตาม การกลายพันธุ์ของเชื้อ SARS-CoV-2 อย่างต่อเนื่อง และเผยแพร่บนฐานข้อมูลสากล GISAID สม่ำเสมอ
ด้านศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กCenter for Medical Genomicsว่าทีมที่ปรึกษาด้านเทคนิคขององค์การอนามัยโลก (WHO) (WHO Technical Advisory Group on COVID-19 Vaccine Composition หรือ TAG-CO-VAC)เสนอว่าองค์ประกอบของวัคซีนที่ใช้ป้องกันโควิดระหว่างปี 2566-2567 ควรใช้ต้นแบบหรือหัวเชื้อเป็นโอมิครอน XBB.1.5 เพียงสายพันธุ์เดียว (โมโนวาเลนต์) เพราะสามารถสร้างแอนติบอดีที่เข้าจับและทำลายอนุภาคไวรัสทั้งกลุ่มสายพันธุ์โควิดที่หลากหลายทั้ง XBB* รวมถึง EG.5, HK.3, HV.1 และกลุ่มสายพันธุ์ BA.2.86* เช่น JN.1 และ XDD (broad spectrum antibodies)ได้ดี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี